xs
xsm
sm
md
lg

ค้าไทย-จีนผ่าน R3a บูมรับโขงแห้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาพันธ์ ลิ่ววัฒนากรณ์
เชียงราย - น้ำโขงแห้งนำเข้าส่งออกเชียงของเพิ่มเกือบ 100%รับถนนR3a ที่หนุนการขนส่งสินค้าที่เสียหายง่าย เผยเฉพาะตุลาฯ 2553-13 กุมภาฯ2554 มียอดการค้าเกิดขึ้นแล้วกว่า 2.5 พันล้านบาท โดยมีผักจากจีน ครองแชมป์นำเข้ามากสุด ขณะที่ธุรกิจต่อเนื่องทยอยผุดรอรับสะพานข้ามโขง 4

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงแห้งลง ทำให้การขนส่งสินค้าของผู้ค้ารายใหญ่ระหว่างไทย-จีนตอนใต้ หันมาใช้การขนส่งทางรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ผ่านชายแดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เข้าถนน R3aไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ระยะทางประมาณ 258 กิโลเมตรแทน อย่างคึกคัก มีเอกชนรายใหญ่ๆ หลายรายขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก เช่น ดอยตุงขนส่ง ธนาธร สปีดอินเตอร์เนชั่นแนลแอร์พอร์ต ฯลฯ โดยเฉพาะการขนส่งด้วยคอนเทนเนอร์เครื่องเย็น มีขึ้นเป็นประจำทุกวัน

ส่งผลให้มูลค่าการค้าผ่านด่านฯเชียงของ เพิ่มจากช่วงก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก จากเดิมที่มีมูลค่าการค้าเกิดขึ้นไม่มากนัก คือ ปี 2546 มีมูลค่าการค้ารวมแค่ 716.765 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 184.558 ล้านบาท นำเข้า 532.207 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปยัง สปป.ลาว จากนั้นในแต่ละปีก็มีมูลค่าการค้าใกล้เคียงกัน คือ ปี 2552 มีมูลค่าการค้ารวม 2,899.371 ล้าบาท แยกเป็นการนำเข้า 986.331 ล้านบาท ส่งออก 1,913.040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.51% กระทั่งปี 2553 มีการค้ารวมมากถึง 4,938.118 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้า 1,731.283 ล้านบาท ส่งออก 3,206.835 ล้านบาท พิ่มมากขึ้นถึง 70.31%

สำหรับสินค้านำเข้ามากที่สุดคือพืชผักจีนมีการนำเข้ากว่า 199,317,767.96 บาท ถ่านหินลิกไนต์ มูลค่า 111,988,800 บาท ดอกไม้และไม้ประดับมูลค่า 95,679,039.34 บาท ผลไม้สดมูลค่า 49,734,267.68 บาท ส่วนการส่งออกมากที่สุดคือน้ำมันดีเซล มูลค่า 612,855,838.97 บาท น้ำมันเบนซิน 203,261,066.29 บาท ผลไม้สด 150,675,395.17 บาท วัสดุก่อสร้าง 101,679,541.55 บาท เนื้อสัตว์แช่แข็งมูลค่า 71,807,457.23 บาท ฯลฯ

ในปีงบประมาณ 2554 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2553 - 13 ก.พ.2554 มีการนำเข้ารวมแล้วกว่า 2,583.292 ล้านบาท โดยแยกเป็นการนำเข้า 628.363 ล้านบาท ส่งออก 1,951.933 ล้านบาท โดยแต่ละเดือนมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นประมาณ 25-50%

นายธนาพันธ์ ลิ่ววัฒนากรณ์ ผู้ช่วยนายด่านศุลกากร อ.เชียงของ กล่าวว่า สาเหตุที่การค้าด้านเชียงของคึกคักเช่นนี้เพราะถนน R3a สะดวกขึ้น และมีแนวโน้มว่ามูลค่าการค้าจะเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ หากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมเชียงของ-ห้วยทราย แล้วเสร็จ ทั้งนี้สินค้าส่งออกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย คือ ลำไยจากภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ฯลฯ ส่งออกวันละกว่า 5 คอนเทนเนอร์ ติดต่อกันมา 1-2 สัปดาห์แล้ว ส่วนสินค้านำเข้ามากๆ ยังคงเป็นประเภทพืชผักเป็นส่วนใหญ่

ด้านนายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า จากอดีตแทบไม่อยากเชื่อว่าการค้าที่ อ.เชียงของ จะคึกคักเช่นนี้ แต่คงเป็นเพราะถนนเชื่อมกับจีนตอนใต้ดีและผู้ประกอบการต้องการขนส่งสินค้าที่อ่อนไหวง่าย เช่น ผัก ผลไม้ ฯลฯ สามารถทำได้สะดวกบนถนน R3a จึงมีการขนส่งกันอย่างคึกคัก โดยสินค้าอ่อนไหวหลายชนิดเมื่อนำมากับรถบรรทุกคอนเทนเนอร์จะเก็บรักษาได้ดีกว่าและไม่บอบช้ำ เมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือในแม่น้ำโขงเข้าทางท่าเรือ อ.เชียงแสน

นายสงวน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเอกชนที่ประกอบกิจการบรรทุกสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ยังคงเป็นเอกชนไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะการแลกเปลี่ยนคอนเทนเนอร์จากรถบรรทุกไทย-จีน ยังคงมีการดำเนินการแค่จุดเดียว คือ ที่เมืองบ่อเต็น-โม่ฮาน ชายแดน สปป.ลาว-จีนตอนใต้ โดยรถบรรทุกไทยจะนำสินค้าไทย เช่น ไก่แช่แข็ง ฯลฯ ที่ขายดีมากจนไม่พอต่อความต้องการของตลาดจีนไปส่ง และนำพืชผัก ผลไม้ ฯลฯ กลับมายังเชียงของด้วยการข้ามฝั่งแม่น้ำโขงด้วยแพขนานยนต์

"เมื่อการขนส่งสินค้าคึกคัก ทำให้ที่เชียงของมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจการไซโลเพื่อรองรับสินค้าทั้งขาเข้าและออกรวมกันถึง 5 แห่งแล้ว แพลนต์ปูนเพิ่มขึ้นเป็น 2 แห่ง ลานสำหรับให้จอดรถบรรทุก 3 แห่ง ที่ท่าเรือยังให้บริการชาร์จไฟแก่คอนเทนเนอร์ตู้เย็นวันละ 700 บาท เพื่อความสะดวกของผู้ประกอบการ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตกิจการประเภทเหล่านี้จะมีเพิ่มมากขึ้น" นายสงวน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เป็นไปตามข้อตกลงไทย-สปป.ลาว-จีน โดยมีเอกชนที่ร่วมทุนกันคือกลุ่ม CR5-KT จากจีนและบริษัทกรุงธนเอ็นจิเนียร์ริ่งของไทย ถือว่าคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายจีนจะรับก่อสร้างตัวสะพานทำให้เราเห็นเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ จำนวนมาก ส่วนเอกชนไทยจะรับก่อสร้างถนนทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว รวม 11 กิโลเมตร โดยเกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลไทย-สปป.ลาว-จีน เพื่อเชื่อมแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ โดยมีมูลค่าการก่อสร้างรวม 44,815,322.13 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าจ้างที่ปรึกษารวม 2,540,366.10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,400 ล้านบาทโดยรัฐบาลไทยและจีนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายประเทศละ 50% กำหนดเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.2553 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 10 ธ.ค.2555 ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น