ตารางข้างบนคือค่าเฉลี่ยของจำนวนครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวในเวลาหนึ่งปีของช่วงเวลาต่างๆ รวม 3 ช่วงทั่วโลก ผมยกตารางนี้ขึ้นมาก่อนเพราะเผื่อว่า ท่านที่มีเวลาน้อยๆ จะได้รับความรู้ที่สำคัญนี้ไปบ้างก่อนที่จะคลิกเลยไป
ขณะนี้สังคมโลกกำลังให้ความสนใจไปที่การจัดการแก้ปัญหากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังระเบิด หนังสือพิมพ์ออนไลน์ “The Telegraph” (17 มี.ค. 54) ของอังกฤษพาดหัวว่า “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น : เหลือเวลาอีก 48 ชั่วโมงเพื่อจัดการไม่ให้เหมือนกรณีเชอร์โนบิลอีก”
ลุ้นระทึก!
กรณีเชอร์โนบิลได้ส่งผลให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ขวบเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเวลาต่อมาถึง 34% แม้ในวันนี้เวลาได้ผ่านล่วงเลยมากว่า 20 ปีที่แล้ว แต่ผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตจากเมืองนี้ ไม่ว่าจะเป็นนมวัว มันฝรั่ง ถ้าผู้บริโภครู้ว่าผลิตจากที่นี่จะไม่มีใครซื้อเพราะยังมีสารกัมมันตรังสีเจือปนอยู่
ขณะที่ความสนใจของชาวโลกกำลังจดจ่ออยู่ที่อันตรายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผมขออนุญาตนำท่านไปพิจารณาเรื่องสถิติแผ่นดินไหวใน 2 ประเด็น ผมคิดว่าสำคัญมากๆ ครับ
หนึ่ง ความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นหรือไม่
ผมได้ฟังนักวิชาการสองท่านผ่านรายการโทรทัศน์ทีวีไทย ผมไม่มั่นใจในคำพูดแบบคำต่อคำ แต่ผมจับใจความได้ว่า "ทุกวันนี้ แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดบ่อยขึ้นกว่าเดิม แต่ความเสียหายหรือจำนวนผู้เสียชีวิตมีมากขึ้น เพราะจำนวนประชากรมากขึ้น เรามีระบบการสื่อสารที่ดีขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่ามันเกิดบ่อยขึ้น นอกจากนี้ สถานีวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวก็มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก”
ผมเกิดความสงสัยมากต่อข้อสังเกตดังกล่าว ผมจึงต้องรีบกลับมาค้นหาข้อมูลว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
พบว่าในแต่ละปี แผ่นดินไหวขนาดต่ำกว่า 4.0 ริกเตอร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่พอจะทำให้คนส่วนใหญ่แค่รู้สึกได้ (บางคนอาจจะไม่รู้สึก) เกิดขึ้นปีละกว่า 1.3 ล้านครั้ง ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องสนใจระดับนี้ ปล่อยให้ไหวเสียให้เข็ด
สำหรับระดับ 4.0 ถึง 4.9 ริกเตอร์ ทำให้คนทุกคนรู้สึกได้ ถ้วยแก้วในบ้านอาจตกหล่นลงมาแตกได้บ้าง ระดับที่เราสนใจคือระดับตั้งแต่ 5.0 ริกเตอร์ขึ้น เพราะเป็นระดับที่เริ่มทำให้เฟอร์นิเจอร์ในบ้านล้มได้ ระดับ 7.0 ถึง 7.9 อาจทำให้สะพานพัง เขื่อนแตก จนถึงระดับตั้งแต่ 8.0 ขึ้นไปดังที่เรากำลังเฝ้าติดตามอยู่
อนึ่ง ระดับความแรงของแผ่นดินไหวมีได้ไม่จำกัด คืออาจจะถึง 10.0 ริกเตอร์หรือมากกว่าก็ได้ แต่เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ คือระดับ 9.5 ริกเตอร์ ที่ประเทศชิลี เมื่อปี 2503
ข้อมูลในช่วงก่อนปี 2533 ผมได้มาจากตำราคณิตศาสตร์เล่มหนึ่งซึ่งพิมพ์ปีนั้น ส่วนที่เหลือได้มาจากศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ท่านผู้อ่านสามารถค้นได้จาก http://earthquake.usgs.gov/earthquakes/eqarchives/year/info_1990s.php
ผมเองแม้จะมีข้อสงสัยในความละเอียดของจำนวน “1000” ที่ปรากฏในคอลัมน์ที่สองอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่ส่งผลให้ความมากน้อยของผลรวมเปลี่ยนไป ผมขอสรุปสาระสำคัญจากตารางดังนี้
(1) จำนวนครั้งเฉลี่ยต่อปีที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่ระดับ 5.0 ริกเตอร์ขึ้นไปได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือจากประมาณ 1,199 ครั้งเป็น 1,476 และ 1,657 ครั้ง ตาม 3 ช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งๆ ที่ปี 2554 ยังมีเวลาเหลืออีก 9 เดือนกว่า
(2) ก่อนปี 2533 ความรุนแรงระดับตั้งแต่ 8.0 ขึ้นไปเกิดขึ้นเพียงปีละ 0.2 ครั้ง หรือ 5 ปีเกิดขึ้นหนึ่งครั้ง ในช่วงถัดมา (2533 ถึง 2542) ได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 0.6 ครั้ง หรือ 10 ปีเกิดขึ้น 6 ครั้ง แต่พอมาถึงช่วง 12 ปีสุดท้ายได้เพิ่มขึ้นเป็น ปีละ 1.25 หรือ 12 ปีเกิดขึ้นถึง 15 ครั้ง
พูดให้สั้นๆ ก็คือ เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาก่อนปี 2533 กับช่วงเวลา 12 ปีสุดท้าย แผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงสูงสุดคือมากกว่า 8.0 ริกเตอร์ได้เกิดเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัวของช่วงก่อนปี 2533
(3) ที่ระดับ 6.0 ถึง 7.9 ริกเตอร์ จำนวนครั้งที่เกิดขึ้นได้ลดลงเล็กน้อย ซึ่งผมไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด เพียงแต่ขอตั้งเป็นข้อสังเกตเท่านั้น
ความสนใจน่าจะอยู่ที่ระดับความรุนแรงในระดับสูงสุด เพราะมันกำลังล้างผลาญอย่างโหดร้ายทารุณมาก ผมคิดว่านักวิชาการทั้งสองท่านที่ผมกล่าวถึงคงมีเวลาอธิบายน้อยเกินไป ประกอบกับพิธีกรในรายการก็ถามรุกอย่างตั้งตัวไม่ทัน ท่านจึงไม่ได้จำแนกในรายละเอียดในแต่ละระดับออกมา
เพราะการเอาจำนวนที่มีหลัก "พัน” ที่มีความรุนแรงมากไปรวมกับจำนวนที่มีหลัก "ล้าน” ที่มีความรุนแรงน้อย คำตอบที่ได้ก็กลายเป็นคำตอบที่ทำให้ประเด็นสำคัญหายไป
เหมือนกับการเอาทรายละเอียดไปผสมกับทรายหยาบ ผลลัพธ์ย่อมกลายเป็นทรายหยาบ
สอง สิ่งที่ผมสงสัยมาก แต่อาจจะดูทื่อๆ หรือเป็น “สูตรสำเร็จ” ไปหน่อยก็คือ มันเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือปัญหาโลกร้อนหรือไม่? เพราะนักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้สรุปว่า “ทั้งความถี่และความรุนแรงของพายุที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากปัญหาโลกร้อน” แต่ในเรื่องแผ่นดินไหวผมไม่ทราบ เพียงแต่สงสัย
ขออีกสักข้อมูลครับ บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษได้ศึกษาพบว่า ภายในปี พ.ศ. 2608 ความสูญเสียในทรัพย์สินของมนุษย์ที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งได้รวมถึงภัยจากแผ่นดินไหวเอาไว้แล้ว จะมากกว่ารายได้ตลอดทั้งปีของคนทั้งโลกในปีนั้นรวมกัน
ถึงเวลาแล้วที่ชาวโลกต้องร่วมกันคิดการใหญ่ แล้วลงมือปฏิบัติทันที บนพื้นฐานของความเคารพต่อกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้เสียก่อนว่า แผ่นดินไหวมันเกี่ยวกับโลกร้อนหรือไม่ เพราะแค่เรื่องพายุอย่างเดียวที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว เราก็เหนื่อยแทบตายแล้ว