xs
xsm
sm
md
lg

ดินไหวพม่าตายพุ่ง150ศพโพลจี้รัฐบาลไทยตื่นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน/ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สื่อพม่าเผยยอดตายแผ่นดินไหวทะลุ 150 คน ส่วน รมต.พม่าลงพื้นที่บอกตายแค่ 73 “มาร์ค” สั่งจับตาตึกภาคเหนือเสี่ยง! ปภ.ชงแผนรับมือแผ่นดินไหว “ตุลาคม” นี้ โพลชี้คนไทยส่วนใหญ่ติดตามข่าว จี้รัฐบาลตระหนักมากกว่านี้ ด้านกรมศิลป์เตรียมบูรณะใหญ่ โบราณสถานเก่าเมืองเชียงแสน

วานนี้ (27 มี.ค) สำนักข่าวอิรวดี ของพม่า รายงานคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่หน่วยกาชาดเมือง ท่าขี้เหล็ก ในรัฐ ฉาน ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวแรง 6.8 ริกเตอร์ โดยระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวล่าสุดเพิ่มสูงกว่า 150 คนแล้ว ซึ่งสูงกว่ารายงานจากรัฐบาลพม่าที่ยืนยันยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 74 คน ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ยอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงพยายามขุดค้นหาผู้ถูกฝังใต้ซากอาคารบ้านเรือนที่พังถล่มอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความลำบากในการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัย เนื่องจากสะพานและถนนหนทางได้รับความเสียหาย ซึ่งในหลายเมืองพบว่ามีเจ้าหน้าที่กู้ภัยเพียงไม่กี่ทีมที่เดินทางไปถึง ขณะที่เจ้าหน้าที่ส่วนมากพบว่าไม่ได้รับการฝึกฝนและขาดประสบการณ์ อีกทั้งยังขาดแคลนเครื่องมือ และสุนัขดมกลิ่นเพื่อช่วยค้นหาผู้รอดชีวิต

**ภาคตะวันออกพม่ากระทบหนัก
 

ทางการพม่าระบุว่า บ้านเรือนประชาชน อาคารที่ทำการของรัฐได้รับความเสียหาย และประชาชนอีกหลายพันคนได้รับความเดือดร้อน“คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

เมืองท่าขี้เหล็ก (Tachileik) เมืองทาเล่ (Tarlay) และเมืองลิน ( Mong Lin) ในรัฐชานของพม่า ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากที่สุด

เจ้าหน้าที่กาชาดในเมืองท่าขี้เหล็กกล่าวว่า มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 150 คน แต่ทางการพม่ากล่าวว่ายังไม่มีการยืนยันยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่วันศุกร์ที่จำนวน 74 คน และผู้หญิงอีก 1 คนที่เสียชีวิตในไทย

องค์กรการกุศลเวิลด์วิชัน (ศุภนิมิต) เชื่อว่ามีประชาชนประมาณ 15,000 คนได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือความต้องการน้ำ ที่เป็นความท้าทายอย่างเร่งด่วนนอกเหนือไปจากที่พักชั่วคราว ขณะเดียวชาวต่างชาติก็ถูกจำกัดการเข้าไปในพื้นที่ และรัฐบาลทหารไม่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลมากนัก

**รมต.พม่า ยังบอกตายแค่ 73
 

ทั้งนี้ ทีวีพม่าทั้งท้องถิ่น และส่วนกลาง ได้แพร่ภาพนายหม่องหม่อง ส่วย รมว.สวัสดิการสังคม การบรรเทาทุกข์ และการตั้งถิ่นฐาน พร้อมด้วยคณะนายทหาร เดินทางโดยเครื่องบินไปยังเมืองท่าขี้เหล็ก และเมืองเจียงตุง ไปเยี่ยมราษฎรพม่าที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว โดยทางราชการได้ระดมเจ้าหน้าที่ทหารช่วยเก็บซากหักปรักพังของบ้านเรือน อาคาร วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการหลายแห่ง การเดินทางของคณะได้นำข้าวสาร อาหารแห้ง ภาชนะ เครื่องครัวต่างๆ ยาเวชภัณฑ์ รวมทั้งเครื่องนุ่งห่ม ไปมอบให้ประชาชนทุกพื้นที่ และยังมีการระดมแพทย์ และพยาบาล ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บที่นอนอยู่นอกอาคาร
 

นอกจากนี้คณะยังได้ไปดูสภาพบ้านเรือน ถนน โรงเรียน ที่ได้รับความเสียหาย จากแผ่นดินไหวด้วย โดยทางการพม่าได้ตั้งศูนย์บรรเทาทุกข์ และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว และจัดเต้นท์ชั่วคราวให้กับผู้ไร้ที่อยู่อาศัยแล้ว

อย่างไรก็ดีทางการพม่ายังยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวมีมากถึง 73 คน และได้รับบาดเจ็บ 123 คน

**ไหว 2 ครั้งในหมู่เกาะฟิจิ
 

รายงานยังแจ้งว่า ได้เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 6.4 และ 5.9 ริกเตอร์ นอกแหลมอูดูซึ่งอยู่เหนือสุดของหมู่เกาะฟิจิในช่วงเช้าวันที่ 27 มี.ค. แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงความเสียหายของอาคารบ้านเรือน

กรมอุตุนิยมวิทยาฟิจิรายงานว่า แผ่นดินไหว 6.4 ริกเตอร์ เกิดขึ้นเมื่อเวลา 10:49 น.ตามเวลาท้องถิ่นฟิจิ โดยมีจุดศูนย์กลางลึกลงไปในทะเล 160 กิโลเมตร ขณะที่แผ่นดินไหวครั้งที่สองที่มีความรุนแรง 5.9 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางลึกลงไปใต้ทะเลเพียง 13.4 กิโลเมตร

รายงานระบุว่าแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้นานประมาณ 5 วินาที ในหมู่บ้านอูราตาในเขตซาวูซาวู รวมถึงในชุมชนบาโซกาและโวโลกาในเขตลัมบาซา ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

**"มาร์ค" สั่งจับตาตึกภาคเหนือเสี่ยง!
 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทำการสำรวจอาคาร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีความเสี่ยง ก็ได้มีการสำรวจอยู่แล้วว่ารอยเลื่อนต่างๆ อยู่ตรงไหน อย่างไร และมีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นโซนอยู่แล้วในประเทศไทย ว่าระดับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ จังหวัดไหนอยู่ในโซนไหน อย่างไร ฉะนั้น โซนที่รุนแรงที่สุดอย่างเช่น ในภาคเหนือ ตรงที่มีรอยเลื่อน เราก็จะให้มีการไปดูเรื่องของอาคาร เพราะว่าอาคารใหม่จะไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะมีกฎกระทรวงที่ให้มีการปรับปรุงตามลำดับ แต่ที่จะให้ไปสำรวจคืออาคารเก่า และจะดูว่าสามารถเสริมความแข็งแรงได้อย่างไร หรือจะให้คำแนะนำกับประชาชนให้ทราบว่าเวลาเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องทำอย่างไร

**ชงแผนรับแผ่นดินไหวตุลาคมนี้
 

นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. กล่าวในงานเสวนาของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตอนหนึ่งว่า ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ปภ.พยายามจัดทำแผนแม่บทแบบบูรณาการกับหน่วยงานเครือข่ายกว่า 50 หน่วยงาน เพื่อสร้างแผนที่ความเสี่ยงรองรับภัยพิบัติล่วงหน้าทั้ง อุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม แผนแม่บทในการป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิ ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี และมีผลนำไปใช้งานในระดับภูมิภาคแล้ว

“ขณะนี้ ปภ.อยู่ระหว่างทำแผนแม่บทการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหว ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จ พร้อมเสนอเข้ามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อเป็นแผนปฏิบัติระดับชาติในด้านการวางแผนก่อสร้างและบำรุงอาคารที่พักอาศัยที่ไม่แข็งแรงต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักนโยบาย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าว

นอกจากนี้ ปภ.ยังมีโครงการประเมินความเสี่ยงภัยในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ โดยเน้นประเมินความเสี่ยงในด้านความแข็งแรงของอาคารว่า มีความล่อแหลมหรือความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติอย่างไรบ้าง เพื่อวางแผนรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ และผลักดันให้เกิดหลักสูตรการเรียนการสอนออกแบบโครงสร้างอาคารบ้านเรือนที่รองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว

**โพลชี้ส่วนใหญ่สนใจข่าวดินไหว
 

วันเดียวกัน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กรณี “ประเทศไทย” กับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่พม่า และส่งผลมาถึงพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะเชียงราย-กรุงเทพฯ ทำให้ประชาชนสนใจที่จะติดตามข่าวสารที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 51.76 สนใจที่จะติดตามข่าวสารมากขึ้น เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้กับประเทศไทย และทำให้ในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน, ในระยะหลังมานี้โลกประสบกับภัยพิบัติต่างๆ บ่อยมากขึ้น ฯลฯ แต่ร้อยละ 7.53 ไม่ค่อยสนใจ เพราะภัยธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้ ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป ฯลฯ และร้อยละ 1.77 ไม่สนใจ เพราะไม่รู้สึกกลัว, อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดภัยธรรมชาติไม่สามารถควบคุมได้ ฯลฯ

**คนไทยไม่แตกตื่นแผ่นดินไหว
 

ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่พม่า ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลหรือรู้สึกเครียดมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 42.86 ไม่ค่อยวิตกกังวลหรือเครียดมากนัก เพราะควรมีสติ อย่าเครียดหรือวิตกกังวลจนเกินไป ควรเตรียมตัวเองให้พร้อมจะดีกว่า ฯลฯ ร้อยละ 31.75 ค่อนข้างวิตกกังวลและเครียด เพราะประเทศไทยยังไม่เคยเจอกับเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน ฯลฯ อันดับ 3 ร้อยละ 16.93 ไม่วิตกกังวลและไม่เครียด เพราะยังดำเนินชีวิตตามปกติ ติดตามข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่ตื่นตระหนกตามข่าว ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 8.46 วิตกกังวลและเครียดมาก เพราะจากข่าวที่นำเสนอจะเห็นได้ว่ามีหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน, ประเทศไทยยังไม่มีการเตรียมพร้อม หรือรับมือกับภัยพิบัติร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้, เป็นห่วงคนในครอบครัว กลัวตาย ฯลฯ
ทั้งนี้กรณีหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นในประเทศไทย ประชาชนเองมีแนวทางหรือการป้องกันตัวเองอย่างไร ร้อยละ 40.46 เห็นว่า ควรมีสติ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

**จี้รัฐบาลตระหนัก-ให้ความสำคัญ
 

นอกจากนี้ยังอยากเห็น “รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ในการกำกับดูแลป้องกันเรื่องภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ร้อยละ 52.41 เห็นว่า รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องภัยพิบัติอย่างจริงจัง / มีการเรียกประชุมหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องมารับฟังและวางแผน ร้อยละ 24.50 เห็นว่า จะต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ตามข้อเท็จจริง ไม่ปกปิดประชาชน / มีการแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็ว ร้อยละ 12.27 เห็นว่าควรดูแล ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง อาคาร บ้านเรือนต่างๆ โดยเฉพาะสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม และโรงงานต่างๆ และร้อยละ 10.82 เห็นว่าอย่ามัวแต่ทะเลาะกันหรือสนใจเฉพาะเรื่องการเมืองมากเกินไป

**วัฒนธรรมตั้ง กก.ดูผลกระทบ
 

วันเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒนธรรม นำคณะจากกรมศิลปากร ไปตรวจสภาพความเสียหายพื้นที่หลายแห่งเช่น ที่วัดพระธาตุเจดีย์หลวงในเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน วัดพระธาตุจอมกิตติ และวัดพระธาตุปูเข้าในเขต ต.เวียง ซึ่งพบว่าแต่ละแห่งได้รับความเสียหายแตกต่างกันไป

นายนิพิฏฐ์ กล่างว่า การบูรณะคงไม่ได้อยู่ที่การใช้งบประมาณเข้าไปซ่อมแซมบูรณะแล้วจะได้ผลเลยทีเดียว แต่จะต้องวางแผนด้วยวิศกรรมอย่างละเอียด โดยมีกระบวนการวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถคงทนอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการตามแนวทางนี้ รวมทั้งยังให้หน่วยงานสังกัดกรมศิลปากรทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้ทำการสำรวจโบราณสถานในเขตรับผิดชอบ เพื่อให้เฝ้าระวังโดยเฉพาะกรณีที่เสี่ยงต่อการเสียหายได้ง่ายเหมือนที่ อ.เชียงแสน

ทั้งนี้ นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและวางแผนรองรับผลกระทบที่จะมีต่อโบราณสถานอันมาจากภัยธรรมชาติต่างๆ ทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม ฯลฯ เพื่อจัดลำดับพื้นที่ความเสี่ยงสำหรับการบูรณะและดูแลในระยะยาวด้วย

ขณะที่ นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักโบราณคดีจากกรมศิลปากร กล่าวว่า โบราณสถานที่ อ.เชียงแสน ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้มากกว่าเหตุแผ่นไหวเมื่อเดือน พ.ค.2550 สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะมีอายุที่เก่าแก่มาก ดังนั้น จึงจะมีการใช้หลักวิศวกรรมมากกว่าการบูรณะตามปกติ เพื่อดูแลความคงทนให้มากที่สุดต่อไป

**วอนกรมศิลป์บูรณะพระเจ้าตนหลวง
 

พระศรีสุทธิเวที รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยาและผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา เปิดเผยว่า ตามที่พบว่ามีรอยร้าวบางแห่งที่ศอกด้านขวาของพระเจ้าตนหลวงองค์พระประธานของวัดศรีโคมคำ

เบื้องต้นทางพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (หลวงพ่อใหญ่) เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) เพื่อร้องขอให้มีการประสานงานไปยังกรมศิลปากร จัดส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจและดำเนินการซ่อมแซมหรือบูรณะองค์พระเจ้าตนหลวงตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้มีข่าวว่าองค์พระประธานมีรอยร้าวบางแห่งปรากฏว่า ได้มีผู้ใจบุญที่กรุงเทพฯ แสดงความจำนงขอเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการซ่อมบำรุง หรือบูรณะองค์พระเจ้าตนหลวง ทางวัดจึงต้องร้องขอความร่วมมือจากกรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้รู้ด้านการบูรณะโบราณสถานโบราณวัตถุ ดำเนินการสำรวจและประมาณการอย่างถูกต้องต่อไป

ขณะที่หอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดพะเยา ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจรอยร้าวที่เกิดขึ้นกับองค์พระเจ้าตนหลวงที่พบหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเรียบร้อยแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น