xs
xsm
sm
md
lg

“จิ้น”ปัดใช้เงินรัฐแจกบีบี หวั่นสื่อสารกระทบความมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(28 ก.พ.)นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการณีที่กรมการปกครองเตรียมแจกโทรศัพท์มือถือแบล็คเบอรี่ให้นายอำเภอวันที่ 1 เม.ย.โดยมีนายอำเภอทั่วประเทศ 878 คน จนเป็นที่กังขาและจะถูกฝ่ายค้านหยิบยกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ต้องเข้าใจว่าโทรศัพท์หรือเบอร์นายอำเภอมีอยู่ทุกคนอยู่แล้ว จังหวะรอบนี้คือเครื่องเก่ามันเก่าแล้ว ทางบริษัทเอกชนก็เสนอว่าให้ใช้ฟรี ซึ่งเป็นเรื่องของโปรโมชั่นเท่านั้น ดังนั้นวันนี้ควรไปสนใจเรื่องมีการใช้งบประมาณไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่จะดีกว่า
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ไม่ได้ใช้เงินสักบาทในการแจกบีบี ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นข่าวใหญ่ มันเป็นเพียงเทคนิคการส่งเสริมการตลาดของบริษัทผู้ให้บริการ อยากให้ผู้ใช้เป็นยี่ห้อเดียวกัน เพราะเวลาจ่ายเงินก็จ่ายตามปกติอยู่แล้ว ทางกระทรวงมหาดไทยได้โทรศัพท์ฟรีมาให้นายอำเภอก็ดีอยู่แล้ว เพราะเขาทำธุรกิจที่เรียกว่า เบราว์กี้ มหาดไทยใช้หมายเลขโทรศัพท์เป็นหมื่นเครื่อง มันเป็นเรื่องดีที่ผู้ขายเขามีวิธีการขาย หรือส่งเสริมการขาย เป็นเรื่องการส่งเสริมการขาย
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านมองว่าเป็นการซื้อเสียงล่วงหน้าระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับนายอำเภอ นายชวรัตน์หัวเราะก่อนกล่าวว่าไม่อยากตอบมันไร้สาระ
ด้านนายชำนิ บูชาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริมว่า การแจกโทรศัพท์เขาให้กับทุกกระทรวงอยู่แล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเดือนส.ค.2553คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กรณีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนแบรนด์แบล็คเบอร์รี่ หรือบีบี ว่าตัวระบบนั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่มีการบันทึกข้อมูลอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศทำให้กฎหมายไทยไม่สามารถเอาผิด หรือติดตามควบคุมได้ อ้างอิงจากการที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย กลุ่มประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และอินเดีย สั่งห้ามใช้อุปกรณ์ดังกล่าวภายในประเทศโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงเพราะเป็นการส่งข้อมูลของผู้ใช้ในประเทศโดยอัตโนมัติไปจัดเก็บยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ
กทช. เห็นว่า ในส่วนของไทย กทช.ไม่ได้มองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก เพราะไม่มีหน่วยงานใดใช้บีบีในการติดต่อสื่อสารกันเหมือนประเทศที่ห้ามใช้ แต่ห่วงเรื่องข้อมูลที่ส่งถึงกันจะผิดกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือไม่
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในวงการโทรคมนาคมการบางราย มองว่า การสื่อสารผ่านบีบีถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลแม้จะมีการจัดเก็บข้อมูลไว้ในเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงก็สามารถขอดูบันทึกข้อมูลได้ แต่ที่ผ่านมาการใช้บีบีในไทย ไม่พบว่ามีการร้องเรียนถึงพฤติกรรมการใช้งานที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคง ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือค่าใช้บริการค่อนข้างสูง
ขณะที่ทางไอซีที แจ้งว่า การใช้บีบียังไม่ขัดกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ได้มีการจัดเก็บข้อมูลการจราจรไว้
ทั้งนี้ หากพบว่า การใช้บีบีแล้วมีผู้กระทำความผิด ก็สามารถติดตามได้ ส่วนเรื่องดังกล่าวจะกระทบกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงหรือไม่ ต้องสอบถามไปยังหน่วยงานความมั่นคง
อย่างไรก็ตามกรณีนี้ไม่เคยมีฝ่ายความมั่นคง ชี้แจงว่า มีความผิดต่อ กฎหมายความมั่นคงหรือไม่อย่างไร.
กำลังโหลดความคิดเห็น