xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้าภัยพิบัติครั้งใหญ่พร้อมๆกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

“แผ่นดินไหว”
เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดภัยพิบัติต่อเนื่องและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ตามได้หลายประการ อันได้แก่ ภัยพิบัติจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน (Ground Shaking), ภัยพิบัติจากการเหลวตัวของดิน (Liquefaction), ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของพื้นผิวดินตามแนวรอยเลื่อน (Surface Faulting), ภัยพิบัติจากแผ่นดินถล่มเนื่องจากการกระตุ้นของแผ่นดินไหว ( Earthquake Induced Landslides ), ภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunamis), ภัยพิบัติจากไฟไหม้ (Fire)

11 มีนาคม 2554 เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงหลายระลอกนอกชายฝั่งของประเทศญี่ปุ่น รุนแรงระดับ 8.9 ริกเตอร์ เกิดสึนามิสูง 10 เมตร ซัดเมืองชายฝั่งของญี่ปุ่น จนได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

12 มีนาคม 2554 สึนามิจากญี่ปุ่น ซัดฮาวาย และชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เกิดสตอมเสิร์จที่หมู่เกาะกาลาปากอส ในขณะที่ญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวอาฟเตอร์ช็อครุนแรงระดับ 5 มากกว่า 154 ครั้ง และระดับ 6 อีก 27 ครั้ง สามารถรับรู้การสั่นสะเทือนถึงกรุงโตเกียว ในขณะที่อาคารเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะหมายเลข 1 ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวราว 250 กิโลเมตรได้ระเบิดขึ้นหลังระบบหล่อเย็นได้พังลงจากแรงสะเทือนแผ่นดินไหว

หลังจากนั้นอาคารเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หมายเลข 3, 4 และ 2 ได้ทยอยเสียหายทั้งไฟไหม้และระเบิด จนได้มีกัมมันตภาพรังสีของเตาปฏิกรณ์ที่ 4 ได้ถูกปลดปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2554


อันที่จริงแล้วไม่ใช่ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี แต่ญี่ปุ่นเคยเจอปัญหาแบบนี้มาแล้ว 2 ครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นความเสียหายที่รุนแรงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาของญี่ปุ่น และเหตุการณ์ทำนองนี้ก็ไม่เกิดเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เคยเกิดมาแล้วกับทั้งสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ซึ่งสำนักข่าวเอเอฟพีได้รวบรวมเอาไว้ดังนี้

28 มีนาคม 2522 : สหรัฐอเมริกา สั่งอพยพประชาชนราว 140,000 คน ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย หลังเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ รัฐเพนซิลเวเนีย สาเหตุอุบัติภัยครั้งนั้นเกิดจากแกนเตาปฏิกรณ์ถูกหลอมละลาย ทำให้เกิดการปนเปื้อนรังสี แต่โชคดีที่สารกัมมันตภาพรังสีฟุ้งกระจายเฉพาะพื้นที่ภายในโรงงานเท่านั้น ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ความร้ายแรงของเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในระดับ 5 จาก 7 อันดับความร้ายแรงทางนิวเคลียร์ ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ

สิงหาคม 2522 : เกิดการรั่วไหลของยูเรเนียมในโรงงานนิวเคลียร์ลับ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเออร์วิน รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา มีพลเรือนปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีไปกว่า 1,000 คน

มกราคม-มีนาคม 2524 : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สึรุกะของญี่ปุ่นเกิดเหตุรั่วไหลของรังสี 4 ครั้งติดต่อกัน ข้อมูลจากรัฐบาลกรุงโตเกียวในขณะนั้นระบุ ว่า มีผู้ปนเปื้อนสารพิษ 278 คน

26 สิงหาคม 2529 : อุบัติภัยนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของโลกอุบัติขึ้น เมื่อเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด หลังการทดลองผิดพลาด มีผู้ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีขั้นร้ายแรงราว 200 คน ในจำนวนนี้มี 32 คนเสียชีวิตภายใน 3 เดือน เรื่องราวถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา หลังมีกลุ่มเมฆกัมมันตรังสีขนาดใหญ่ลอยอยู่เหนือน่านฟ้าแถบยุโรปเหนือ

หลังเกิดเหตุ มีการบันทึกได้ว่า เกิดฝุ่นรังสีนิวเคลียร์ (fall-out) ปริมาณมากกว่า การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ถล่มฮิโรชิมาเมื่อปี 1945 ผู้คนนับแสนต้องอพยพหนีตาย จากพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศระบุว่า เป็นอุบัติภัยนิวเคลียร์ครั้งนี้อยู่ในระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

เมษายน 2536
โรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงลับใน เขตตอมสค์-7 ทางตะวันตกของไซบีเรียได้ปล่อยกลุ่มก๊าซกัมมันตภาพรังสี ซึ่งประกอบไปด้วยยูเรเนียม-235 พลูโตเนียม-237 และวัสดุฟิสไซล์ หรือวัสดุธาตุนิวเคลียร์ออกมา ทว่า ไม่มีการเปิดเผยถึงจำนวนผู้บาดเจ็บ ล้มตาย

พฤศจิกายน 2538 : มีการรายงานเหตุปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีขั้นร้ายแรงในเมืองเชอร์โนบิลอีกครั้ง ระหว่างการเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์ตัวหนึ่ง แม้มีความพยายามปกปิดเรื่องดังกล่าว แต่ในที่สุดก็ข่าวก็แดงออกมา

11 มีนาคม 2540 : การทดลองในโรงงานนิวเคลียร์ เมืองโทไกมูระ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว ต้องหยุดชะงัดชั่วคราว เมื่อเกิดเหตุระเบิด และเพลิงไหม้ ซึ่งมีผู้เคราะห์ร้ายปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี 37 คน

30 กันยายน 2542 : มีผู้เสียชีวิต 2 คนจากอุบัติเหตุในโรงงานผลิตยูเรเนียม เมืองโทไกมูระ ญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าร้ายแรงที่สุดตั้งแต่อุบัติภัยเชอร์โนบิล สาเหตุครั้งนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่เติมยูเรเนียมลงในถังตกตะกอนมากเกินไป จากความมักง่าย เพื่อต้องการประหยัดเวลา

ทั้งนี้ มีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า มีผู้ปนเปื้อนสารพิษมากกว่า 600 คน รัฐบาลสั่งให้ประชาชนอีกกว่า 320,000 คนห้ามออกจากบ้านมากกว่า 1 วัน เจ้าหน้าที่ 2 คน ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาเสียชีวิตอย่างน่าอเนจอนาถที่โรงพยาบาลในอีก 3 เดือน และ 6 เดือนให้หลัง


9 สิงหาคม 2547: คนงาน 4 คนเสียชีวิต และอีก 7 คนถูกเพลิงไหม้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการรั่วไหลไอน้ำที่ไร้สารกัมมันตภาพรังสี ในโรงงานนิวเคลียร์มิฮามะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว 350 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หนึ่งในสามตัวของโรงงานหยุดทำงานโดยอัตโนมัติ เมื่อสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ก่อนที่ความร้อนสูงจะรั่วไหลจนอาจทำให้แกนกลางหลอมละลาย อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นภัยนิวเคลียร์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของญี่ปุ่น

ประเทศที่พัฒนาและเป็นมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น และมีมาตรการและมาตรฐานความปลอดภัยสูง ก็ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาการรั่วไหลพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพได้ร้อยเปอร์เซนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่สถิติการเกิดแผ่นดินไหวในโลกได้ทยอยสูงเพิ่มมากขึ้น

ความจริงแล้วเห็นตัวเลข 8.9 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ถือว่ามีความรุนแรงมาก เพราะ ความแตกต่าง 1 ริกเตอร์นั้น ให้ค่าการเปลี่ยนแปลงการสั่นไหวของแผ่นดิน (Ground Motion Change (Displacement) รุนแรงต่างกันถึง 10 เท่าตัว และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน (Energy Change) ถึง 32 เท่าตัวเลยทีเดียว

ความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและถี่มากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยโลกใบนี้เกิดแผ่นดินไหวระดับ 8.0 ริกเตอร์ ปีละ 1 ครั้ง ในขณะที่ 20 กว่าปีก่อนมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว 5 ปีต่อหนึ่งครั้ง

และถ้าจะดูสถิติการเกิดแผ่นดินไหวของโลกในระดับ 7.0 -7.9 ริกเตอร์ ก็ยังมีความถี่ขึ้นมาเรื่อยๆในรอบ 3 ปีมานี้ โดยปี พ.ศ. 2551 เกิดขึ้น 12 ครั้ง ปี พ.ศ. 2552 เกิดขึ้น 16 ครั้ง ปี พ.ศ. 2553 เกิดขึ้น 21 ครั้ง ส่วนปี 2554 เริ่มต้นมาแค่ 2 เดือนครึ่งเท่านั้นเกิดขึ้นไปแล้ว 6 ครั้ง

สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบและรู้สึกได้กับแผ่นดินไหวในระดับ 7.0 - 7.9 ริกเตอร์ขึ้นไปตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาทั้งหมด 5 ครั้ง โดยมาจากเกาะสุมาตรา 4 ครั้ง และมาจากมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ครั้ง และเคยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระดับ 8.4 ครั้งมาจากตอนใต้ของเกาะสุมาตรา เกิดจากพม่า ลาว จีน ซึ่งอยู่ใกล้ประเทศไทย (ระดับ 4.0 -5.9 ริกเตอร์ อีก 8 ครั้ง) และเกิดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในประเทศไทย 5 ครั้ง (ระดับ 3.0-4.5 ริกเตอร์) ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และสุราษฎร์ธานี

ประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบจากสึนามิ อันเกิดจากการขยับตัวของเปลือกโลกมาแล้ว แต่สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทย และความพร้อมของประชาชนในการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัตินั้น ต้องถือว่ายังต่ำอยู่มากเมื่อเทียบกับประทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

ปรากฏการณ์ที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งทบทวนอย่างเร่งด่วนกับนโยบายการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่ามีความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ภัยพิบัติ และอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงมากน้อยเพียงใด !?

กำลังโหลดความคิดเห็น