xs
xsm
sm
md
lg

ตปท.รุมจีบควิกเซอร์วิสฟู้ดไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักลงทุนต่างชาติรุมจีบ ส.ภัตตาคาร ช่วยไปแนะนำรูปแบบร้านอาหารไทย “ควิ๊ก เซอร์วิส” คาด 5 ปี สยายปีกกระจายร้านอาหารไทยต้นแบบได้ 1.1 แสนร้าน   พร้อมเตรียมขยายผลของบเพิ่ม ปรับสูตรให้เหมาะกับกระแสผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ

นายชุมพร สุขประสงค์ผล ที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศและพัฒนาธุรกิจ สมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า  มีนักลงทุนจากหลายประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น, จีน, ฟิลิปปินส์ ,อินโดนีเซีย และ สหรัฐอเมริกา   ติดต่อมาต้องการให้สมาคมไปนำเสนอรูปแบบร้านอาหารไทยจานด่วนต้นแบบ หรือ ควิ๊ก เซอร์วิส 4 ประเภท คือ ผัดไท, ส้มตำ ไก่ย่าง, ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง ซึ่งเป็นโครงการที่สมาคมฯร่วมกับสถาบันการศึกษาจัดทำขึ้นโดยประเทศที่ติดต่อมา ดังนั้นสมาคมจึงเตรียมเลือกรูปแบบควิ๊ก เซอร์วิส ที่เหมาะกับแต่ละประเทศไปนำเสนอ จากที่มีอยู่ทั้งหมด 19 รูปแบบ

“รูปแบบที่เราทำไว้ ไม่จำเป็นว่า จะต้องเปิดในรูปแบบร้านอาหารเท่านั้น แต่สามารถนำไปตั้งเป็นบูธเล็กๆ เพื่อขายอาหารไทยในร้านอาหาร ตามศูนย์อาหาร ห้างสรรพสินค้า ได้ทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขเพียงว่าอาหารไทยทั้ง 4 แบบ ของสมาคม ผู้ประกอบการจะต้องใช้วัตถุดิบจากประเทศไทยเท่านั้น และต้องปรุงตามสูตรที่ได้กำหนดไว้”

ทั้งนี้หากนักลงทุนต่างประเทศสนใจนำรูปแบบควิ๊ก เซอร์วิสนี้ไปใช้  จะมีผลให้ร้านขายอาหารไทยในต่างประเทศ จะเพิ่มจำนวนเป็น 110,000 ร้านได้ ภายในเวลา 5 ปี และจะทำให้อาหารไทยปรับฐานะเป็นอาหารระดับสากลที่มีสาขาทั่วทุกมุมโลก  เช่นเดียวกับร้านอาหาร ชื่อดังหลายแบรนด์ เช่น  แม็คโดนัล , เคเอฟซี เป็นต้น

รูปแบบควิ๊กเซอร์วิส จะไม่กระทบต่อร้านอาหารไทยที่เป็นของคนไทยในต่างประเทศ แต่จะยิ่งช่วยกันประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทย และการส่งออกวัตถุดิบการทำอาหาร แต่ร้านควิ๊ก เซอร์วิสจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมาตรฐานร้านอาหารไทยและความปลอดภัยของร้านอาหาร

นายชุมพร กล่าวถึง กรณีที่ประเทศญี่ปุ่น มีความสนใจนำรูปแบบควิ๊ก เซอร์วิส ไปไว้ในศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่น  เชื่อว่ายังคงเป็นไปตามแผนงานเดิม แม้ขณะนี้ญี่ปุ่นจะประสบภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว สึนามิ และกัมมันตรังสีรั่วไหล  ก็ตาม  แต่อาจทำให้แผนการเปิดตัวต้องล่าช้าออกไปบ้าง

ล่าสุดสมาคมอยู่ระหว่างการของบประมาณจากภาครัฐ  ให้สถาบันการศึกษาได้นำไปใช้ศึกษาพัฒนาสูตรอาหารใหม่ๆ ของทั้ง 4 ประเภทภายใต้รูปแบบควิ๊กเซอร์วิส  เน้นให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
กำลังโหลดความคิดเห็น