xs
xsm
sm
md
lg

ถล่มระลอก3 หลายชาติผสมโรงค้านขยี้ลิเบีย กัดดาฟีดิ้นสู้อีกเฮือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี / รอยเตอร์ - กองกำลังแนวร่วมชาติตะ วันตกเปิดการโจมตีที่มั่นของฝ่ายสนับสนุนผู้นำลิเบีย "กัดดาฟี" ระลอก 3 ท่ามกลางข้อสงสัยว่ากำลังจะมุ่งไปสู่จุดหมายอะไร แถมฝ่ายตะวันตกต้องเผชิญกับปัญหาภายในเกี่ยวกับโครงสร้างสายการบังคับบัญชาสูงสุด และถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์หนาหูขึ้นเรื่อยๆ จากกรณีโจมตีลิเบียรุนแรงเกินกว่าเหตุ ด้านนักวิเคราะห์เกรงเกิดสภาพไม่มีผู้ชนะเด็ดขาด ส่วนทหารฝ่ายกัดดาฟียังคงดิ้นรนต่อสู้หมายยึดเมืองคืน พร้อมกับปฏิเสธข่าวลูกชายของกัดดาฟีได้เสียชีวิตแล้ว

โทรทัศน์ทางการลิเบียรายงานว่า สถานที่หลายแห่งในกรุงตริโปลีถูกโจมตีอย่างหนักในช่วงคืนวันจันทร์ ขณะที่มูสซา อิบรอฮิม โฆษกรัฐบาลลิเบีย กล่าวในการแถลงข่าว ระบุว่า การโจมตีระลอกที่สามของกองกำลังตะวันตกเมื่อค่ำคืนดังกล่าว ได้เล็งเป้าหมายไปที่เมืองซีบา ทางใต้ของประเทศ ทว่าเขาไม่ได้บอกรายละเอียดถึงสภาพความเสียหายหรือผู้เสียชีวิตจากการโจมตีดังกล่าว โฆษกผู้นี้ยังบอกด้วยว่า พวกตะวันตกยังได้โจมตีท่าเรือหลายแห่งและสนามบินซีระเตะห์ด้วยระเบิดจนคร่าชีวิตประชาชนไปมากมาย

“คุณสามารถเห็นสภาพของที่นั่น (สนามบินซีระเตะห์) ได้” อิบรอฮิม กล่าวในการแถลงข่าว “นี่เป็นสนามบินพลเรือนแท้ๆ แต่มันก็ถูกบอมบ์และก็ทำให้ประชาชนเสียชีวิต นอกจากนี้ท่าเรือหลายแห่งก็ถูกโจมตีด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้รัฐบาลลิเบียยังปฏิเสธรายงานข่าวก่อนหน้านี้ของสื่อบางสำนัก ที่ระบุว่า คามิส กัดดาฟี ลูกชายคนที่ 6 ของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ได้เสียชีวิตจากสาเหตุถูกไฟครอกหลังนักบินลิเบียคนหนึ่งจงใจขับเครื่องบินพุ่งชนบ้านของเขาในกรุงตริโปลี เมื่อคืนวันเสาร์ (19) ที่ผ่านมา โดยย้ำว่าเป็นข่าวลือที่เหลวไหลทั้งเพ

โทรทัศน์อัลญะซีเราะห์รายงานว่า อุปกรณ์ติดตั้งเรดาห์ที่ฐานป้องกันทางอากาศในเขตภาคตะวันออกของลิเบียถูกโจมตีด้วย อย่างไรก็ตาม โฆษกกองทัพฝรั่งเศสซึ่งเครื่องบินรบได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการลาดตระเวณอยู่เหนือน่านฟ้าภูมิภาคดังกล่าว ออกมาแถลงว่า ไม่มีอากาศยานใดๆ บนอากาศในช่วงที่อุปกรณ์ดังกล่าวถูกโจมตี

บรรดาประจักษ์พยานยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ฐานทัพเรือของลิเบียแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงตริโปลีราว 10 กิโลเมตร ก็ถูกบอมบ์เมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ด้วย

ด้านสถานการณ์การสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพวกกบฏ มีรายงานเข้ามาโดยอ้างแหล่งข่าวจากฝ่ายต่อต้านกัดดาฟี ระบุว่า พวกกบฏในเมืองมิสราตา เมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศถูกโจมตีอย่างหนักด้วยรถถังของฝ่ายรัฐบาล ทว่าเมืองแห่งนี้ยังคงปลอดภัยจากเงื้อมมือของกัดดาฟี แม้ว่าโฆษกรัฐบาลลิเบียจะออกมากล่าวอ้างก่อนหน้านี้ว่าพวกเขาสามารถยึดเมืองมิสราตาได้แล้ว

โฆษกของฝ่ายกบฏโทรศัพท์มาจากเมืองมิสราตา ยืนยันว่า พวกกบฏยังคงควบคุมเมืองแห่งนี้อยู่ แม้ว่าจะถูกกองกำลังสวามิภักดิ์กัดดาฟีถล่มอย่างหนักด้วยรถถังและพลแม่นปืนก็ตาม ขณะที่แพทย์ในเมืองดังกล่าวก็ระบุในสายว่า มีผู้เสียชีวิตจากการถูกจู่โจมคราวนี้ 40 ราย และอีกอย่างน้อย 300 คนได้รับบาดเจ็บ โดย

“กองทัพของกัดดาฟียังไม่ได้ครอบครองมิสราตา ทว่าเพียงแค่ยึดพื้นที่ตามจุดต่างๆ ตลอดแนวถนนสายหลัก ที่ซึ่งพวกเขาส่งรถถังเข้ามา 3 คัน และวางกำลังพลซุ่มยิงอยู่บนหลังคาตึกอาคาร” โฆษกฝ่ายกบฏกล่าว

ขณะเดียวกัน อัลญะซีเราะห์รายงานว่า ชาวบ้านในเมืองซินตัน อีกเมืองของพวกฝ่ายกบฏที่ถูกปิดล้อมโดยกองกำลังกัดดาฟี ก็ได้หลบหนีจากที่พำนักเพื่อหาที่กำบังตามถ้ำบนภูเขา หลังเมืองแห่งนี้ถูกทหารฝ่ายรัฐบาลจู่โจมเมื่อวานนี้ โดยเหล่านักวิเคราะห์ด้านกลาโหมต่างก็ลงความเห็นว่า ทหารกัดดาฟีพยายามจะบุกเข้ามาในเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัยของพลเรือนเพื่อหลบหลีกการถูกบอมบ์ทางอากาศโดยกองกำลังตะวันตก

รายงานข่าวยังระบุว่า กองทัพของผู้นำลิเบียได้ถอยร่นจากเมืองเบงกาซีเป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร หลังจากพื้นที่รอบๆ เมืองหลวงของฝ่ายกบฎแห่งนี้ถูกถล่มโดยจรวดของพันธมิตรตะวันตกอย่างหนักหน่วง ทว่าอีกด้านหนึ่ง กองกำลังรัฐบาลสามารถขับไล่ฝ่ายกบฏออกจากเมืองอัจดาบียะห์ได้เมื่อวันจันทร์ (21)

ทางด้านกองบัญชาการทหารสหรัฐฯเขตแอฟริกา แถลงว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ-15อี ของสหรัฐฯ ได้ตกในเขตที่ฝ่ายกบฎยึดครองอยู่ในลิเบียเมื่อตอนดึกวันจันทร์ โดยที่นักบินทั้ง 2 คนสามารถดีดตัวออกมาได้ทัน คนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือแล้ว และการติดตามช่วยเหลือคนที่สองกำลังดำเนินอยู่ โฆษกของกองบัญชาการระบุว่า เครื่องบินลำนี้กำลังเข้าร่วมการโจมตีด้วย ทว่าสาเหตุที่ตกนั้นไม่ได้เป็นผลจาก “ปฏิบัติการที่เป็นปรปักษ์”

ถึงแม้มีความสูญเสียบ้าง แต่เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายก็พึงพอใจต่อผลงานในภาพรวมที่กองกำลังชาติตะวันตกสามารถลดขีดความสามารถในการป้องกันของกองกำลังกัดดาฟีลง กระนั้น พลเอก คาร์เตอร์ แฮม ผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารสหรัฐในภูมิภาคแอฟริกา ก็ออกมากำชับว่าอย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เนื่องจากการบังคับเขตห้ามบินในน่านฟ้าลิเบีย อาจจะต้องขยายจนครอบคลุมทั้งประเทศเสียก่อนจึงจะบังเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

“การขยายขอบเขตโนฟลายโซน...ตลอดแนวชายฝั่งของประเทศ ซึ่งครอบคลุมอาณาบริเวณเกือบจะทั้งหมดตั้งแต่เส้นพรมแดนจากฟากหนึ่งไปจนจรดเขตชายแดนอีกฟากหนึ่ง จะทำให้พวกเราสามารถเคลื่อนที่ได้อิสระมากขึ้น” แฮม บอกกับผู้สื่อข่าวจากในกรุงวอชิงตัน

ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ ซึ่งถูกรุมเร้าด้วยคำถามจากสื่อมวลชนและนักการเมืองภายในประเทศเกี่ยวกับกรณีที่กองทัพของสหรัฐฯ อาจเข้าไปติดพันกับสงครามอันยืดเยื้อในประเทศมุสลิมแห่งที่สามต่อจากอิรักและอัฟกานิสถานนั้น ผู้นำทำเนียบขาวก็ได้ออกมาระบุว่า วอชิงตันจะยกภารกิจบังคับบัญชาปฏิบัติการแทรกแซงลิเบีย ให้แก่ประเทศอื่นภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้

“เราคาดหมายว่ากระบวนการถ่ายโอนภารกิจจะบังเกิดขึ้นในไม่กี่วันนี้โดยที่ไม่ใช่ภายในกี่สัปดาห์นี้” โอบามา กล่าวในการแถลงข่าวในระหว่างเยือนชิลี

อย่างไรก็ดี นายใหญ่ทำเนียบขาวไม่ได้ระบุเจาะจงว่าประเทศใดหรือองค์การระหว่างประเทศใดจะมารับช่วงต่อนี้ แต่กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมาบทบาทการเป็นผู้ผลักดันและผู้นำในปฏิบัติการบังคับเขตห้ามบินในน่านฟ้าลิเบียตามมติของคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาตินี้ หาใช่สหรัฐฯ ไม่ แต่เป็นอังกฤษและฝรั่งเศส

ทั้งนี้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกำลังเผชิญกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายประเทศกรณีระดมบอมบ์ลิเบียอย่างรุนแรง ซึ่งรวมทั้งการรัวจรวดร่อนโทมาฮอว์กกว่า 110 ลูกในวันเสาร์ (19) ที่ผ่านมา โดยอามะร์ มูสซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตอาหรับได้ตั้งคำถามถึงวิธีการที่ชาติตะวันตกใช้ในการบังคับเขต “โนฟลายโซน” ในลิเบีย ขณะที่นายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย นำกรณีการโจมตีทางอากาศนี้ไปเปรียบเปรยกับ “การทำสงครามครูเสด”

มหาอำนาจตะวันตกได้ออกมาแก้ต่างว่า พวกเขาไม่ได้ร่วมมือกับฝ่ายกบฏในการปฏิบัติการช่วยเหลือสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด (Close Air Support หรือ CAS) เพื่อล้มล้างระบอบกัดดาฟี หรือพยายามที่จะเสาะหาเพื่อบดขยี้ทหารของฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด ทว่าปฏิบัติการทั้งหมดที่ทำลงไปก็เพื่อปกป้องชีวิตของพลเรือนลิเบียตามขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากยูเอ็นเท่านั้น ซึ่งนั่นก็ทำให้นักรบฝ่ายกบฏซึ่งกระจัดกระจายไม่เป็นเอกภาพ ประสบกับอุปสรรคในการรุกคืบไปข้างหน้า

นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมหลายคนระบุไว้ว่า จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่า เหตุการณ์จะเป็นเช่นไรต่อไปหากกัดดาฟีดึงดันไม่ยอมลงจากอำนาจ ตลอดจนยังคงต่อสู้ไม่ยอมแพ้แบบนี้ โดยเฉพาะเมื่อชาติตะวันตกก็แสดงจุดยืนชัดเจนแล้วว่าพวกเขาไม่ต้องการที่จะเห็นสภาพการณ์ที่ลิเบียถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยที่ภาคตะวันออกเป็นของฝ่ายกบฏ ขณะที่ภาคตะวันตกเป็นของกัดดาฟี

“มีแนวโน้มสูงที่จะบังเกิดสภาพของการคุมเชิงอันยืดเยื้อระหว่างสองฝ่าย โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมที่จะหันหน้าเข้าเจรจา ด้วยเหตุนี้ผลเกมในตอนจบจึงยังพร่ามัวมาก” เยเรมี บินนีย์ นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งไอเอชเอส เจนส์ ให้ทัศนะ

ขณะที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ก็ออกมาชี้แจงว่า ปฏิบัติการครั้งนี้จะไม่ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อในแบบเดียวกับสมรภูมิที่อิรักอย่างแน่นอน

“นี่แตกต่างออกไปจากกรณีอิรัก นี่ไม่ใช่การเข้าไปในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อไปโค่นล้มรัฐบาลของประเทศนั้น และจากนั้นก็ครอบครอง รวมทั้งรับผิดชอบทุกสิ่งสรรพที่เป็นผลลัพธ์ตามมา” คาเมรอน กล่าวในระหว่างอภิปรายประเด็นเรื่องลิเบียในรัฐสภาอังกฤษ

“นี่เป็นแค่การปกป้องคุ้มครองพลเรือน และมอบโอกาสให้แก่ประชาชนในการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาเอง” คาเมรอน สำทับ

นอกจากนี้ผู้นำอังกฤษ ยังยืนกรานชัดเจนว่า การโจมตีทางอากาศไม่ได้หมายหัวไปที่กัดดาฟีโดยตรงและก็ไม่มีแผนการที่จะทำเช่นนั้นด้วย “มติของสหประชาชาติมีขอบเขตที่จำกัด มติดังกล่าวไม่ได้มอบอำนาจให้กระทำการโค่นล้มระบอบกัดดาฟีด้วยมาตรการทางทหาร”

สำหรับกรณีที่บางชาติในยุโรปเสนอให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รับบทบาทเป็นผู้นำเต็มตัวในปฏิบัติการที่ลิเบีย จนเกิดความคิดเห็นแตกแยกในหมู่ประเทศสมาชิก กระทั่งไม่อาจหาข้อสรุปร่วมในที่ประชุมเมื่อวันจันทร์ได้นั้น ทางคณะนักการทูตนาโตก็ออกมาระบุว่า พวกเขาจะเปิดประชุมหารือกันอีกครั้งในวันอังคาร (22)

ทั้งนี้ได้เกิดสัญญาณความแตกแยกทางความคิดจากกรณีที่ชาติตะวันตกบังคับเขตห้ามบินในน่านฟ้าลิเบียตามมติที่ 1973 ของสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดแกนของตุรกีปฏิเสธที่จะส่งทหารเข้าไปร่วมในปฏิบัติการโจมตีลิเบีย ทว่าให้คำมั่นเพียงแค่จะเข้าร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่านั้น

ขณะที่นอร์เวย์ ก็ระบุในวันจันทร์ว่า ทางกองทัพของตนจะจอดเครื่องบินขับไล่ทั้ง 6 ลำของตนไปตลอด ตราบใดที่ยังคลุมเครือว่าใครเป็นผู้นำในปฏิบัติการครั้งนี้ ส่วนรัฐบาลบราซิลก็ออกมาแถลงให้รีบหยุดยิงโดยเร็วที่สุด เนื่องจากวิตกกังวลต่อสวัสดิภาพของพลเรือนลิเบีย

อนึ่ง บราซิล, จีน, อินเดีย, เยอรมนี และรัสเซีย เป็น 5 ชาติที่งดออกเสียงรับรองมติ 1973 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น