xs
xsm
sm
md
lg

ศึกสองแนวรบของรัฐบาลอภิสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อาจจะมีประสบการณ์ในฐานะนักการเมือง และรัฐมนตรีมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ในฐานะผู้นำนั้น นายอภิสิทธิ์ยังขาดประสบการณ์ในเรื่องความเด็ดขาด ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของผู้นำ ในระบอบประชาธิปไตยนั้นความเด็ดขาดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจบนพื้นฐานประชาธิปไตย แต่ในระบอบประชาธิปไตยนั้นความอยู่รอดของผู้นำอย่างมีศักดิ์ศรีและตรรกะนั้นไม่หนทางออกเสมอไป อำนาจอธิปไตยเป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครอง และไม่มีอำนาจอื่นใดสูงกว่านี้แล้ว ดังนั้น โดยสากลแล้วประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยอาศัยกลไกสามประการใน 3 องค์ประกอบของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยอาณาเขต ประชากร รัฐบาล และอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการในการกำหนดทิศทางและผลประโยชน์ของชาติ

ความเด็ดขาดที่นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีไม่มี คือ การตัดสินใจที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ต่างจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แสดงภาวะผู้นำไว้ชัดเจน สามารถเป็นแบบอย่างได้ เช่น เมื่อชนะการเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 18 คน แต่สามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่ด้วยมีเสียงข้างน้อยในสภาจึงประสบปัญหาต่างๆ มากมาย จนต้องตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 12 มกราคม 2519 การยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ไม่ใช่ประเด็นความเด็ดขาด และการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีนขึ้น โดยเดินทางไปกรุงปักกิ่งเมื่อ พ.ศ. 2518 และพบกับเหมา เจ๋อ ตง

ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ แสดงความไม่พอใจและข่มขู่ไทยหลายประการ แต่การเปิดสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับหนึ่งในแกนนำประเทศคอมมิวนิสต์ กลายเป็นผลดีแก่ชาติในขณะนั้น ทั้งยังสร้างผลพวงเป็นประโยชน์อย่างสูงขณะนี้ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีนยุติการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการปิดสถานีวิทยุคอมมิวนิสต์ไทยในจีน เป็นการสนองตอบคำขอของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และผลประโยชน์ระยะยาวหลังจากนั้น สหรัฐฯ เองก็ต้องสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-จีนก่อเกิดประโยชน์มหาศาล

จึงเห็นได้ว่าการรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นเรื่องเหนือสิ่งอื่นใด มิใช่แต่ความกลัวที่จะถูกสหรัฐฯ ข่มขู่ กลัวที่จะถูกสหรัฐฯ ตัดไมตรี

การตัดสินใจเด็ดขาดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีหลายประการ เช่น การออกคำสั่งให้กองทัพไทยสามารถรุกไล่ติดตามข้าศึกที่ระรานไทยลึกเข้าไปในดินแดนข้าศึก 10 กิโลเมตร การสั่งประหยัดไฟฟ้าด้วยการให้สถานเริงรมย์เลิกบริการเวลาเที่ยงคืน การออกกฎกระทรวงการคลัง เอาผิดนางชะม้อย ทิพย์โส เจ้าแม่แชร์น้ำมันชะม้อย และการลดค่าเงินบาทซึ่งนำสู่ความขัดแย้งกับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และกลุ่มนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพล เรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นบทเรียนที่ผู้นำของประเทศจะต้องศึกษาอย่างละเอียด และต้องสร้างหนทางปฏิบัติให้ได้ในเชิงได้กับได้ หากเป็นผลประโยชน์ของชาติโดยส่วนรวม มิใช่ผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

นายอภิสิทธิ์ กำลังทำศึกการเมือง 2 แนวรบ คือ ด้านหนึ่งคือคนเสื้อแดง ที่กำลังกอบกู้อำนาจให้ทักษิณ อีกด้านหนึ่งกำลังต่อสู้กับพันธมิตรฯ ซึ่งขณะนี้กำลังกดดันรัฐบาลอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะพันธมิตรฯ ตั้งข้อเรียกร้องรัฐบาลอันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อำนาจอธิปไตย และบูรณภาพดินแดนของคดี 3 ข้อ คือ ยกเลิกเอ็มโอยู 43 ถอนตัวออกจากยูเนสโก และผลักดันกองกำลังและชุมชนชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่เขตไทย

แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ปฏิเสธพันธมิตรฯ อย่างสิ้นเชิง โดยกล่าวว่าถ้ารัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ประการของพันธมิตรฯ แล้ว ประเทศไทยจะมีโอกาสเสียดินแดน หรืออาจเกิดสงคราม

ผู้เขียนคิดว่า รัฐบาลโดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์มองเห็นว่าการประท้วงของทั้งสองพวกเป็นเกมการเมือง หากว่ายอมอ่อนข้อให้แก่พันธมิตรฯ แล้ว คนเสื้อแดงจะมองว่ารัฐบาลยอมอ่อนข้อให้แก่คนเสื้อเหลือง และจะทุ่มกำลังสร้างแรงกดดันให้มากกว่าที่เคยเป็นมา

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่นายอภิสิทธิ์ต้องชี้แจงให้คนไทยได้รู้ว่า ข้อเรียกร้องของคนเสื้อเหลือง และเสื้อแดง มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน ในการประท้วงของคนเสื้อแดงนั้นจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ และคืนอำนาจปกครองทั้งนิตินัยและพฤตินัยให้กับทักษิณ แต่เสื้อเหลืองกำลังรักษาผลประโยชน์ของชาติ ว่าด้วยบูรณภาพดินแดนและอำนาจอธิปไตยของชาติ

เอ็มโอยู 43 เป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี พ.ศ. 2543 จึงเรียกได้ว่าเป็นสัญญาระหว่างประเทศปี 43 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย แต่มีผู้รู้หลายสถาบัน พิจารณาว่าไทยต้องเสียดินแดนหากยึดเอ็มโอยูฉบับนี้ เพราะมีการใช้ระวางแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 หรือรู้จักกันว่าเป็น ANNEX 1 โดยเนื้อหาสัญญานี้คือการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา โดยมีการอ้างอิงอนุสัญญาที่ทำไว้กับฝรั่งเศสในอดีต และ ANNEX 1 นี้เองคือตัวต้นเหตุแห่งการเสียดินแดนเหลือองค์ปราสาทพระวิหาร

ใน 3 ข้อนั้น ข้อนี้เป็นเอกสารที่เป็นประเด็นสำคัญมากที่สุด ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์สามารถที่จะใช้อำนาจรัฐรื้อฟื้นเจรจาใหม่ และสร้างโครงสร้างการเจรจาใหม่ หรือการที่จะใช้ทัศนะของผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในศาลโลก ที่พิจารณาคดีเขาพระวิหารมาเป็นสมมติฐาน เพราะผู้พิพากษาแต่ละคนที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก 9 เสียง มีทัศนะที่น่าสนใจทางกฎหมาย เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ในคำพิพากษา และไทยบัดนี้ต้องการให้มีการเจรจาโดยไม่ยึดติดกับข้อตกลงในสัญญาที่ไทยทำไว้กับฝรั่งเศส เพราะขณะนั้นสถานการณ์ต่างๆ เอื้ออำนวยให้ฝรั่งเศสเอาเปรียบไทย โดยไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพียงแต่ต้องการผลประโยชน์จากอาณานิคม

และหากจะเกิดสงครามชายแดนเพราะความเจ้าเล่ห์ ความไร้เหตุผล หรือต้องการให้เป็นเกมการเมือง หรือประโยชน์ทางการเมืองของฮุนเซน ก็ให้เป็นไปตามธรรมชาติของสงครามใครเก่งชนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น