xs
xsm
sm
md
lg

ก.เกษตรฯรองรับเปิดเส้นทาง R3 ขยายส่งออกผลไม้ลดคชจ.ขนส่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -กระทรวงเกษตรฯ เตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเส้นทาง R3 หลังครม.อนุมัติลงนามพิธีสารฯ การตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยและจีน มุ่งขยายปริมาณและมูลค่าส่งออกผลไม้ไทย และลดค่าใช้จ่ายการขนส่ง ชี้เอื้อประโยชน์ต่อสินค้าเกษตรไทยในอนาคต

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรค (AQSIQ) สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชตั้งแต่ปี 2547 และต่อมาทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องกันที่จะทำความร่วมมือในด้านการขนส่งสินค้าทางบกเส้นทาง R3 และให้ครอบคลุมสินค้าผลไม้โดยเป็นการทำในลักษณะของพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและจีน โดยเส้นทางสาย R3 มีระยะทางประมาณ 1,104 กิโลเมตร เริ่มต้นจากชายแดนไทยที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผ่านเมืองห้วยทราย บ่อแก้ว หลวงน้ำทาบ่อเต็นของลาว เข้าสู่เมือง โม่หาน จิ่งหง เชียงรุ้ง และไปสู่จุดหมายเมืองคุนหมิงของจีน ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำการสำรวจเส้นทาง R3 เพิ่มเติมก่อนการจัดทำและลงนามในพิธีสารเรียบร้อยแล้ว

นายธีระ กล่าวต่ออีกว่า และที่สำคัญจะเพิ่มโอกาสการขยายปริมาณและมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทย ซึ่งไทยสามารถส่งออกผลไม้คุณภาพดีไปจีนได้ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในช่วงปี 2550-2552 ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งส่งออกจำนวน 4,424 , 4,967, 6,875 ล้านบาทตามลำดับ และช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2553 ส่งออกรวม 5,988 ล้านบาท ซึ่งผลไม้ที่ส่งออกมากที่สุดได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว มะม่วง และสำหรับผลไม้แห้งที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ลำไยแห้ง มะขามแห้ง จากสถิติดังกล่าวคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวทางการค้าผลไม้ระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีการส่งออกผ่านเส้นทางบกที่กระทรวงเกษตรฯ เจรจาเปิดเส้นทางทั้งสาย R9 และ R3

ดังนั้น จากเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวข้างต้นทำให้กระทรวงเกษตรฯได้เสนอ เรื่อง “ร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและจีน” เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา เนื่องจากพิธีสารฉบับดังกล่าวไม่เข้าข่ายประเภทหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ให้กระทรวงเกษตรฯ จัดทำร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและจีน 2.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ลงนามในร่างพิธีสารดังกล่าว ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย กับกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรค (AQSIQ) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้ หลังจากการลงนามพิธีสารฯ ซึ่งคาดว่ามีขึ้นให้ทันในช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยมีผลไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมาก คือ ในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคมแล้ว จะช่วยให้ราคาผลไม้ภายในประเทศไม่ตกต่ำ โดยเบื้องต้นฝ่ายจีนได้ยินดีที่จะลงนามย่อในพิธีสารฯไปพลางก่อนที่จะลงนามฉบับจริง เพื่อเปิดเส้นทาง R3 ให้สามารถส่งออกสินค้าระหว่างกันได้ โดยผลไม้ที่ไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปจีนนั้น มี 23 ชนิด โดยผลไม้หลักๆ ที่จะมีการส่งออกมาก เช่น มังคุด ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง มะพร้าว เป็นต้น ซึ่งไทยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรการที่ได้กำหนดไว้ในพิธีสารฯ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับจีนว่าผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนมีคุณภาพ ปลอดจากโรคและศัตรูพืช และไม่มีการปลอมปนผลไม้จากประเทศอื่นระหว่างการขนส่ง โดยมีมาตรการกำกับดูแลก่อนการส่งออก เช่น การตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชก่อนส่งออก การระบุหมายเลขตู้สินค้า และหมายเลขกำกับการปิดผนึกตู้สินค้าโดยจะต้องไม่มีการเปิดตู้สินค้าระหว่างการขนส่งจนกว่าจะถึงด่านปลายทาง นอกจากนี้จะมีการสุ่มตรวจสอบสินค้า ณ ด่านนำเข้าทั้งสองประเทศอีกด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น