ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ -นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เผยผลวิจัยคุณภาพอากาศ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะเด็กนักเรียนประถมและผู้ปกครองไปตรวจในห้องปฏิบัติการพบมีสารก่อมะเร็งปนเปื้อนสูงกว่าในเมือง 3.5 เท่า ขณะที่ความเป็นพิษเพิ่มสูงกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน 2.8 เท่า เชื่อมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการเผา จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งวางแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาจริงจัง หวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
ที่โรงแรมแกรนด์วิว เชียงใหม่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดการสัมมนาเพื่อขยายผลการวิจัยเรื่อง “มลพิษหมอกควันกับสุขภาพของคนในภาคเหนือตอนบน:อันตรายและทางออกสำหรับทุกคน” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยเรื่อง “การขยายผลการวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพสู่ชุมชน เพื่อการเรียนรู้และลดแหล่งกำเนิดฝุ่นในอากาศในชุมชนภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาหมอกควันของจ.เชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนว่า ภาพรวมสถานการณ์ปัญหาในปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถือว่าดีกว่า ซึ่งปัจจัยอาจจะเป็นผลมาจากการที่มีฝนตกลงมา รวมทั้งความชื้นในอากาศที่มีมากกว่าและมีกระแสลมพัดผ่าน
ทั้งนี้ หากแนวโน้มสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ไปจนถึงช่วงสิ้นเดือนมี.ค. เชื่อว่าในปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหารุนแรงถึงขั้นวิกฤต แต่ทั้งนี้แม้ภาพรวมจะถือว่าดีแต่พบว่าพื้นที่ในเขตชนบทหรือนอกเมือง ยังคงมีการเผาในที่โล่งที่เป็นสาเหตุของปัญหาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะต้องเร่งป้องกันแก้ไขโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้ทำการวิจัย โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะของเด็กนักเรียนและผู้ปกครองในพื้นที่ภาคเหนือไปตรวจหาสารตกค้าง พบว่ามีสาร PAHs(Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ที่เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง โดยในเด็กนักเรียนและผู้ปกครองที่อยู่นอกเมือง พบว่า มีสารดังกล่าวในปัสสาวะสูงกว่าเด็กนักเรียนและผู้ปกครองที่อยู่ในเมือง ซึ่งสอดคล้องกับการที่พบว่าในพื้นที่นอกเมืองมีการเผามากกว่าในเมือง
การพบสารดังกล่าว นับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว โดยน่าจะเป็นข้อมูลที่สะท้อนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนัก และร่วมมือกันในการป้องกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
นอกจากนี้ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน มีทั้งผลกระทบอย่างเฉียบพลันและผลกระทบในระยะยาว โดยผลกระทบเฉียบพลันจะเห็นได้ว่า ปีใดที่มีปัญหาผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจจะมีอาการกำเริบขึ้นมาทันที ขณะที่ผลกระทบในระยาว เป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องสารก่อมะเร็งที่มีการสะสมในร่างกาย ซึ่งแม้จะยังไม่เห็นผลในเวลานี้ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันแก้ไขไว้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะไม่ทันท่วงที
“จากข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งปอดของประเทศไทย พบว่าภาคเหนือมีผู้ป่วยมะเร็งปอดในอัตราเฉลี่ยที่มากกว่าทุกภาค ซึ่งจะระบุว่ามีสาเหตุมาจากปัญหาหมอกควันแต่เพียงอย่างเดียวก็คงบอกไม่ได้ แต่ข้อมูลและจากการศึกษาวิจัยในช่วงที่ผ่านมาก็น่าจะพอเป็นภาพสะท้อนให้เห็นและเฝ้าระวังป้องกันไว้ก่อน” รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุวัฒน์ กล่าว
ด้าน ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการวิจัยตรวจการรับสัมผัสสาร PAHs โดยการตรวจปัสสาวะเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาและผู้ปกครองในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ในปี 2553 โดยเก็บตัวอย่างเด็กนักเรียนและผู้ปกครองจำนวน 484 คู่ พบว่ากลุ่มตัวอย่างจากชุมชนนอกเมืองมีการรับสัมผัสสาร PAHs สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างในชุมชนเมืองถึง 3.5 เท่า
ผลการวิจัยในครั้งนี้ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่ได้จากห้องปฏิบัติการที่บอกเตือนว่าพื้นที่ชุมชนนอกเมืองมีการสะสมของสารมลพิษมากกว่า เพราะอยู่ใกล้แหล่งที่มีการก่อสารดังกล่าวมากกว่า โดยอาจเป็นเพราะพื้นที่ชุมชนนอกเมืองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร มีเศษวัสดุเหลือใช้เป็นจำนวนมาก และการเผาเป็นวิธีกำจัดที่ง่าย จึงทำให้มีการเผามากกว่า ดังนั้น ข้อเสนอแนะคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะมีการจัดเก็บและกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ดังกล่าวแทนการเผา
นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังบอกด้วยว่า ในการวิจัยการตรวจสารพิษ PAHs ที่เกาะบนฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ที่ได้ทำการวิจัยล่าสุดยังพบด้วยว่า ความเป็นพิษของสาร PAHs ที่ตรวจพบบนฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 มีความเป็นพิษเพิ่มมากขึ้น 2.8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยที่ได้จะมีการถ่ายทอดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนต่อไป เพื่อนำไปประกอบการวางแผนนโยบายเพื่อขยายผลสู่ประชาชนและเกิดการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
“ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากปัญหาหมอกควันอาจจะยังมองไม่เห็นในเวลานี้ แต่จากผลการวิจัยและข้อมูลที่ได้จากห้องปฏิบัติการพบว่า สาร PAHs เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้ เหมือนกับควันบุหรี่"