xs
xsm
sm
md
lg

“ศาลรธน.”ไม่รับตีความ ทูลเกล้าฯร่างแก้ไขพฤหัสฯนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 23 ก.พ.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณากรณีประธานรัฐสภาส่งความเห็นของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา กับคณะรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง(1) ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามร่างรัฐธรรมนูญแกไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช...(มาตรา93-98) และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..)พุทธศักราช ...(มาตรา190 ) ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลฯพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ50 ได้บัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา 291 ว่าให้ทำเป็นญัตติและเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ให้ทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ อีกทั้งใน (7) ก็บัญญัติว่าเมื่อการลงมติเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้วให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 ที่ระบุเกี่ยวกับการให้นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างพ.ร.บ.ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพ.ร.บ.นั้นจากรัฐสภาเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ มาบังคับใช้โดยอนุโลมกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่ได้ให้นำมาตรา 154 ที่บัญญัติเกี่ยวกับกรณีสมาชิกรัฐสภาเห็นว่าร่างพ.ร.บ. นั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้มีการเข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้ข้อความที่ขัดหรือแย้ง หรือร่างพ.ร.บ.นั้นตกไป มาใช้บังคับกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจรับคำร้องของนายสุรพงษ์และคณะไว้วินิจฉัย
อย่างไรก็ตามรายงานข่าวแจ้งว่า คำสั่งไม่รับวินิจฉัยของคณะตุลาการฯมีมติเป็นเอกฉันท์ และยังเห็นว่า เมื่อมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว คำร้องของนายสุรพงษ์ที่ยื่นเพิ่มเติมเข้ามาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 154 กรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ยังไม่ได้มีการแก้ไขมาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในระบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ ให้เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัย เพราะเป็นการยื่นในทำนองเดียวกัน
ก่อนหานั้นที่รัฐสภา นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่22 ก.พ.ได้ไปยื่น เพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 154 เพิ่มเติม โดยเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี 2540และ2550 เปรียบเทียบกันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดถ้านำไปปฏิบัติไม่ได้ความเสียหายก็จะเกิด เผลอๆอาจจะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เท่าที่ทราบศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัย เรื่องดังกล่าว ซึ่งหากวินิจฉัยว่าให้กลับมาใช้แบบเดิม(รัฐธรรมนูญปี 2540 )เกรงว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะต้องยุบสภา.

**“มาร์ค”เผยทูลเกล้าฯแก้รธน.พฤหัสฯนี้
เวลา 16.00 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการนำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาตามที่พรรคเพื่อไทยยืนคัดค้านผ่านประธานรัฐสภาว่า คงจะสามารถนำเข้าทูลเกล้าฯได้ เพราะก่อนหน้านี้ได้ประสานกับประธานรัฐสภาไว้ว่า ถ้ามีการตีความก็ต้องรอชะลอการทูลเกล้าฯ ซึ่งประธานรัฐสภาได้แจ้งให้ตนทราบวันนี้(23 ก.พ.)และนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ ในวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.พ. จากนั้นก็เป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ ส่วนการประสานไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.เพื่อที่จะรองรับนั้น ตนเองจะหารือเป็นการภายใน เพราะต้องถือว่า ยังไม่ได้ประกาศใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น