xs
xsm
sm
md
lg

การล่มสลายนักประชาธิปไตยจอมปลอม

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

“การลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับ” ที่กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไล่เลียงจาก ตูนิเซีย อียิปต์ ไปยังอีกหลายประเทศ ถือเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงความล่มสลายลงของการเมืองปกครองแบบ “ประชาธิปไตยกำมะลอ” ที่ผู้มีอำนาจพยายามจะใช้การเลือกตั้งเป็นเพียงฉากบังหน้า สร้างภาพนักประชาธิปไตย แต่เนื้อหาสาระของการใช้อำนาจ เต็มไปด้วยวิถีแห่งเผด็จการ อำนาจนิยม และบริหารประเทศด้วยผลงานที่ล้มเหลว แม้เพียรพยายามจะยื้อเก้าอี้ผู้นำของตนเองไว้ให้นานที่สุด แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด

“สึนามิในโลกอาหรับ” ครั้งนี้จึงไม่ใช่ความหมายของการโค่นอำมาตย์ อย่างที่นักวิชาการไม่เอาเจ้าบางพวกพยายามโยงใยอย่างสะเปะสะปะ ตรงกันข้าม มันเป็นความล่มสลายของบรรดา “นักประชาธิปไตยจอมปลอม” ยกตัวอย่าง อดีตประธานาธิบดี ไซน์ อัลบาดีน เบน อาลี อดีตผู้นำตูนิเซีย ที่ถูกโค่นลงจากพลังประชาชน จนต้องลี้ภัยไปอยู่ ซาอุดีอาระเบีย และยังมีสภาพเป็นคนป่วยใกล้ตายจากโรคเส้นเลือดในสมอง ในขณะนี้

ครั้งหนึ่ง เบน อาลี ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่อ้างชัยชนะจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นทุกสมัยนับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ก่อนถูกโค่นอำนาจ พรรคของเขากวาดคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 89.62 เปอร์เซ็นต์ แม้การได้มาซึ่งคะแนนดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

“ฮอสนี มูบารัค” เองก็ไม่ได้ต่างจากอดีตประธานาธิบดีเบนอาลี-ผู้นำอียิปต์คนนี้ครองอำนาจทางการเมืองมายาวนาน 30 ปี คว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งมาได้ต่อเนื่องถึง 5 สมัย และกำลังจะใช้การเลือกตั้งสมัยที่ 6 ในการต่ออายุตัวเองบนเก้าอี้ประธานาธิบดีแต่มาเกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นเสียก่อน

มีการกล่าวกันว่า ในการสาบานตนขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยสุดท้าย ที่เขาคว้าชัยมาได้ด้วยคะแนนเสียง 88 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกันยายน พ.ศ. 2548 เขาเคยให้สัญญาจะทำ “การปฏิรูปประเทศ” เพื่อลดกระแสต่อต้านที่มีอยู่ แต่สุดท้ายสิ่งที่ประชาชนอียิปต์ได้รับกลับกลายเป็น “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อพวกพ้องตนเอง” เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปิดช่องไม่ให้ฝ่ายค้าน และพรรคเล็กๆ พรรคเกิดใหม่ ได้มีโอกาสส่งตัวแทนขึ้นชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีได้

วิญญูชนจอมปลอมอย่าง ฮอสนี มูบารัค ก็เหมือนกับผู้นำอีกหลายประเทศ ที่ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง จะวางท่าทีเชิดชูการเลือกตั้ง แม้การเลือกตั้งนั้นๆ จะเต็มไปด้วยการซื้อเสียง แต่พวกเขากลับจะอดรนทนไม่ได้ ถ้าจะต้องนั่งฟังเสียงแท้ๆ ของประชาชนที่ออกมาตรวจสอบ หรือเรียกร้องให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ควรทำ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นคนอย่าง “มูบารัค” ถนัดใช้เครื่องไม้เครื่องมืออย่าง “กฎหมายความมั่นคง” เพื่อสกัดการชุมนุมทุกรูปแบบ ฮอสนี มูบารัค ถือเป็นเซียนตัวยงด้านนี้ทีเดียว เพราะตลอดการครองอำนาจตั้งแต่ปี 2524 จวบจนถูกขับไล่ เขาประกาศใช้ พระราชบัญญัติความมั่นคงมาโดยตลอดเกือบ 30 ปี ต่ออายุมันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ราวกับจะสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว ครอบคลุมประเทศทั้งประเทศไว้

แต่สุดท้ายอาณาจักรแห่งความกลัวดังกล่าวก็พังทลาย เมื่อเกิดการรวมตัวของคนอียิปต์เรือนหมื่นในวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา จากคนไม่กี่หมื่น อียิปต์ประกาศยกระดับการกดดันในอีก 5 วันต่อมาเป็นหลักล้าน และเพิ่มเป็น 2 เท่าทันที ในอีกสองวัน

และตลอดการชุมนุมเช่นกัน ที่รัฐบาลมูบารัคเริ่มหันมาเล่นเกมสกปรกสกัดการชุมนุมของภาคประชาชนทุกรูปแบบ ไล่ตั้งแต่การ “จัดม็อบชนม็อบ” จนมีภาพเผยแพร่ไปทั่วโลกให้ได้เห็นคนชาติเดียวกัน โดยฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายหนุนมูบารัค และอีกฝ่ายเป็นฝ่ายต่อต้าน เข้าตะลุมบอนคว้าปาก้อนหิน ซัดอาวุธใส่กันจนเลือดตกยางออก

แม้แต่การออกมาตรการประชานิยม แบบลดแลกแจกแถมในทันทีที่เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นหนึ่งในเกมที่มูบารัคใช้ติดสินบนประชาชนแบบลมๆ แล้งๆ ล่วงหน้าเพื่อหวังลดทอนกระแสต่อต้าน แต่ทั้งหมดดูเหมือนจะเปล่าประโยชน์

เพราะเมื่อการประท้วงดำเนินมาจนถึง 18 วัน สังเวยชีวิตประชาชนไป 365 คน และผู้บาดเจ็บอีก 5,500 คน กาลอวสานของมูบารัคก็มาถึง เขาจำเป็นต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันอันสำคัญยิ่งจากกองทัพอียิปต์ ที่ประกาศไม่สนับสนุนการใช้กำลังกับประชาชน และประกาศยืนเคียงข้างฝูงชนชาวอียิปต์ที่เรียกร้องให้ประเทศมีการปฏิรูปที่แท้จริง มาเป็นปัจจัยร่วมด้วย

โดยเฉพาะในประเด็นหลังนี้ หนังสือพิมพ์ตะวันตกอย่าง The economist ฉบับล่าสุด ถึงกลับหยิบภาพเหตุการณ์ 36 ชั่วโมงให้หลังการลาออกของมูบารัคเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผู้บัญชาการกองทัพระดับสูงสองท่านวัย 60 ปี ลงไปพบหารือกับแกนนำวัยรุ่น ที่ดำเนินการประท้วงกลางจัตุรัสเสรีภาพ เพื่อรับข้อเสนอ 2 ข้อ ซึ่งก็คือ ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง และจะต้องส่งผ่านอำนาจสู่การปกครองประชาธิปไตย ภายใต้รัฐบาลพลเรือนให้เร็วที่สุด

ดิ อิโคโนมิสต์ อธิบายฉากประทับใจดังกล่าวว่า เป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่ฝูงชนผู้ประท้วงวัยคราวลูก ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้รับเกียรติจากคนคราวพ่อที่มีอำนาจการปกครองสูงสุดในมือขณะนั้น จะให้เกียรติพวกเขาได้ขนาดนี้ (อ่านเพิ่มได้ใน The autumn of the patriarchs, the economist 19 February 2011)

แน่นอน ปรากฏการณ์ในอียิปต์ ตูนิเซีย หรือแม้แต่ในหลายประเทศในโลกอาหรับขณะนี้ กำลังกลายเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักเลือกตั้งในทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยความล้มเหลวในการบริหารปกครองประเทศ แต่เก่งกาจคอร์รัปชัน ช่วยเหลือพวกพ้องโกงกินชาติ ไล่ตั้งแต่การทุจริตชุมชนพอเพียง จนถึงกรณีสวาปาล์มน้ำมัน-การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหวังผลการเลือกตั้งสมัยหน้า ตลอดจนการขายชาติ ทำไทยเสียดินแดนในรัชสมัยปัจจุบันเพียงเพื่อแลกกับการสวมต่อ หากินต่อในกัมพูชา ลำพังที่พูดมา ก็เพียงพอจะทำให้เก้าอี้ผู้นำประเทศสั่นสะเทือน และพังครืนได้ในไม่ช้า ไม่เชื่อก็คอยดูกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น