ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ถือว่า เป็นการทำหน้าที่ที่มีเกียรติมากในสังคมไทย
ไม่มีใครไม่เชื่อ “คำพูดของอาจารย์”
เนื้อหาคำพูดของอาจารย์จะได้รับความเชื่อถือมาก จะเป็นรองก็แค่ “คำสอนของพระ” เท่านั้น
โดยเฉพาะในอดีต วัดคือโรงเรียน โรงเรียนคือวัด
แม้แต่ในปัจจุบัน โรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศไทย ก็มักมีคำว่าวัดนำหน้า เช่น โรงเรียนวัดประดู่ โรงเรียนวัด...อื่นๆอีกหลายแห่ง
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของคนในสังคมไทย ไม่เคยห่างจากวัด และโรงเรียน
เมื่อบ้านกับเมือง ขยายใหญ่โต กลายเป็นความห่างเหินระหว่างบ้านกับเมือง
วัดและโรงเรียนยังกลาย “ตัวกลาง” เชื่อมโยงความรู้กับคุณธรรมเข้าด้วยกัน
แต่มหาวิทยาลัยที่มีคำขวัญในเรื่อง “ความรู้คู่คุณธรรม”อย่างรามคำแหง กำลังเกิดความมัวหมองด้วยพฤติกรรมของอธิการบดี
โดยเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่องลงโทษไล่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาออกจากราชการ ลงวันที่ 8 ก.พ. 2554 จำนวน 3 ราย ได้แก่
1) นายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2547 ซึ่งจะมีผลทำให้นายรังสรรค์ ต้องคืนบำเหน็จบำนาญย้อนหลัง
2) นายเฉลิมพล ศรีหงส์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2553 มีผลทำให้ต้องคืนบำเหน็จบำนาญย้อนหลัง
3) นายคิม ไชยแสนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ทั้ง 3 รายมีความผิดวินัยร้ายแรงตามที่คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด กรณีความผิดวินัยร้ายแรงทุจริตต่อหน้าที่ ขยายอายุราชการให้กับนายรังสรรค์ แสงสุข ซึ่งดร.สุเมธได้ส่งเรื่องถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความว่ามีอำนาจหรือไม่ และกฤษฎีกาตีความกลับมาว่าเป็นอำนาจของสกอ.ดังนั้นดร.สุเมธ จึงมีคำสั่งดังกล่าว
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ได้กำหนดการกระทำผิดวินัยในกรณีต่อไปนี้ ให้ถือว่า เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ได้แก่
1) การปฏิบัติ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผูอื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเป็นผิดวินัยอย่างร้ายแรง
2) การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวัง รักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
3) การรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
4) การกลั่นแกล้ง การดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง ผู้ร่วมปฏิบัติราชการนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรืแประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
5) การกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
นั่นหมายความ หากมีอาจารย์คนหนึ่ง สมมติว่าชื่อ “ยุทธนา” ทุจริตในการสอบ โดยการทำข้อสอบแทนคนอื่น....ก็ต้องถือว่า มีความผิดวินัยอย่างแรง
มีสิทธิ์โดนไล่เหมือน 3 อาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง!!
ในที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) สมัยสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี 2554 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมจีระ บุญมาก ชั้น 3 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งประกอบด้วยประธานสภาอาจารย์จากมหาวิทยาลัย 22 แห่ง ได้หารือกันถึงแนวทางการร่วมขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพมหาวิทยาลัยในบทบาทของอาจารย์
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ : บทบาทการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารกับสภาคณาจารย์" ว่า การทำงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนการทำผลงานวิจัยน้อยลงมาก
"ครูต้องรู้จักสอนให้ลูกศิษย์มีงานทำ ไม่ใช่สอนเพื่อให้ตัวเองมีงานทำ ผมเป็นหนึ่งในกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เห็นข้อมูลว่าคนไปรับทุน กยศ. มาเรียนเป็นหนี้เสียร่วมครึ่งหนึ่ง และที่ไม่ชำระหนี้เพราะจบมาแล้วไม่มีงานทำ กยศ. ต้องจ่ายค่าทนายเพื่อฟ้องนักศึกษาที่เรียนจบแต่ไม่ชำระหนี้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท”
ศ.ดร.สมบัติขยายความว่า เป็นไปได้ว่า ครูของเราจำนวนมากมีความสามารถในการสอนให้เด็กตกงาน นี่คือประเด็นหนึ่งในปัญหาทางการศึกษาที่มีอยู่จำนวนมาก
แต่การสอนของอาจารย์กลับกลายเป็น “แหล่งผลประโยชน์” ที่ยื้อแย่งกันจนกลายเป็นความขัดแย้งในมหาวิทยาลัย
ส่งผลให้ “อาจารย์บางคนของมหาวิทยาลัยบางแห่ง” ทำข้อสอบให้ลูกศิษย์
การโกงในมหาวิทยาลัยนั้น มีทั้งการโกงทางวิชาการ และการโกงด้านการเงิน
ก่อนหน้านี้ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) มีมติปลดอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ออกจากตำแหน่ง
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา สภามหาวิทยาลัยที่มีนายบุญปลูก ชายเกตุ เป็นนายกสภา มษจ. ได้มีมติปลดนายสุชาติ เมืองแก้ว ออกจากตำแหน่งอธิการบดี มจษ. เนื่องจากเห็นว่ามีการบริหารงานบกพร่อง
“ที่ประชุมมีมติให้นายสุชาติออกจากตำแหน่ง 16 ต่อ 4 เสียง ผมยืนยันว่ามติดังกล่าว เป็นไปด้วยความชอบธรรม โปร่งใส ยุติธรรม อยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง”นายบุญปลูกอธิบาย
นายสุชาติได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2552 โดยก่อนหน้านั้นนายสุชาติรับราชการในสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือทบวงมหาวิทยาลัย (เดิม) มาโดยตลอด จนเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ปี พ.ศ.2551 และมารับตำแหน่งอธิการบดี มจษ.
สาเหตุสำคัญของการปลดเกิดจากนายสุชาติถูกร้องเรียนกล่าวหาเรื่องการบริหารงานที่ไม่โปร่งใสมาเป็นระยะๆ เช่น เรื่องแต่งตั้งข้าราชการระดับ 6 เป็นหัวหน้าสำนักงานอธิการบดี โดยข้ามผู้บริหารระดับ 7-8 เรื่องใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยมาจัดซื้อโต๊ะทำงานราคาแพงถึง 100,000 บาท เรื่องการอนุมัติโครงการตัดสูทสากลให้กับบุคลากร มจษ. โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบ เป็นต้น รวมแล้วทั้งหมด 8 ประเด็น
นั่นจึงทำให้สุชาติ เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็คงต้องเดินตามวิถีทางเช่นนี้เหมือนกัน
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น ยืนยันว่า คำสั่งปลดผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นการดำเนินการไปตามหน้าที่และตามกฎหมาย ภายหลังได้รับการชี้มูลความผิดมาจาก ป.ป.ช. ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ส่งเรื่องไปที่สภามหาวิทยาลัยแล้ว แต่ได้รับคำชี้แจงว่าไม่มีอำนาจดำเนินการ จึงขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ สรุปได้ว่าตนมีอำนาจดำเนินการในกรณีนี้ จึงมีคำสั่งดังกล่าวออกไปทันที
ในการพิทักษ์ความเป็นธรรม ผู้ที่ถูกลงโทษทั้งสามยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ได้ภายใน 30 วัน และหากผลไม่เป็นที่พอใจ ก็ยังมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม เมื่อคำสั่งได้ส่งถึงสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อทราบอย่างเป็นทางการแล้ว อธิการบดีคนปัจจุบันจะต้องพ้นจากราชการทันทีโดยปริยาย ส่วนการแต่งตั้งผู้รักษาการหรือการเลือกอธิการบดีคนใหม่นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงจะดำเนินการต่อไป
รวมทั้งทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคกว่า 40 คนต้องพ้นจากตำแหน่งทันที พร้อมกับคำสั่งการไล่ออกอธิการบดี รศ.คิม ไชยแสนสุข กล่าวแย้งว่า การดำเนินการต่ออายุราชการให้รศ.รังสรรค์ ที่ผ่านมาถูกต้อง และดำเนินการก่อนที่จะมีระเบียบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนอุดมศึกษา (กพอ.)เรื่องการต่ออายุราชการออกมา และเมื่อมีระเบียบดังกล่าวออกมาทีหลัง ได้ดำเนินการโดยถอดถอนการต่ออายุราชการของรศ.รังสรรค์ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกพอ.ฉบับดังกล่าว
แต่การที่ รศ.รังสรรค์ ยังมาทำงานในส่วนของฝ่ายบริหารนั้น เพราะ รศ.รังสรรค์ ได้มาสมัครเป็นลูกจ้าง ดังนั้นจึงแต่งตั้งให้มาทำงานฝ่ายบริหารต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวหลายมหาวิทยาลัยก็ทำกัน
“ผมมองว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะจะมีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ หลังจากตนจะหมดวาระในเดือนมิถุนายนนี้ จึงกลัวว่าหากตนอยู่จนครบวาระ แล้วลงสมัครใหม่ ก็จะไม่มีใครแข่งขันได้ จึงต้องสกัดด้วยวิธีนี้” รศ.คิม อธิบายไปอีกแบบ
ทั้งนี้หากพิจารณาจากรายชื่ออธิการบดี มหาวทิยาลัยรามคำแหงทั้ง 8 คน ถือเป็นข่าวร้ายที่สุดที่รามคำแหงมี 2 อธิการบดีถูกไล่ออกจากตำแหน่ง
อธิบการบดีทั้ง 8 คนของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ประกอบด้วย
1. นายศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2517) , (พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2523)
2. ศ.กำธร พันธุลาภ (พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2521)
3. นายอภิรมย์ ณ นคร (พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2526)
4. รศ.สุขุม นวลสกุล (พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2530)
5. ดร.ธรรมนูญ โสภารัตน์ (พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2532)
6. รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล (พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2537)
7. รศ.รังสรรค์ แสงสุข (พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2550)
8. รศ.คิม ไชยแสนสุข (พ.ศ. 2550 - 2554)
แต่เป็นที่รับรู้กันว่า อธิการบดีส่วนใหญ่จะเป็นทายาททางการเมืองในรามต่อจากอธิการบดีคนก่อนหน้าเสมอ
แปลไทยเป็นไทยก็คือ อธิการบดีคนที่ 8 คือ “ทายาททางการเมือง” อธิการบดีคนที่ 7 หรืออธิการบดีคนที่ 7 เป็น “ทายาททางการเมือง” อธิการบดีคนที่ 6
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญของเครือข่ายแห่งการโกงในมหาวิทยาลัย
โกงทั้งด้านวิชาการ และโกงเพื่อเงิน !!