การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในปี 2524 จุดประกายความหวัง ความโชติช่วงชัชวาล ความสุข ความมั่งคั่งสำหรับคนระยอง หลายสิบปีผ่านไปอุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ภาพฝันที่คนระยองวาดไว้กลับกลายเป็นตรงกันข้าม ดังเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของชาวบ้านที่กำลังทุกข์ทรมานจากผลกระทบในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ว่า
“โรงงานผุดทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเราไม่สามารถอยู่กับมันได้”
“ชายฝั่งทะเลสกปรกเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน ปูปลาหอยที่นี่ไม่ค่อยมีกิน ถึงมีก็ไม่กล้ากิน”
“พืชผลการเกษตรล้มตายหมด คนเริ่มล้มป่วย เด็กนักเรียนอยู่ไม่ได้”
“ผลตรวจเลือดพบสารเบนซินในเลือด”
การขยายอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วจาก 4,000 ไร่เป็น 20,000 ไร่ภายในเวลาแค่ 20 ปี จำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นถึงปีละ 68 แห่งโดยขาดระบบการจัดการมลพิษที่ดีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน จนมีหลักฐานทางวิชาการที่ไม่อาจปฏิเสธได้ชี้ชัดว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานนิคมมาบตาพุดกว่า 13,000 รายป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนัง กระทั่งจังหวัดระยองมีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
ผลการศึกษาของ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ลงมาทำงานวิจัยเรื่อง DNA ของคนระยอง และศึกษามลพิษในมาบตาพุดมากว่า 3 ปี ยืนยันว่าในมาบตาพุดมีสารก่อมะเร็งในอากาศ มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศทั้งในทะเล ตะกอนดิน ใต้ทะเล โดยเฉพาะแถวคลองชักหมวกก็พบโลหะหนักแคดเมียม ปรอท สารหนู ซึ่งสารเหล่านี้ก่อมะเร็ง และจากการตรวจ DNA ในห้องแล็บในกลุ่มตัวอย่างคนระยอง พบว่า DNA ของกลุ่มตัวอย่างมีความผิดปกติสูงประมาณร้อยละ 50 โดยมีระดับความผิดปกติมากน้อยต่างกันไป
“สารพันธุกรรมหรือ DNA ของคนระยอง โดยเฉพาะผู้ใหญ่และเด็กในระยอง พบสถิติที่ผิดปกติสูงมาก สติปัญญาของเด็กก็ต่ำกว่าอายุ แม้แต่หอย ปู ปลา ก็ยังพบว่ามีสารพันธุกรรมผิดปกติเช่นกัน”
เหตุปัจจัยนี้มาบตาพุดจึงกลายเป็นปัญหาซับซ้อน ลึก และขยายวงกว้าง แต่กระนั้นภาครัฐและอุตสาหกรรมก็ยังคงเดินหน้าขยายอุตสาหกรรมต่อไป ไม่ว่าปีแล้วปีเล่าจะมีความพยายามต่อสู้เรียกร้อง แต่เสียงร้องของชาวบ้านก็เหมือนการจุดเทียนเล่มน้อยในความมืดที่ท้ายสุดก็ถูกความมืดกลืนกิน
ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่มีเคยเป็นต้นแบบและความหวังจึงกลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งมลพิษ และนโยบายการบริหารที่ผิดทาง อีกทั้งยังละเลยภารกิจในการกำกับดูแลให้โรงงานมีระบบป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะไม่ทำลายสุขภาวะประชาชน จนกระทั่งเรียกได้ว่าวันนี้คนมาบตาพุดกลายเป็นพลเมืองเคราะห์ร้ายของประเทศไทย เป็นชะตากรรมเลวร้ายที่พวกเขาไม่ได้สร้าง
ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงตระหนักว่าหากไม่รวมกันแล้วก็จะตกอยู่ในภาวะจำยอม ไม่มีปาก ไม่มีเสียง ถูกกระทำจนไม่มีที่ยืน ดังนั้นจึงได้จัดตั้งเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกขึ้นในปี 2538 ต่อสู้เรียกร้องให้ภาครัฐและอุตสาหกรรมให้ความสนใจกับชะตากรรมของชาวบ้านที่ต้องแบกรับ และในปี 2550 พวกเขาแสดงพลังยับยั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาบตาพุดด้วยการจัดเวทีคัดค้านจนรัฐบาลสั่งระงับโครงการฯ
ปี 2552 เครือข่ายได้ใช้ข้อมูลวิชาการเป็นหลักฐานสำคัญจนศาลปกครองตัดสินประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จนนำไปสู่การจัดทำแผนควบคุมมลพิษที่ทุกฝ่ายต้องเดินตาม
แต่ทว่าช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็กลับมีการอนุมัติโครงการ 76 อุตสาหกรรมให้สามารถขยายดำเนินการได้ในมาบตาพุด เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจึงได้ใช้สิทธิประชาชนตามมาตรา 67 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่าบุคคลมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์และคุ้มครองส่งเสริม รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพและคุณภาพของตน ฟ้องร้องศาลปกครองกลาง จนศาลมีคำสั่งระงับ 76 โครงการอุตสาหกรรมที่กำลังขยายไว้เป็นการชั่วคราว
มาตรา 67 วรรค 2 จึงเป็นประเด็นสาธารณะครั้งแรก และเป็นความหวังของชาวบ้านที่ทุกข์ทรมานจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน กลืนกินชีวิตผู้คนที่นั่นทุกวันผันผ่าน เหมือนดังถ้อยคำของลุงน้อย ใจตั้ง ชายชราวัย 70 ปี สมาชิกเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่สะท้อนว่า
“ถ้าไม่ทำวันนี้ ทรัพยากรธรรมชาติหมดไปทุกวัน เกษตรกรทำกินไม่ได้ ลูกหลานจะอยู่อย่างไร”
ไม่ต่างกับเฉลิมพร กล่อมแก้ว ที่เอ่ยความมุ่งมั่นว่าเครือข่ายไม่เคยบอกให้รื้อโรงงาน แต่ต้องทำให้ดี ให้ประชาชนอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน ของเก่ายังไม่ดีก็อย่าเพิ่งทำเพิ่มได้หรือไม่
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจึงไม่เพียงต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนตนเองเท่านั้น ทว่ายังจุดประกายความหวังแก่พื้นที่อื่นๆ ให้ลุกขึ้นสู้ ปกป้องสิทธิของภาคประชาชน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ มีน้ำสะอาดไว้ใช้ เพื่อท้ายสุดจะได้ไม่ต้องตกอยู่ในห้วงทุกขภาวะเช่นเดียวกันกับคนมาบตาพุด
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจึงเป็นเฉกเช่นดวงตะวันของชาวมาบตาพุดที่ถากถางทางสร้างบรรทัดฐานคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ลูกหลานไทยในอนาคต
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช) www.thainhf.org
“โรงงานผุดทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเราไม่สามารถอยู่กับมันได้”
“ชายฝั่งทะเลสกปรกเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน ปูปลาหอยที่นี่ไม่ค่อยมีกิน ถึงมีก็ไม่กล้ากิน”
“พืชผลการเกษตรล้มตายหมด คนเริ่มล้มป่วย เด็กนักเรียนอยู่ไม่ได้”
“ผลตรวจเลือดพบสารเบนซินในเลือด”
การขยายอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วจาก 4,000 ไร่เป็น 20,000 ไร่ภายในเวลาแค่ 20 ปี จำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นถึงปีละ 68 แห่งโดยขาดระบบการจัดการมลพิษที่ดีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน จนมีหลักฐานทางวิชาการที่ไม่อาจปฏิเสธได้ชี้ชัดว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานนิคมมาบตาพุดกว่า 13,000 รายป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนัง กระทั่งจังหวัดระยองมีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
ผลการศึกษาของ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ลงมาทำงานวิจัยเรื่อง DNA ของคนระยอง และศึกษามลพิษในมาบตาพุดมากว่า 3 ปี ยืนยันว่าในมาบตาพุดมีสารก่อมะเร็งในอากาศ มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศทั้งในทะเล ตะกอนดิน ใต้ทะเล โดยเฉพาะแถวคลองชักหมวกก็พบโลหะหนักแคดเมียม ปรอท สารหนู ซึ่งสารเหล่านี้ก่อมะเร็ง และจากการตรวจ DNA ในห้องแล็บในกลุ่มตัวอย่างคนระยอง พบว่า DNA ของกลุ่มตัวอย่างมีความผิดปกติสูงประมาณร้อยละ 50 โดยมีระดับความผิดปกติมากน้อยต่างกันไป
“สารพันธุกรรมหรือ DNA ของคนระยอง โดยเฉพาะผู้ใหญ่และเด็กในระยอง พบสถิติที่ผิดปกติสูงมาก สติปัญญาของเด็กก็ต่ำกว่าอายุ แม้แต่หอย ปู ปลา ก็ยังพบว่ามีสารพันธุกรรมผิดปกติเช่นกัน”
เหตุปัจจัยนี้มาบตาพุดจึงกลายเป็นปัญหาซับซ้อน ลึก และขยายวงกว้าง แต่กระนั้นภาครัฐและอุตสาหกรรมก็ยังคงเดินหน้าขยายอุตสาหกรรมต่อไป ไม่ว่าปีแล้วปีเล่าจะมีความพยายามต่อสู้เรียกร้อง แต่เสียงร้องของชาวบ้านก็เหมือนการจุดเทียนเล่มน้อยในความมืดที่ท้ายสุดก็ถูกความมืดกลืนกิน
ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่มีเคยเป็นต้นแบบและความหวังจึงกลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งมลพิษ และนโยบายการบริหารที่ผิดทาง อีกทั้งยังละเลยภารกิจในการกำกับดูแลให้โรงงานมีระบบป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะไม่ทำลายสุขภาวะประชาชน จนกระทั่งเรียกได้ว่าวันนี้คนมาบตาพุดกลายเป็นพลเมืองเคราะห์ร้ายของประเทศไทย เป็นชะตากรรมเลวร้ายที่พวกเขาไม่ได้สร้าง
ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงตระหนักว่าหากไม่รวมกันแล้วก็จะตกอยู่ในภาวะจำยอม ไม่มีปาก ไม่มีเสียง ถูกกระทำจนไม่มีที่ยืน ดังนั้นจึงได้จัดตั้งเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกขึ้นในปี 2538 ต่อสู้เรียกร้องให้ภาครัฐและอุตสาหกรรมให้ความสนใจกับชะตากรรมของชาวบ้านที่ต้องแบกรับ และในปี 2550 พวกเขาแสดงพลังยับยั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาบตาพุดด้วยการจัดเวทีคัดค้านจนรัฐบาลสั่งระงับโครงการฯ
ปี 2552 เครือข่ายได้ใช้ข้อมูลวิชาการเป็นหลักฐานสำคัญจนศาลปกครองตัดสินประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จนนำไปสู่การจัดทำแผนควบคุมมลพิษที่ทุกฝ่ายต้องเดินตาม
แต่ทว่าช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็กลับมีการอนุมัติโครงการ 76 อุตสาหกรรมให้สามารถขยายดำเนินการได้ในมาบตาพุด เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจึงได้ใช้สิทธิประชาชนตามมาตรา 67 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่าบุคคลมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์และคุ้มครองส่งเสริม รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพและคุณภาพของตน ฟ้องร้องศาลปกครองกลาง จนศาลมีคำสั่งระงับ 76 โครงการอุตสาหกรรมที่กำลังขยายไว้เป็นการชั่วคราว
มาตรา 67 วรรค 2 จึงเป็นประเด็นสาธารณะครั้งแรก และเป็นความหวังของชาวบ้านที่ทุกข์ทรมานจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน กลืนกินชีวิตผู้คนที่นั่นทุกวันผันผ่าน เหมือนดังถ้อยคำของลุงน้อย ใจตั้ง ชายชราวัย 70 ปี สมาชิกเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่สะท้อนว่า
“ถ้าไม่ทำวันนี้ ทรัพยากรธรรมชาติหมดไปทุกวัน เกษตรกรทำกินไม่ได้ ลูกหลานจะอยู่อย่างไร”
ไม่ต่างกับเฉลิมพร กล่อมแก้ว ที่เอ่ยความมุ่งมั่นว่าเครือข่ายไม่เคยบอกให้รื้อโรงงาน แต่ต้องทำให้ดี ให้ประชาชนอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน ของเก่ายังไม่ดีก็อย่าเพิ่งทำเพิ่มได้หรือไม่
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจึงไม่เพียงต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนตนเองเท่านั้น ทว่ายังจุดประกายความหวังแก่พื้นที่อื่นๆ ให้ลุกขึ้นสู้ ปกป้องสิทธิของภาคประชาชน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ มีน้ำสะอาดไว้ใช้ เพื่อท้ายสุดจะได้ไม่ต้องตกอยู่ในห้วงทุกขภาวะเช่นเดียวกันกับคนมาบตาพุด
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจึงเป็นเฉกเช่นดวงตะวันของชาวมาบตาพุดที่ถากถางทางสร้างบรรทัดฐานคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ลูกหลานไทยในอนาคต
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช) www.thainhf.org