xs
xsm
sm
md
lg

กัดดาฟีปลุกชาติมุสลิมทำสงครามสู้ตะวันตก ลั่น"ชนะแน่"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ออกโรงปลุกระดมพวกพ้องผ่านสื่อโทรทัศน์ของประเทศ ท้าทายชาติตะวันตกว่า ลิเบียพร้อมจะสู้รบด้วยและมั่นใจว่าจะชนะศึกครั้งนี้ ท่ามกลางการโจมตีของฝ่ายตะวันตกเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่ผู้บัญชาการทหารระดับสูงรายหนึ่งของสหรัฐฯ ออกมาส่งสัญญาณว่า การโจมตีขั้นถัดไปของกองกำลังแนวร่วมตะวันตกจะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายรถถังของกัดดาฟีซึ่งเป็นอาวุธหนักคร่าชีวิตพลเรือนในเวลานี้และเป็นขวากหนามสำคัญที่คอยสกัดกั้นการรุกคืบของฝ่ายกบฏ

กัดดาฟี กล่าวปราศัยต่อบรรดาผู้สนับสนุนเขา ภายในเขตที่พำนักส่วนตัว ณ บาบ อัล-อาซีซียะห์ ในกรุงตริโปลี เมื่อคืนวันอังคาร (22) ซึ่งถือเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกของกัดดาฟีในรอบหนึ่งสัปดาห์ โดยเขาได้กล่าวปลุกระดมให้มวลชนลุกขึ้นต่อต้านชาติตะวันตก พร้อมเรียกร้องให้กองทัพมุสลิมจากทั่วโลก ออกมาต่อสู้เคียงข้างลิเบีย โดยกัดดาฟีประกาศเชื่อมั่นว่า ลิเบียจะสามารถเอาชนะศัตรูได้ในท้ายที่สุด

“เราจะไม่ยอมแพ้... เราจะเอาชนะพวกมันด้วยทุกวิธีการ... เราพร้อมแล้วที่จะต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นศึกระยะสั้นหรือระยะยาว... เราจะได้ชัยชนะในบั้นปลาย” เขากล่าวปลุกระดมโดยที่มีการแพร่ภาพสดผ่านทางโทรทัศน์ทางการลิเบียด้วย

“การโจมตีครั้งนี้... เป็นฝีมือของพวกฟาสซิสต์ซึ่งจะมีจุดจบในถังขยะของประวัติศาสตร์” กัดดาฟี ตะโกนลั่น ตามมาด้วยเสียงพลุซึ่งดังขึ้นเหนือกรุงตริโปลี ขณะที่ฝูงชนเบื้องล่างส่งเสียงเชียร์กึกก้อง โดยผู้สนับสนุนบางคนยิงปืนขึ้นฟ้า

ทั้งนี้รัฐบาลลิเบียปฏิเสธยืนกรานว่า กองทัพของตนไม่ได้ปฏิบัติการเชิงรุก เพียงแต่ต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเองในยามที่พวกเขาถูกโจมตีเท่านั้น อย่างไรก็ตามฝ่ายกบฏและชาวบ้านระบุว่า รถถังของกัดดาฟียังคงกระหน่ำยิงโจมตีเมืองมิสราตา ทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไป 40 รายในวันจันทร์เพียงวันเดียว นอกจากนี้กัดดาฟียังได้โจมตีใส่เมืองซินตัน เมืองเล็กๆ ซึ่งติดกับพรมแดนตูนิเซียอีกด้วย

รายงานข่าวล่าสุดระบุด้วยว่า เมืองมิสราตา ซึ่งถูกปิดล้อมโดยกองกำลังสวามิภักดิ์กัดดาฟีเป็นเวลานานกว่าหลายสัปดาห์นั้นกำลังเผชิญกับภาวะสิ้นหวังมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อระบบน้ำประปาถูกตัดขาด ขณะที่อาหารก็กำลังร่อยหรอลง ส่วนโรงพยาบาลในเมืองตอนนี้ก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เมื่อบรรดาหมอไม่สามารถดูแลคนไข้ได้ทั่วถึง หลังจากผู้บาดเจ็บมีจำนวนมากเกินกว่าที่โรงพยาบาลจะรองรับได้

“สถานการณ์ในโรงพยาบาลท้องถิ่นอยู่ในขั้นหายนะ” นายแพทย์คนหนึ่งในมิสราตากล่าวแถลง “คณะแพทย์และทีมรักษาพยาบาลต่างก็เหนื่อยล้า โดยที่ผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลได้เนื่องจากมีรถถังและพลแม่นปืนคอยโจมตีอยู่”

นอกจากนี้ความพยายามในการรุกคืบของฝ่ายกบฏอีกกลุ่มหนึ่งในเขตภาคตะวันออกก็มีอันต้องยังหยุดชะงักลงบริเวณนอกเมืองอัจดาบิยะห์ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ สืบเนื่องจากรถถังของกัดดาฟีที่ยังหลงเหลืออยู่คอยดักซุ่มอยู่ตามทาง หลังจากรถถังและยานเกราะหลายคันของผู้นำลิเบียซึ่งพยายามจะเคลื่อนขบวนเข้าไปในเมืองเบงกาซีผ่านถนนสายหลัก ถูกบอมบ์ทางอากาศโดยเครื่องบินรบของฝรั่งเศสจนเหลือแต่ซากเมื่อคืนวันเสาร์ (19) ที่ผ่านมา

ในการนี้ พล.ร.ต. เพก เครน ผู้บัญชาการกองกำลังรบนอกประเทศ บนเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส เคียร์ซาร์จ ซึ่งเวลานี้ปฏิบัติการอยู่ในน่านน้ำทะเลเมดิเตอร์เนียนนอกชายฝั่งลิเบีย ก็ได้ออกมาบอกใบ้ว่า ขั้นตอนต่อไปถัดจากการโจมตีระบบป้องกันทางอากาศของกองกำลังกัดดาฟี อาจเล็งเป้าหมายไปที่รถถังเป็นสำคัญด้วย

“เมืองบางแห่งเหล่านั้นยังคงมีขบวนรถถังที่คอยมุ่งหน้าโจมตีพลเรือนลิเบียอยู่”

“พวกเราได้รับมอบอำนาจแล้ว และท่านประธานาธิบดี (สหรัฐฯ) ก็ได้เชื่อมโยงมติของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นกับสิ่งที่ท่านประธานาธิบดีพิจารณาแล้วว่าเป็นภารหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายในการโจมตีรถถังเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้นี่จึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่สำหรับเครื่องบินโจมตีของพวกเรา” เครน กล่าว

ช่วงเช้าวานนี้ (23) โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า กองกำลังฝ่ายตะวันตกนำโดยฝรั่งเศส, อังกฤษ และสหรัฐฯ ได้ระดมยิงจรวดโจมตีฐานที่มั่นของทหารกัดดาฟีเป็นระลอกที่ 4 ตลอดทั้งคืนวันอังคาร (22) โดยรอบนี้ส่วนหนึ่งได้เล็งเป้าหมายไปที่เขตพื้นที่ใกล้กับเมืองมิสราตา ทางตะวันออกของกรุงตริโปลี

นักข่าวภาคสนามของรอยเตอร์ ยังรายงานด้วยว่า ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นในกรุงตริโปลีอย่างน้อย 2 ครั้งก่อนรุ่งเช้าวานนี้ (23) นอกจากนี้ก็ยังได้ยินเสียงเครื่องบินบินเหนือเมืองหลวงแห่งนี้ ตามติดมาด้วยเสียงรัวเป็นชุดของปืนต่อสู้อากาศยาน

ทั้งนี้ เครื่องบินรบของกองกำลังแนวร่วมตะวันตกที่เข้าร่วมในปฏิบัติการบังคับเขตห้ามบินในน่านฟ้าลิเบีย ทั้งเครื่องบินขับไล่, เครื่องบินทิ้งระเบิด, เครื่องบินตรวจการณ์ ตลอดจนเครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน ได้ขึ้นบินรวมแล้วกว่า 300 เที่ยว เพื่อลาดตระเวนและโจมตีเป้าหมายข้าศึก โดยที่เพนตากอนระบุเมื่อวันอังคารว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องบินออกปฏิบัติการเหนือน่านฟ้าลิเบียในภารกิจต่างๆ รวมแล้ว 212 เที่ยว ขณะที่เครื่องบินของชาติแนวร่วมบินปฏิบัติการไป-กลับรวม 124 เที่ยว นอกจากนี้กองเรือรบและเรือดำน้ำก็ได้ระดมจรวดร่อนโทมาฮอว์กไปแล้วมากกว่า 162 ลูก

ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ ออกมาระบุว่า ชาติพันธมิตรที่ร่วมปฏิบัติการครั้งนี้จะสามารถประกาศสรุปผลความสำเร็จของเป้าหมายการบังคับเขตโนฟลายโซนในลิเบีย ได้ในเร็วๆ นี้ แต่กระนั้น โอบามาก็เตือนว่า กัดดาฟีซึ่งมีพิษสงรอบตัวจะเป็นภัยอันตรายต่อประชาชนลิเบียต่อไปตราบใดที่ผู้นำเผด็จการรายนี้ยังไม่ยอมก้าวลงจากอำนาจ

โอบามา ตอกย้ำชัดเจนด้วยว่า สหรัฐฯ จะยังคงให้การสนับสนุนปฏิบัติการแทรกแซงลิเบียนี้ต่อไป ด้วยเจตนารมณ์ในการปกป้องชีวิตพลเรือนลิเบีย ทว่าวอชิงตันจะไม่ดำเนินบทบาทเป็นผู้นำในปฏิบัติการดังกล่าวอย่างแน่นอน

ทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดีโอบามา ได้ต่อสายตรงหารือกับประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษ เมื่อวันอังคาร (22) โดยที่พวกเขาต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ควรจะเป็นผู้รับบทบาทสำคัญในการบัญชาภารกิจบังคับเขตห้ามบินในลิเบียตามมติที่ 1973 ของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น

เจ้าหน้าที่อเมริกันหลายคนระบุว่า ก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสมีท่าทีคัดค้านการที่นาโตจะเข้ามารับบทบาทนี้ เนื่องด้วยหวั่นเกรงว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาติสมาชิกที่เป็นพวกอาหรับ ในขณะที่ตุรกีก็คัดค้านการที่แนวร่วมชาติตะวันตกแบกรับหน้าที่นี้เอง ด้วยเหตุผลที่ว่า การโจมตีทางอากาศใส่ลิเบียในช่วงที่ผ่านมานั้นได้ก้าวล้ำเส้นเกินกว่าอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติ แต่กระนั้นก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อคัดค้านของทั้งสองประเทศเวลานี้ได้รับการประนีประนอมจนเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายแล้ว

ส่วนนักการทูตประจำนาโต ก็ระบุว่า ตอนนี้ชาติสมาชิกกำลังอยู่ในขั้นวางแผนเกี่ยวกับโครงสร้างการบังคับบัญชาสำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การกำกับของกลไกการตัดสินใจระดับผู้นำทางการเมืองที่มาจากชาติสมาชิกนาโตซึ่งมีทั้งชาติตะวันตกและชาติอาหรับอย่าง ตุรกี

สำหรับด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายของปฏิบัติการบังคับเขตห้ามบินในน่านฟ้าลิเบียนี้ นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมหลายคนประเมินไว้ว่า หากสถานการณ์การสู้รบดำเนินยืดเยื้อเกินกว่า 2 เดือน อาจทำให้ชาติแนวร่วมต้องเสียเงินงบประมาณรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว โดยแซก คูเปอร์ นักวิเคราะห์ระดับอาวุโสแห่งศูนย์ประเมินทางยุทธศาสตร์และงบประมาณ (Center for Strategic and Budgetary Assessments) ประมาณการว่า ต้นทุนในปฏิบัติการทำลายระบบป้องกันทางอากาศของกัดดาฟีในช่วงเริ่มต้นที่ผ่านนี้น่าจะอยู่ที่ราวๆ 400 - 800 ล้านดอลลาร์แล้ว

เขาระบุเพิ่มเติมว่า ค่าใช้จ่ายในการลาดตระเวนเหนือเขตห้ามบินในน่านฟ้าลิเบียนับตั้งแต่ที่เริ่มประกาศบังคับใช้นั้น น่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 30-100 ล้านดอลลาร์ ต่อสัปดาห์

ทั้งนี้คูเปอร์ และทอดด์ แฮร์ริสัน เพื่อนร่วมงานของเขา ได้คิดคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อตารางไมล์ของเขตโนฟลายโซนที่เคยบังคับในบางประเทศมาก่อนหน้านี้ และนำมาประยุกต์กับสถานการณ์ในลิเบีย โดยค่าใช้จ่ายที่นำมาร่วมคิดคำนวณประกอบด้วยราคาของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้, ค่าเชื้อเพลิงที่เติมเครื่องบิน, ตลอดจนค่าบำรุงรักษา

คูเปอร์ ระบุด้วยว่า จรวดร่อนโทมาฮอว์กที่ทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษได้ยิงออกไปนั้นมีค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 200 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ค่าเสียหายจากกรณีที่เครื่องบินขับไล่เอฟ-15อี ของกองทัพสหรัฐฯ ประสบอุบัติเหตุตกเมื่อวันอังคาร (22) ก็เป็นต้นทุนที่ไม่ได้คาดคิดไว้ด้วย โดยคูเปอร์บอกว่า เพนตากอนไม่น่าที่จะสั่งซื้อเอฟ-15 ลำใหม่มาแทนลำที่ตกนี้ แต่อาจจะแทนที่ด้วยเครื่องบินขับไล่กึ่งโจมตีรุ่นใหม่ เอฟ-35 ที่สหรัฐฯ ร่วมวิจัยพัฒนากับชาติพันธมิตรในโครงการ “จอยต์ สไตรค์ ไฟต์เตอร์ (เจเอสเอฟ)” ซึ่งเอฟ-35 นี้มีต้นทุนโดยประมาณอยู่ที่ 100 - 150 ล้านดอลลาร์ต่อลำ

ขณะที่รัฐมนตรีคลังอังกฤษ จอร์จ ออสบอร์น บอกกับรัฐสภาในประเทศนั้นว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายของกองทัพอังกฤษในปฏิบัติการครั้งนี้จะอยู่ภายในหลักสิบล้านปอนด์เท่านั้น ไม่ใช่หลักร้อยล้านปอนด์

แต่กระนั้นก็ตาม ฟรานซิส ทูซา นักวิเคราะห์ก็ได้ส่งคำเตือนผ่านสถานีวิทยุบีบีซี 4 บอกว่า แม้แต่ค่าใช้จ่ายของกองทัพอังกฤษในปฏิบัติการที่อยู่ภายใต้ขอบเขตจำกัดแบบในลิเบียเช่นนี้ก็ยังอาจเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยระบุด้วยว่า การส่งเครื่องบินขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาได้ผลาญค่าใช้จ่ายไปแล้วประมาณ 200,000 ปอนด์ ต่อลำ

เขา กล่าวต่อไปว่า กองทัพอังกฤษได้ส่งเครื่องบินขับไล่ยูโรไฟต์เตอร์ แบบ ไต้ฝุ่น จำนวน 10 ลำ ขึ้นบินลาดตระเวนเหนือเขตห้ามบินในลิเบีย “ซึ่งคุณจะพบว่าเราอาจต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินราว 2-3 ล้านปอนด์ต่อวันเลยทีเดียว”

คลินตันเผย-สมุนกัดดาฟีติดต่อพันธมิตรทั่วโลกขอทางออก

รัฐมนตรีการต่างประเทศฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์เอบีซี นิวส์ ระบุว่า คนสนิทใกล้ชิดของกัดดาฟีได้พยายามติดต่อกับประเทศพันธมิตรของลิเบียทั่วโลกเพื่อสอบถามถึงหนทางที่จะแก้ไขความขัดแย้งนี้

“เราได้ยินเกี่ยวกับ... คนสนิทใกล้ชิดของเขา (กัดดาฟี) กำลังพยายามติดต่อกับผู้คนที่พวกเขารู้จักไปทั่วโลก อย่างแอฟริกา, ตะวันออกกลาง, ยุโรป, อเมริกาเหนือ หรือไกลกว่านั้น โดยสอบถามว่าเราควรทำอย่างไร? เราจะหลุดออกจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร?” คลินตัน เปิดเผย

คลินตัน กล่าวเสริมว่า “หากมีพวกฝ่ายค้านจริงในลิเบีย ที่พยายามจะแสดงสิทธิของพวกเขา พวกเราก็จะมอบโอกาสนั้นแก่พวกเขา ให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเมื่อตอนพวกเขาได้รับ ก่อนหน้าที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะมีมติออกมาเสียอีก”
กำลังโหลดความคิดเห็น