xs
xsm
sm
md
lg

"ฮุนเซน”เลือดเข้าตา ดึง “ลาว-ญวน”รบไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสียงปืนที่ยังคงดังอยู่อย่างต่อเนื่องบริเวณชายแดนปราสาทพระวิหาร หลังยูเอ็นเอสซี มีมติสนับสนุนให้ไทย-กัมพูชาเจรจาระดับทวิภาคีผ่านเวทีอาเซียน เป็นเครื่องยืนยันว่ากัมพูชาจะไม่ยุติศึกง่าย ๆ
ยิ่งมีประเด็นการความสมบูรณ์ของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกมาเดิมพันด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่เสือเฒ่าบาดเจ็บอย่างฮุน เซนยอมไม่ได้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ ฮุน เซน เสียรังวัดอย่างรุนแรง เริ่มตั้งแต่การประเมินผิดพลาดว่าถ้าเปิดศึกแล้วจะสามารถยกระดับปัญหาเขตแดนสองประเทศไปสู่เวทีโลก ดึงสหประชาชาติให้ส่งกองกำลังสันติภาพมาประจำการบริเวณพพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร
หักคอให้ไทยยอมถอนทหารออกจากบริเวณดังกล่าว เพื่อปูทางไปสู่การเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งความจริงกัมพูชาควรต้องทำให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2552 แต่ก็ยืดเยื้อคาราคาซังข้ามมาถึงปี 2554 ที่คณะกรรมการมรดกโลกจะประชุมกันในเดือนมิถุนายนนี้
สัญญาณที่ส่งออกมาจากยูเนสโก้ผ่านนางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ที่ระบุว่า มีการแต่งตั้ง นายโคอิชิโร มัตสึอูระ อดีตผู้อำนวยการยูเนสโก เป็นทูตพิเศษเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร โดยนายมัตสึอุระจะเดินทางมากรุงเทพและพนมเปญ เพื่อหารือมาตรการลดความตึงเครียดและส่งเสริมการเจรจาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ปราสาทเขาพระวิหารนั้น แสดงให้เห็นว่า
ผลจากการโจมตีพลเรือนไทยของฮุน เซนได้สะเทือนไปถึงตัวปราสาทพระวิหารที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมากเสียยิ่งกว่ารอยถากของกระสุนปืนจากฝั่งไทย ที่ตอบโต้ไปยังฐานทหารกัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหารเสียอีก
ท่าทีของยูเนสโกที่เล็งเห็นถึงผลกระทบและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในบริเวณปราสาทพระวิหารซึ่งต้องเป็นพื้นที่สันติภาพ ย่อมส่งผลต่อการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชาที่จะมีการประชุมในเดือนมิถุนายนอย่างแน่นอน
ดังนั้น เมื่อทิศทางในเวทีมรดกโลกเริ่มตีบตัน ฮุน เซนย่อมต้องเปิดแนวรบใหม่เพื่อชิงความได้เปรียบ โดยเห็นได้จากการตีปี๊บลากศาลโลกกลับมาพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารอีกครั้ง หวังให้มีการขยายผลคำพิพากษาให้ครอบคลุมถึงเขตแดนสองประเทศด้วย
จะว่าไปแล้วความพยายามที่จะเข้าสู่กระบวนการของศาลโลกนั้น กัมพูชาได้ขู่มาโดยตลอดว่า หากสองประเทศตกลงกันในระดับทวิภาคีไม่ได้ ก็จะให้ศาลโลกพิจารณาคดีนี้อีกครั้ง เกมนี้ของกัมพูชาจึงเป็นไพ่เก่าที่คิดว่าแต้มดีเป็นต่อประเทศไทยซึ่งฮุน เซนถือไว้มานาน จนวันนี้กัมพูชาถูกบีบโดยสถานการณ์ให้ต้องทิ้งไพ่ใบนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเองเพราะเคยชนะคดีมาก่อน
ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศจะต้องเตรียมการรับมืออย่างเท่าทัน รัดกุมและรอบคอบ เพื่อไม่ให้ไทยเพลี่ยงพล้ำ ดีที่สุดคือต้องยับยั้งความพยายามขยายผลไปสู่ศาลโลกของกัมพูชาให้ได้
ไพอีกใบหนึ่งที่ฮุน เซนคิดว่ามีเหนือประเทศไทย คือ การมีประเทศเวียดนามและลาวเป็นภาคีร่วมรบ ซึ่งหากจำกันได้ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เคยออกมาเปิดเผยข้อมูลนี้ผ่านสถานการณ์สู้รบไทย-กัมพูชาไว้ว่า
“การสนับสนุนกำลังต่างๆ ล้วนแต่ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น ผมไม่อยากให้ถึงจุดนั้นเพราะสิ้นเปลือง ดังนั้นเราต้องช่วยกันลดระดับปัญหา เพราะสงครามไม่ใช่จะยิงกันแล้วเลิกง่ายๆ ต้องเอาทหารไปอยู่ตามแนวชายแดนมากขึ้น 2-3 เท่า รวมถึงการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งถือว่าสิ้นเปลือง ยิ่งไปกว่านั้น การทำการรบคงไม่ได้จบในสนาม แต่จะมีปัญหาต่อเนื่องผูกพันกันไปอีกหลายปี โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องสู้รบจากข้อพิพาทกับกัมพูชาที่เป็นประเทศเล็กกว่าประเทศไทย
แต่กัมพูชาเวียดนาม-ลาว มีความร่วมมือกันทุกด้านโดยเฉพาะด้านการทหารด้วยการเป็นภาคีสมาชิกซึ่งกันและกัน แต่ละประเทศจะมีสนธิสัญญาร่วม ถ้าใครเกิดความเดือดร้อน มีปัญหาจะช่วยเหลือกันอย่างไร ซึ่งก็มีเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ซึ่งก็เท่ากับเราอยู่คนเดียว ที่จะต้องต่อสู้และต้องดูแล เราอยู่ในอาเซียน 10 ประเทศ แต่ความช่วยเหลือสนับสนุนใกล้ชิดกันในเรื่องของการทำสงคราม เราไม่ได้อยู่กับเขา ซึ่งเขามีภาคีสมาชิกกันอยู่ แต่ก็ไม่เป็นไร เราสามารถป้องกันประเทศได้อยู่แล้วไม่ต้องเป็นห่วง"
การมีเวียดนามและลาวเป็นภาคีร่วมรบอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กัมพูชาในวันนี้ยังไม่ยอมหยุดยิง แม้ ฮุน เซน ประกาศจำกัดพื้นที่การปะทะแต่ก็ไม่เคยพูดถึงการยุติการปะทะขณะเจรจา แถมยังมีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาอย่างต่อเนื่องว่า เพื่อนภาคีร่วมรบของกัมพูชาอย่างเวียดนาม ได้ส่งทั้งอาวุธและกองกำลังทหารมาช่วยฮุน เซนแล้วอย่างลับ ๆ
โดยข่าวในพื้นที่ไปไกลถึงขั้นว่า การปะทะกันครั้งหลังสุดระหว่างไทย-กัมพูชานั้น มีทหารเวียดนามร่วมลาดตระเวณอยู่กับทหารกัมพูชาด้วย จริงเท็จอย่างไรเป็นเรื่องที่กองทัพต้องเร่งหาคำตอบ
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศต้องเดินหมากคูทางการเมืองระหว่างประเทศให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อไม่ให้ไทยถูกโดดเดี่ยว เพราะแม้ว่าเราจะไม่มีภาคีร่วมรบ แต่การมีภาคีร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการกดทับไม่ให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อได้เช่นเดียวกัน โดยเห็นได้จากการยื่นมือเข้ามาในฐานะครอบครัวอาเซียนเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดที่เกิดขึ้น
สถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ยังมิอาจตัดสินว่าใครแพ้หรือชนะ และไม่มีประโยชน์ที่จะไปคิดถึงชัยชนะในขณะที่ประชาชนของทั้งสองประเทศพ่ายแพ้ยับเยินจากไฟสงคราม
----------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น