xs
xsm
sm
md
lg

การไขปริศนาปรัชญาการแพทย์แผนไทย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ประทีป ชุมพล


สำหรับพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์เป็นตำรายาฉบับหลวงที่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่มีหลักฐานใดๆ มาสนับสนุนในหนังสือเวชศาสตร์ฉบับหลวง ที่ชำระเป็นตำรายาหลวงใน พ.ศ. 2413 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้รวบรวมพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์รวมอยู่ร่วมกับพระคัมภีร์ยาหลวงเล่มอื่นๆ ด้วย

ในด้านรายละเอียดคัมภีร์ธาตุวิภังค์ ได้อธิบายรายละเอียดของลักษณะธาตุที่ 4 ซึ่งสอดคล้องกับตำราเล่มอื่นๆ ดังนี้

ธาตุดิน คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต ที่มีลักษณะเป็นของแข็ง มีความคงรูป 20 ชนิด คือ เล็บ ฟัน หนัง ผม ขน เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า และเยื่อในสมอง

ธาตุน้ำ คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต ที่มีลักษณะไหลไปไหลมา ซึมซับทั่วร่างกายมี 12 ชนิด คือ น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ มันเหลว มันข้น น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ และน้ำมูตร

ธาตุลม คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต ที่มีลักษณะเคลื่อนไหวได้ มีคุณสมบัติคือความเบา เป็นสิ่งที่ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว ธาตุลมมี 6 ชนิด คือ ลมพัดจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน ลมพัดจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง ลมที่พัดในกระเพาะลำไส้ ลมที่พัดทั่วร่างกาย และลมหายใจเข้าออก

ธาตุไฟ คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต ที่มีลักษณะเป็นความร้อน ธาตุไฟมี 4 ชนิด คือ ไฟทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟทำให้ร่างกายระส่ำระสาย ไฟทำให้ร่างกายเหี่ยวแห้งทรุดโทรม และไฟย่อยอาหาร

ในด้านหมอยาไทย ซึ่งอิงความเชื่อในพุทธศาสนาได้กล่าวถึงชีวิตไว้ว่า ธาตุทั้ง 4 มาอยู่รวมกันอย่างถูกส่วน ทำให้เกิดมนุษย์ สัตว์ และพืชขึ้น แม้ธาตุทั้ง 4 จะเที่ยงแท้และดำรงอยู่ชั่วนิรันดร แต่การประชุมกันของธาตุทั้ง 4 ทำให้เกิดการเจ็บป่วย การแยกตัวจากกันของธาตุทั้ง 4 ทำให้ชีวิตถึงแก่ความตาย

สาเหตุของการเจ็บป่วยในทฤษฎีการแพทย์แผนไทยนั้นมี 6 ประการ คือ มูลเหตุเกิดจากธาตุทั้ง 4 จากอิทธิพลของฤดูกาล เกิดจากธาตุที่เปลี่ยนไปตามวัย จากดินที่อยู่อาศัยและจากอิทธิพลของกาลเวลาและสุริยจักรวาล ประการสุดท้ายเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัว

ในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์นั้นได้กล่าวว่า ความไม่สมดุลของธาตุทั้ง 4 เป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยเชื่อว่า ธาตุทั้ง 4 จะต้องอยู่ในภาวะไม่สมดุลกับร่างกาย

คือดินต้องอาศัยน้ำ ทำให้ชุ่มและเต่งตึง อาศัยลมพยุงให้คงรูปและเคลื่อนไหว อาศัยไฟทำให้พลังงานอุ่นไว้ไม่ให้เน่า น้ำต้องอาศัยดินเป็นที่เกาะกุม ซับไว้มิให้ไหลเหือดแห้งไปจากที่ควรอยู่ อาศัยลมนำน้ำไหลซึมซับทั่วร่างกาย ลมต้องอาศัยน้ำและดินเป็นที่อาศัย นำพาพลังไปในที่ต่างๆ ดินปะทะลมสามารถทำให้เกิดการเคลื่อนที่แต่พอเหมาะ ไฟทำให้ลมเคลื่อนที่ไปได้ ในขณะที่ลมสามารถทำให้ไฟลุกโชน เผาผลาญมากขึ้นได้

ขบวนการพลวัตของร่างกายนั้น เห็นได้ว่าธาตุทั้ง 4 ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดย่อมไม่ได้ ซึ่งหากธาตุใดธาตุหนึ่งแปรปรวนไม่ปกติทำให้เกิดการเสียความสมดุล ร่างกายจะเกิดอาการป่วยไข้ขึ้นมาทันที

ฤดูกาลก็เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์กล่าวว่าเป็นสาเหตุจากธาตุเกิดผลกระทบ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เพราะรอยต่อระหว่างฤดูกาล เช่น ฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ความเย็นในร่างกายจะเจือผ่านออกไป และความร้อนเริ่มเจือผ่านเข้ามา ฤดูร้อนต่อฤดูฝน ความร้อนในร่างกายจะเจือผ่านออกไป มีผลต่อธาตุลมแทรกเข้ามากระทบความร้อนด้วย เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ละอองฝนปลายฤดูฝนและธาตุลมเปลี่ยนข้าสู่ความเย็น เกิดขณะที่ความหนาวเย็นต้นฤดูหนาวจะเริ่มเจือเข้ามารับลมปลายฤดูฝน สภาวะดังกล่าว หากร่างกายปรับตัวไม่ได้ ธาตุก็เกิดเสียความสมดุล ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น และอาจนำไปสู่ความตายได้ ถ้าธาตุทั้ง 4 เกิดการแยกจากกัน

ส่วนในประเด็นอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุแห่งการเกิดโรค คืออายุที่เปลี่ยนไปตามวัย ซึ่งหมอยาไทยได้แบ่งวัยมนุษย์ออกเป็น 3 วัย คือ ปฐมวัย อายุตั้งแต่ 0-6 ปี เชื่อว่าโรคเกิดจากธาตุน้ำ ปัจฉิมวัย อายุตั้งแต่ 6-32 ปี เชื่อว่าโรคเกิดจากธาตุไฟ และปัจฉิมวัย คือมีอายุมากกว่า 32 ปีขึ้นไป เชื่อว่าเกิดโรคในธาตุลม

สถานที่อยู่อาศัยก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดการเจ็บป่วย เพราะขาดที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมอยาไทยเรียกว่าประเทศสมมติฐาน เช่น ประเทศร้อน สถานที่ที่เป็นภูเขา และที่ราบสูง มักเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ ประเทศเย็นมีฝนตก โคลนตม พื้นแผ่นดินชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา มักเจ็บป่วยด้วยธาตุลม ประเทศอุ่น สถานที่ที่เป็นน้ำ มีกรวดทรายประกอบ มักเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ สำหรับประเทศหนาว สถานที่ที่เป็นน้ำเค็ม มีโคลนตมชื้นแฉะ ได้แก่ชายทะเล มักเจ็บป่วยด้วยธาตุดิน

อิทธิพลของกาลเวลา นับเป็นสาเหตุหนึ่งในสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงในระยะรอบหนึ่งวัน การเกิดจันทรุปราคา หรือสุริยุปราคา เพราะกาลเวลาดังกล่าวอาจเกิดน้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของเวลา อิทธิพลของดวงดาว ย่อมมีผลต่อชีวิตได้เช่นกัน

ส่วนพฤติกรรมส่วนตัวนั้น ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งเหมือนกัน เช่น การกินมากกินน้อย การกินอาหารไม่ถูกกับธาตุ การอดข้าวอดน้ำ อดนอน การกลั้นอุจจาระ-ปัสสาวะ การเศร้าโศกเสียใจ มีโทษะ หรือการมีกิจกรรมทางเพศมากเกินไป

โดยที่พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ให้ความสำคัญของธาตุทั้ง 4 เนื้อในตำราได้พยายามอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย โดยเฉพาะในเรื่องการขาดความสมดุลของธาตุอย่างละเอียด และพิสดารมาก รวมถึงการสำแดงอาการออกมาให้เห็นทั้งภายในและภายนอก ซึ่งผู้เป็นหมอยาสามารถวินิจฉัยโรคได้ และสามารถนำมาเจียดยา ดังปรากฏในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์เพื่อนำมารักษาโรคอันเกิดแก่การเปลี่ยนแปลงของธาตุทั้ง 4 ซึ่งไปสู่เป้าหมาย คือยาที่สามารถปรับธาตุทั้ง 4 ให้เกิดความสมดุลและร่างกายเป็นปกติเช่นเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น