xs
xsm
sm
md
lg

บทบรรยายสรุป (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

ในบทส่งท้าย ของข้อเขียนชุดนี้ของผม ซึ่งกล่าวถึง วิสัยทัศน์เพื่อป้องกันการล่มสลายของสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ อันเนื่องมาจากหายนภัยจากภาวะโลกร้อน ผมจะขอบรรยายสรุปใจความหลักๆ ของข้อเขียนชุดนี้ รวมทั้งรวบรวม แนวทางเชิงปฏิบัติ และนโยบายต่างๆ ที่ผมได้นำเสนอมาทั้งหมดในงานเขียนชิ้นนี้ มาสรุปสั้นๆ อีกครั้งในที่นี้ เพื่อความสะดวกในการที่จะนำไปศึกษา และต่อยอดองค์ความรู้สืบต่อไป

กรอบแห่งวิชันหรือวิสัยทัศน์ที่ผมใช้ในการนำเสนอข้อเขียนชุดนี้ ผมประยุกต์มาจากกรอบการวิเคราะห์ของ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ ในหนังสือ “ความมั่งคั่งปฏิวัติ” ของเขาที่ใช้การวิเคราะห์ ปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก อันได้แก่ เวลา พื้นที่ และความรู้ มาเป็นตัวกำหนดวิชัน แต่ตัวผมได้เพิ่มปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกอีก 2 ปัจจัยเข้าไปในการกำหนดวิชันของผม อันได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และระดับจิตของผู้คน โดยในเรื่องเวลา ผมให้ความสนใจกับปัญหาที่ทอฟฟ์เลอร์เรียกว่า ปัญหาการไม่เข้าจังหวะ เพราะผมก็เห็นเช่นเดียวกับทอฟฟ์เลอร์ว่า บทบาทของการเข้าจังหวะในการผลิต และในการสร้างความมั่งคั่ง มีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน จากนั้นผมได้นำเสนอว่า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า คือ ระบบการผลิตแบบเข้าจังหวะที่พัฒนาที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งพวกเราทุกคนควรให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำมาใช้พัฒนาหน่วยงาน หรือองค์กรของตนให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

จากนั้นผมได้กล่าวถึงอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ และโยงไปถึงวิชันที่บ่งชี้ว่า โลกของเรากำลังมุ่งไปสู่ยุคหลังน้ำมัน ผมได้อธิบายอย่างละเอียดว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลได้เข้ามาเป็นรากฐานแห่งอารยธรรมของพวกเราได้อย่างไร แล้วชี้ให้เห็นว่า การผลิตน้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะมาถึงขีดสุดอยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่า ราคาน้ำมันจะแพงขึ้นๆ อย่างถาวร และระบบต่างๆ ของสังคมจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากราคาที่แพงขึ้นของน้ำมันในแทบทุกด้าน

เพราะฉะนั้น วิชันของพวกเรานับจากนี้ไป จะต้องคำนึงถึงความไม่มั่นคงด้านพลังงาน และภาวะโลกร้อน หรือภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงควบคู่กันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สถานการณ์ที่ชาวโลกจะต้องเจอในอนาคตอันใกล้นี้ คือ ปัญหาทรัพยากรน้ำมันของโลกร่อยหรอ ทับซ้อนกับปัญหาการขับเคลื่อนระบอบเศรษฐกิจออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำลายสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน เพื่อกอบกู้โลกจากภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ ผมยังได้ย้ำในวิชันของพวกเราอีกว่า นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป สภาพภูมิอากาศอันเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกในวิชันของผม กำลังจะกลายเป็นปัจจัยที่ชี้ชะตาอารยธรรมของพวกเราอย่างคาดไม่ถึงมาก่อน เพราะภูมิอากาศสามารถสร้างภัยพิบัติต่างๆ นานามาทำให้อารยธรรมของพวกเราล่มสลายลงได้ เพราะวิกฤตจากภาวะโลกร้อน จะทำให้ยุคข้างหน้าเป็นยุคสมัยของความขาดแคลนอาหารและน้ำในระดับโลก

พวกเราควรมีองค์ความรู้เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันว่า จะเกิดหายนภัยอะไรบ้าง เมื่อโลกร้อนขึ้นทีละองศา ตั้งแต่หนึ่งองศาไปจนถึงหกองศา โดยผมได้แนะนำเนื้อหาจากหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” ของ มาร์ก ไลนัส ในข้อเขียนชุดนี้ของผมทีละองศาอย่างละเอียด เพื่อให้พวกเรามี “ภาพรวมเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้าของโลกใบนี้” ร่วมกัน และเป็นภาพรวมที่สังเคราะห์มาจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ทำการสร้างแบบจำลองเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนขึ้นมาทั้งสิ้น

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในสายตาของผม วิชันเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้ที่น่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบัน คือ วิชันที่นำเสนอจากมุมมองของ “ภาวะโลกร้อน” หรือจากมุมมองของการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกอย่างสภาพภูมิอากาศ และเวลาที่น้ำจะหมดโลกอีกภายในสามสิบปีข้างหน้า

ผมได้ย้ำว่า วิธีคิดของรัฐบาลส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ยอมรับในโลกที่ร้อนขึ้นกว่าเดิมอีก 2 หรือ 3 องศาได้ในปี ค.ศ. 2100 เป็นวิธีคิดที่อันตรายและสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะในความเป็นจริง จุดจบของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม จะต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เมื่อโลกร้อนขึ้นกว่าเดิม 3 องศา มันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าหากรัฐบาลทั่วโลก และผู้คนส่วนใหญ่ยังคงงอมืองอเท้า ไม่ยอมทำอะไรอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งๆ ที่ก็เห็นอยู่แล้วว่า มันจะเกิดขึ้นแน่ๆ ในอนาคตเพียงแค่เพราะเหตุผลที่ว่า เหตุการณ์ที่มันจะเกิดยังอยู่ห่างไกลถึงอีก 2-3 ชั่วคนข้างหน้า

จากนั้น ผมได้นำเสนอเนื้อหาของหนังสือ “ล่มสลาย” ของจาเร็ด ไดมอนด์ อย่างละเอียด เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความล่มสลายของอารยธรรมต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้พวกเราได้ตระหนักร่วมกันว่า ปัจจุบันพวกเรากำลังเดินไปตามเส้นทางล่มสลาย เช่นเดียวกับบรรดาอารยธรรมต่างๆ ในอดีตที่ล่มสลายไปแล้ว เพื่อที่พวกเราจะได้ตื่นตัวขึ้นมา และมี “จิตสำนึกแห่งทางเลือก” เพื่อลุกขึ้นมาร่วมมือทำอะไรบางอย่างตั้งแต่บัดนี้เพื่อพิทักษ์โลกใบนี้ของเราไว้ และเพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤตแห่งการล่มสลายเช่นนั้นอีกในอนาคตอันใกล้

ทำไมผมถึงได้เสนอให้วิชันการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นทั้งพันธกิจ และวิชันที่ทำสำคัญยิ่งนับจากนี้เป็นต้นไป? เพราะวิชันควรเป็นสิ่งที่ออกมาจากแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่พวกเราจะจินตนาการได้ และเงื่อนไขแห่งวิวัฒนาการที่แท้จริงนั้น มาจากการเสพวิชันที่ใหญ่ขึ้นของมวลมหาประชาชน เพื่อให้เกิดสติปัญญาที่แก่กล้ากว่าเดิมแบบรวมหมู่ขึ้นมาได้

หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา เราก็ต้องมีวิชันที่ใหญ่เท่ากับโลกของเรา จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศของเราได้ เหมือนอย่างที่ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของเรา เราต้องมีวิชันที่ใหญ่เท่ากับประเทศของเรา จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของเราได้ เพราะฉะนั้น การที่ผมเสนอให้มีวิชันการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นวิชันในระดับโลก ก็เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศของเรานั่นเอง

มันเป็นเรื่องแปลกแต่จริงของโลกใบนี้ ที่สังคมแห่งหนึ่งทั้งในอดีต และในปัจจุบันได้ตัดสินใจกระทำสิ่งที่ “งี่เง่า” ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นความหายนะรออยู่เบื้องหน้า โดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ฐานทรัพยากรของสังคมของพวกตนกำลังเสื่อมโทรมลงทุกขณะ แต่สมาชิกหรือผู้บริหารในสังคมก็ยังปล่อยให้ตัวเองล่มสลายลงไปพร้อมๆ กับความล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรของตนเอง สิ่งนี้เป็น ความล้มเหลวจากการตัดสินใจของกลุ่ม ที่เกิดขึ้นโดยสังคมนั้นๆ เอง และเป็นที่มาของ “โศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ” บริบทของปัญหาสิ่งแวดล้อมในโลกยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ล้วนมีที่มาจากความล้มเหลวของการตัดสินใจรวมหมู่เป็นหลัก มิหนำซ้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ทำให้หนทางการแก้ปัญหามีความยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าหากปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยการตัดสินใจเลือกทางเดินของเราเอง ในวิชันของผม มันก็จะถูกทำให้ยุติลงในลักษณะที่ไม่น่าพึงปรารถนา และไม่ใช่สิ่งที่เราเลือก เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า นอกจากจะเกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนแล้ว มันคงจะเกิดสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความอดอยากขาดแคลนอาหาร โรคระบาด และการล่มสลายในทุกด้านของสังคมต่างๆ ทั่วโลก ในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้านี้

แต่อุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่กีดขวาง ขัดขวาง “การเลือก” ที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก คือ ชุดข้อโต้แย้ง หรือชุดวาทกรรมต่างๆ ที่ถูกพวกนักการเมือง พวกข้าราชการ พวกนักธุรกิจ และพวกนักวิชาการ ยกขึ้นมาย้อนแย้งด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เพียงเพื่อที่จะละเลยความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อที่จะชะลอการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมออกไปเรื่อยๆ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่พวกเราจะต้องเปิด “ศึกวาทกรรม” เพื่อถอดรื้อหักล้างชุดข้อโต้แย้ง หรือชุดวาทกรรมเหล่านี้เสียก่อน จึงจะสามารถลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในการเข้าไปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างเป็นองค์รวม และอย่างบูรณาการได้

ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยนั้น จะว่าไปแล้วก็แยกไม่ออกจากปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ไม่สมดุล ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเมืองกับชนบท เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ขณะเดียวกัน ก็เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ มลพิษจากอุตสาหกรรม และความเสื่อมโทรมของเมืองอันเนื่องมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

ชุดนโยบายต่างๆ ที่นำเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงชุดนโยบายตัวอย่างที่ผมคิดว่าน่าจะผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้

(1) สนับสนุนให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้ โดยผ่านการผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน

(2) การทำป่าชุมชนจะต้องไม่ทำให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ลดลง การจัดการป่าแบบชุมชนจะยอมรับได้ก็เฉพาะกรณีที่เป็นการจัดการใช้ประโยชน์ และอนุรักษ์พื้นที่ป่าเท่านั้น จะนำไปรวมกับการจัดที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยของชาวบ้านไม่ได้เป็นอันขาด (แนวคิดป่าชุมชนแบบบูรณาการ)

(3) ส่งเสริมการพัฒนาเมืองแต่ละเมืองอย่างยั่งยืน โดยมุ่งสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับธรรมชาติ และเมืองกับชนบทเสียใหม่ ให้มีลักษณะปรองดอง และกลมกลืนกับธรรมชาติยิ่งขึ้น (แนวทางแบบบูรณาการในการพัฒนาเมืองแต่ละเมือง)

(4) เมืองแต่ละเมืองจึงต้องสนใจทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง นี่เป็นรูปธรรมที่สุดในการบูรณาเมืองกับชนบท เพื่อผสมผสานจุดเด่นที่ให้ประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน

(5) ผลักดัน การสร้าง สวนป่าธรรมชาติ ในเมือง โดยการทำให้เมืองเป็นทั้งสวนและป่าธรรมชาติไปในตัว โดยต้องมุ่งทำให้ร้อยละ 50 ของพื้นที่ในเมืองแต่ละเมืองเป็นพื้นที่สีเขียว ราวกับเป็น เมืองที่ล้อมด้วยป่า

(6) มียุทธศาสตร์ในการบำรุงรักษาดินทั่วทั้งประเทศอย่างบูรณาการ โดยหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ปุ๋ยหมัก มูลสัตว์ การปลูกพืชหมุนเวียน การทำเกษตรแบบผสมผสาน และเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น

(7) ประเทศไทยจะต้องพลิกตัวจากการทำเกษตรกรรมแบบธรรมดาเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น

(8) หันมาใช้ “องค์ความรู้เรื่องโลกร้อน” เพื่อปรับยุทธศาสตร์การจัดการเกษตรกรรมของประเทศทั้งระบบอย่างบูรณาการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

(9) ใส่ใจต่อผลกระทบจากโลกร้อนต่อดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็น “ชามข้าว” ของประเทศอย่างให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

(10) ผลักดันระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ให้เป็นทางรอดของประเทศไทยในยุคโลกร้อน

(11) ผลักดันการสร้าง เขื่อนเขียว (เขื่อนสลายกำลังคลื่น) รอบบริเวณอ่าวไทย ตอนบนเพื่อป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

(12) ผลักดันยุทธศาสตร์การสร้างปะการังเทียมรอบบริเวณฝั่งอ่าวไทย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ “ทะเลกรด” หากโลกร้อนขึ้น 2 องศาในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เพื่อรักษาความมั่นคงของแหล่งอาหารทะเลของประเทศ

(13) ผลักดันการเก็บเกี่ยวน้ำฝน โดยการขุดสระน้ำ และโครงการแก้มลิงเล็กขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วทั้งประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง และปัญหาน้ำท่วมไปพร้อมๆ กัน

www.suvinai-dragon.com
กำลังโหลดความคิดเห็น