xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แผ่นดินไหวญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจไทยนั้น อันดับแรกจะเป็นผลจากการหยุดชะงักลงชั่วคราวของระบบขนส่ง และการหยุดการผลิตของบริษัทคู่ค้าในญี่ปุ่น ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงสั้น แต่ในระยะที่ยาวออกไป
อย่างไรก็ตาม แม้ในด้านหนึ่งการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคอาจมีการชะลอตัว ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งสินค้าบางกลุ่มอาจได้ประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มวัสดุก่อสร้างและเครื่องจักรกล ตามการทุ่มงบประมาณของรัฐลงมาเพื่อบูรณะฟื้นฟูความเสียหาย ขณะเดียวกัน สินค้าอาหารอาจมีความต้องการเพิ่มขึ้น หากอุปทานผลผลิตในเขต Tohoku ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรสำคัญได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายอาจมีความต้องการสินค้ายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อทดแทนทรัพย์สินที่เสียหาย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลโดยรวมต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปีนี้น่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการเดิมที่คาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 10-15
ส่วนผลกระทบในด้านอื่นๆ คาดว่าผลต่อการลงทุนน่าจะไม่มีผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแผนการลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นในไทยเป็นแผนระยะยาว ขณะที่ผลต่อตลาดนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดนั้น อาจมีผลต่อการชะลอแผนการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นได้
โดยสรุปคาดว่าผลกระทบสุทธิจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงของญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจไทยอาจอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากอาจมีผลบวกเข้ามาชดเชยกัน โดยผลกระทบไม่น่าจะเกินร้อยละ 0.1 ของจีดีพีของไทย ซึ่งอาจไม่มีผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อย่างไรก็ดี พัฒนาการของการควบคุมปัญหาในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากเกิดปัญหากัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจนถึงขั้นอันตราย และมีผลกระทบอาจจะรุนแรง
**ห่วงกระทบลงทุนระยะยาว**
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า ผลกระทบต่อประเทศไทย ระยะสั้นน่าจะเป็นเรื่องความล่าช้าของการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ผลกระทบในด้านลบต่อการส่งออกของไทยน่าจะมีค่อนข้างจำกัดและน่าจะเป็นเรื่องระยะสั้น แต่คงหนีไม่พ้นที่จะเกิดความล่าช้าในห่วงโซ่อุปทาน เช่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจเกิดความล่าช้าในการนำเข้าชิ้นส่วนประกอบจากญี่ปุ่น
ส่งผลลบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย จำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นคิดเป็นอันดับ 4 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย โดยในปี 2010 มีจำนวนถึง 1 ล้านคน หรือ 6% จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด 15 ล้านคน ถ้ามองในแง่รายได้ก็สูงถึง 8% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดหรือราว 4.6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลเป็นปัญหาระยะยาว อย่างการลงทุนโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นที่อาจชะลอตัวลง เพื่อซ่อมแซมความเสียหายในประเทศแทน ซึ่งสำหรับประเทศไทย ญี่ปุ่นจัดเป็นผู้ลงทุนโดยตรงอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยคิดเป็น 30% ของการลงทุนโดยตรงสุทธิ (net foreign direct investment) ในประเทศไทย ดังนั้น ระยะยาวต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนในประเทศ จากที่การลงทุนภาคเอกชนในประเทศนับว่ามีการเติบโตในระดับค่อนข้างต่ำอยู่แล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ดังนั้นภาครัฐน่าจะต้องมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศเพื่อชดเชยส่วนที่ลดลงของการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น