xs
xsm
sm
md
lg

ขุนคลังจี20ปิดฉากได้ดีลเก๊ๆหนึ่งอัน ว่าด้วยดัชนีชี้ความไม่สมดุลศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี – ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังจาก 20 ระบบเศรษฐกิจชั้นนำของโลก (จี-20) สามารถบรรลุข้อตกลงหนึ่งรายการซึ่งถูกเย้ยหยันว่าสุดที่จะเก๊ แสนที่จะปลอม ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (19) โดยเป็นประเด็นว่าด้วยกรอบวิธีชี้วัดความไม่สมดุลภายในระบบเศรษฐกิจของโลก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินและจัดการกับปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการปะทุขึ้นมาของวิกฤตโลก

แรงโจมตีต่อข้อตกลงสร้างชุดดัชนีชี้วัดความอสมดุลทางเศรษฐกิจโลก เป็นความสืบเนื่องจากการที่จีนสามารถยับยั้งไม่ให้ที่ประชุมนำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เข้าเป็นหนึ่งในชุดดัชนีดังกล่าว

รมว.คลังฝรั่งเศส คริสทีน ลาการ์ด ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานการเจรจากลุ่มจี 20 กล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าวว่า มีการถกเถียงกันยืดยาวในเรื่องตัวดัชนีที่จะนำมาใช้ โดยเกิดขึ้นหลังจากที่จีน ซึ่งมีความอ่อนไหวพิเศษเกี่ยวกับนโยบายในเรื่องค่าเงินหยวน กับเรื่องดุลการค้า ได้ออกโรงยืนกรานคัดค้านการนำดัชนีบางตัวเข้ารวมอยู่ในชุดดัชนีวัดความอสมดุลดังกล่าวนี้

ขุนคลังแดนน้ำหอมบอกด้วยว่า หากไม่ใช่เพราะประเด็นข้อคัดค้านนี้ ข้อตกลงว่าด้วยเกณฑ์วัดความไม่สมดุลภายในระบบเศรษฐกิจโลกจะกลายเป็นก้าวย่างสำคัญสู่ความร่วมมือเพื่อกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่ดีมากขึ้นในระดับโลก เพราะจะสามารถช่วยป้องกันวิกฤตการเงินโลกรอบใหม่ได้เป็นอย่างดี

ในการนี้ บรรดารมว.คลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติของกลุ่มจี 20 สามารถกำหนดร่วมกันได้ในที่สุดว่า จะใส่ดัชนีตัวใดบ้างไว้ในรายการตัวชี้วัดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้แก่ หมวดของหนี้ภาครัฐกับการขาดดุลทางการคลัง หมวดของเงินออมกับการกู้ยืมในภาคเอกชน หมวดของดุลการค้าและองค์ประกอบอื่นๆ ในเรื่องดุลการชำระเงิน เช่น การไหลเข้าสุทธิของการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจีนยืนยันว่าไม่มีการเอ่ยถึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน หรือทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในการหารือของที่ประชุม
ส่วนรมว.ลาการ์ดบอกว่า “ทุนสำรองฯ ถูกดึงออก” พร้อมกับเสริมด้วยว่า ถึงอย่างไร ข้อตกลงตัวนี้ก็ครอบคลุมถึงกลไกในการนำอัตราแลกเปลี่ยนมาร่วมพิจารณา ในยามที่ทำการประเมินดุลการชำระเงินโดยรวม

รมว.คลังฝรั่งเศสให้อรรถาธิบายว่า การกำหนดดัชนีขึ้นมาแบบนี้มิได้ตั้งใจจะให้เป็นเป้าหมายผูกพัน แต่เพียงแค่ให้นำสู่การร่างกรอบและแนวทางเพื่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มีความสอดคล้องร่วมมือกัน ในอันที่จะลดสภาพการณ์อันบิดเบี้ยว และจะนำสู่กระบวนการประเมินร่วมกันสืบไป

ด้านจีนจับมือบราซิล อัดกลับสหรัฐอเมริกาโดยข้อหาว่า “เงินร้อน”ที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งปวง จนสร้างความเสี่ยงสูงที่จะบ่อนทำลายเสถียรภาพอย่างร้ายแรงนั้น มีต้นตอจากนโยบายการเงินหละหลวมสุดโต่งของธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ ที่ปั้มเงินออกท่วมระบบมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์
เยอรมนีก็ใช่ย่อย ในความเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของยุโรป เยอรมนีนั้นได้คัดค้านความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่จะกำหนดเป้าหมายเชิงตัวเลขในเรื่องของความได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัด
กำลังโหลดความคิดเห็น