xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พระธาตุแห่งพระอรหันต์ วิหารธรรมแห่งพระอริยเจ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โลงบรรจุสรีระสังขารของหลวงตามหาบัวภายหลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพที่ได้มีการเปิดออกมาและสามารถบันทึกภาพเอาไว้ได้
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์
“สีพระธาตุหลวงตามหาบัว ปีกแมลงทับ”
 
“ศิษย์ทูลเกล้าฯ ฟ้าหญิงเล็ก อัฐิเป็นพระธาตุ”


นั่นคือถ้อยคำพาดหัวของหนังสือพิมพ์หลายต่อหลายฉบับภายหลังการออกมาเปิดเผยของ “พระสุลาน ปภัสสโร” พระลูกวัดวัดป่าบ้านตาด ซึ่งเป็นลูกศิษย์ก้นกุฎิของ “พระธรรมวิสุทธิมงคล” หรือ “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”

แน่นอน เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไกลวัดต้องพากันสงสัยบ้างไม่มากก็น้อยว่า ด้วยเหตุอันใดอัฐิธาตุขององค์หลวงตามหาบัวจึงกลายเป็นพระธาตุไปได้

กล่าวสำหรับพระบรมสารีริกธาตุนั้น คือ พระธาตุส่วนย่อยที่บังเกิดแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ส่วนพระธาตุ ขณะที่พระธาตุเป็นคำเรียกอัฐิของพระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ โดยทั้งพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุมีความแตกต่างจากอัฐิของบุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างมาก

ทั้งนี้ คุณลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน และได้รับการยอมรับจากพุทธศาสนิกชนและพระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไป เว็บไซต์ www.relicsofbuddha.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุพระพุทธสาวก ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ลักษณะของพระธาตุที่มองจากภายนอกคร่าวๆได้ดังนี้

-มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ลักษณะเมล็ดข้าวสาร พันธุ์ผักกาด เมล็ดถั่วแตก แก้วใส ฯลฯ

-หากมีขนาดเล็กมักสามารถลอยน้ำได้ เมื่อลอยด้วยกันจะสามารถดึงดูดเข้าหากันได้ และลอยติดกันเป็นแพ

- สามารถเสด็จมาเพิ่มจำนวนขึ้นหรือลดลงได้เอง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระธาตุ

- เปลี่ยนขนาดและสีสันเองได้

- ส่วนมากมักมีน้ำหนักค่อนข้างเบา เมื่อเทียบกับขนาด

- มีด้วยกันหลายสี ตั้งแต่ใสดั่งแก้วจนกระทั่งขุ่น สีขาวดุจสีสังข์ สีทอง สีดำ สีชมพู สีแดง ฯลฯ

อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความพระสูตรทีฆนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก เรียบเรียงขึ้นโดยพระพุทธโฆสาจารย์ พระภิกษุชาวอินเดีย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1000 พระอรรถกถาจารย์ได้แบ่งลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

1.นวิปฺปกิณฺณา ธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ยังคงรูปร่างเดิมอยู่เป็นชิ้นเป็นอัน มิได้แตกย่อยลงไป มีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่ พระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก) 1องค์ พระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ และพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) 2 องค์

2.วิปฺปกิณฺณา ธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุส่วนต่างๆขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มิได้คงรูปร่างอยู่เป็นชิ้น แต่แตกย่อยลงเป็นเป็นจำนวนมาก กระจายไปประดิษฐานตามสถานที่ต่างๆ

นอกจากนี้ พระอรรถกถาจารย์ได้จำแนกลักษณะและขนาดของพระบรมสารีริกธาตุชนิด วิปฺปกิณฺณา ธาตุ ต่อไปอีกดังนี้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะภายนอก แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

1. (สี)เหมือนดอกมะลิตูม (สีพิกุล)
[อรรถกถาบาลีว่า สุมนมกุลสทิสา]
ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 6 ทะนาน

2. (สี)เหมือนแก้วมุกดาที่เจียระไนแล้ว (สีผลึก)
[อรรถกถาบาลีว่า โธตมุตฺตสทิสา]
ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 5 ทะนาน

3. (สี)เหมือนจุณ หรือ ผงทองคำ (สีทองอุไร)
[อรรถกถาบาลีว่า สุวณฺณจุณฺณา]
ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 5 ทะนาน

อย่างไรก็ตาม นอกจากพระบรมสารีริกธาตุแล้ว บรรดาพระอรหันตสาวกทั้งในอดีตกาลและปัจจุบัน อัฐิก็กลายเป็นพระธาตุได้เช่นกัน โดยพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุนั้นเป็นสิ่งสำคัญในศาสนาพุทธ เป็นหลักฐานยืนยันผลจากการปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จนกระทั่งละจากกิเลสทั้งปวงได้บรรลุธรรม เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน

“มณียา ณ อุบล” รองประธานชมรมรักษ์พระบรมธาตุแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุของพระอรหันตเจ้านั้น สามารถเกิดจากธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย แต่เท่าที่ปรากฏให้เห็นเสมอๆ ก็คือพระธาตุที่เกิดจากธาตุดินและธาตุน้ำ

ทั้งนี้ เท่าที่ได้มีการเก็บและรวบรวมข้อมูลพบว่า พระธาตุเกิดได้จากทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย คราบไคล เลือด เส้นผม เถ้าอังคาร เล็บ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งชานหมากก็สามารถกลายสภาพเป็นพระธาตุได้ ยกตัวอย่างเช่นชานหมากของพ่อแม่ครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ หลวงปู่ฤาษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง จ.อุทัยธานีก็แปรเปลี่ยนกลายเป็นพระธาตุได้เพราะมีส่วนผสมของน้ำลายอันเป็นส่วนหนึ่งของธาตุขันธ์ในร่างกาย

สำหรับวิธีการสังเกตพระธาตุว่า อันไหนคือของจริงหรือของปลอม เพราะในปัจจุบันมีการหลอกลวงและต้มตุ๋นเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากนั้น รองประธานชมรมรักษ์พระบรมธาตุอธิบายว่า พระธาตุแท้จะมีลักษณะสีเป็นธรรมชาติ มีความมัน เงาและความวาวอยู่ในตัว ถ้านำไปใช้กล้องขยายส่องหรือโดนแสงอาทิตย์จะมีความแวววาวและงดงามมาก ซึ่งจะแตกต่างจากพระธาตุปลอมที่มักทำจากเรซิ่นย้อมให้เป็นสีต่างๆ หรือตัวดูดความชื้น

“ต้องบอกว่า คุณลักษณะของพระธาตุเหมือนพระที่ได้รับการปลุกเสกคือจะมีคลื่นพลังงานในตัวเอง ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติธรรมจะสามารถรับรู้ได้ และเป็นความจริงที่พระธาตุสามารถเสด็จมาเองได้ เพิ่มจำนวนเองได้ เพิ่มขนาดได้ เปลี่ยนสีเปลี่ยนรูปได้และหายไปได้”มณียาขยายความเพิ่มเติม

ส่วนวิธีที่ทำให้ได้มาซึ่งพระธาตุมาบูชานั้น มณียาบอกว่า ขึ้นอยู่กับพลังแห่งความศรัทธาเป็นสำคัญ เพราะผู้ที่ความศรัทธาในพระธาตุและหมั่นปฏิบัติบูชา พระธาตุก็สามารถเสด็จมาเองได้ ยกตัวอย่างเช่น มีคนๆ หนึ่งมีความศรัทธาในพระธาตุมากแต่ในครั้งแรกที่ได้มานั้นเป็นพระธาตุปลอม แต่ด้วยความศรัทธาทั้งการปฏิบัติบูชาและอามิสบูชา ทำให้พระธาตุของจริงเสด็จมาให้บูชาเอง

การปฏิบัติบูชาที่ว่านั้นหมายถึง การปฏิบัติตามแนวอริยมรรค 8 ประการ ได้แก่

1. การบูชาด้วยศีล ซึ่งศีลเป็นพื้นฐานและเป็นที่ตั้งมั่นแห่งการทำความดี เป็นเกราะป้องกันความชั่วทั้งปวง ไม่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ทำให้เกิดความพร้อมต่อการปฏิบัติสมาธิ (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)

2. การบูชาด้วยสมาธิ ซึ่งการสวดมนต์ภาวนา นั่งสมาธิ ดูลมหายใจเข้า-ออก เป็นการฝึกความเข้มแข็งของจิต ให้มีกำลังในการพิจารณาหลักธรรมต่างๆได้ตามความเป็นจริง (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)

3. การบูชาด้วยปัญญา คือการใช้ปัญญาพิจารณาหลักความเป็นจริง ตามหลักไตรลักษณ์ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ)

ส่วนอามิสบูชาที่ว่านั้นหมายถึง การบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องหอมต่างๆ เป็นต้น
ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ www.relicsofbuddha.com
พระบรมสารีริกธาตุ ข้อนิ้วพระหัตถ์พระเจดีย์วัดฝ่าเหมิน เมืองซีอาน ประเทศจีน



กำลังโหลดความคิดเห็น