xs
xsm
sm
md
lg

รัฐแพ้คดีคลองด่านเสียค่าโง่7พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คณะอนุญาโตตุลาการ ตัดสินชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าโง่โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านให้เอกชน 7,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ได้นำสืบสัญญาตกเป็นโมฆะ นักกฎหมายแนะยกผลคดีอาญาที่พิพากษาให้ฝ่ายเอกชนร่วมกันฉ้อโกงและสัญญาตกเป็นโมฆะคัดค้านคำตัดสิน

แหล่งข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คณะอนุญาโตตุลาการ ที่มีนายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ เป็นประธาน ได้พิจารณาตัดสินข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2554 ที่ผ่านมา โดยข้อพิพาทนี้กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ผู้เรียกร้อง กล่าวอ้างว่า กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในฐานะคู่สัญญา ได้ปฏิบัติผิดสัญญา 9 ข้อ เช่น ผิดนัดไม่ชำระเงินค่างวดงานหลายงวด ฯลฯ และมีคำขอให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินตามสัญญาตลอดจนคืนหลักประกันต่างๆ ให้แก่ผู้เสนอข้อพิพาท

ในคำตัดสินคณะอนุญาโตฯ ได้ชี้ขาดให้ กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้อง เป็นเงิน 4,983,342,383 บาท 31,035,780 เหรียญสหรัฐฯ ให้แก่ผู้เรียกร้อง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 4,424,099,982 บาท และของเงิน 26,434,636 เหรียญสหรัฐฯ นับแต่วันที่ 28 ก.พ. 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และคืนหนังสือค้ำประกันพร้อมค่าธรรมเนียมและจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้เรียกร้อง เป็นเงิน 6 ล้านบาท จนกว่าจะคืนหนังสือค้ำประกันให้ผู้เรียกร้อง ข้อเรียกร้องนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกข้อเรียกร้องแย้ง

ทั้งนี้ แม้ผลตัดสินข้อพิพาท จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่เรื่องได้ถูกเก็บเงียบ โดยกรมควบคุมมลพิษ เพิ่งรายงานต่อรมว.กระทรวงทรัพยากรฯ เมื่อ 2- 3 วันที่ผ่านมา

สำหรับฝ่ายเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างฯ ที่ยื่นข้อพิพาท ประกอบด้วย บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัทสี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, บริษัทกรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัทสมุทรปราการ ออฟเปอร์เรทติ้ง จำกัด โดยได้ยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตฯ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2546 โดยข้อพิพาทดังกล่าว คณะอนุญาโตฯ ได้ตั้งประเด็น5 ประเด็น คือ

1.สัญญาพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่

2.สัญญาตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะและข้อเรียกร้องอยู่ในขอบเขตของสัญญา อนุญาโตตุลาการหรือไม่

3.บันทึกข้อตกลง MOA มีผลใช้บังคับได้หรือไม่

4.ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา

5.ผู้คัดค้าน (กรมควบคุมมลพิษ) จะต้องชำระค่าจ้างและค่าเสียหายตามข้อเรียกร้อง และผู้เรียกร้อง จะต้องคืนเงินหรือใช้ค่าเสียหายตามข้อเรียกร้องแย้งให้ผู้คัดค้านหรือไม่

ในประเด็นที่ 1 และ 2 คณะอนุญาโตฯ พิเคราะห์ว่า ข้อพิพาทสัญญาเป็นโมฆะไม่กระทบถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ

ประเด็นที่ 3 บันทึกข้อตกลง MOA ไม่เกิดผลแก่ฝ่ายใด ส่วนประเด็นที่ 4 และ 5 คณะอนุญาโตฯ เห็นว่า กรมควบคุมมลพิษ เป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องจ่ายค่างวดงานแก่ผู้เรียกร้อง

โดยใจความสำคัญที่คณะอนุญาโตฯ ตัดสินชี้ว่า “....แม้ไม่ปรากฏว่างานอันที่ ๓ คืออะไร แต่ก็พอชี้ชัดว่าฝ่ายผู้เรียกร้องได้ส่งมอบงานตามสัญญางวดที่ 55, 56, 57 และ58 แก่ผู้คัดค้าน แต่เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ได้สืบหักล้างหรือสืบปฏิเสธเป็นประการอื่นข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าฝ่ายผู้เรียกร้องได้ส่งมอบงานอันที่ 55, 56, 57 และ 58 แก่ผู้คัดค้านแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงยังว่าได้มีการส่งมอบงานงวดที่ 55, 56, 57 และ 58 แล้วจริง และผู้เรียกร้องนำสืบต่อไปว่า ผู้คัดค้านไม่จ่ายค่างวดงานให้แก่ผู้เรียกร้อง กรณีผู้คัดค้านไม่จ่ายค่างวดงานให้แก่ผู้เรียกร้อง ผู้คัดค้านจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องรับผิดใช้ค่างวดงานตามสัญญาให้ผู้เรียกร้อง ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะโดยไม่ได้อ้างมีเหตุแห่งโมฆะกรรมหรือนำสืบให้เห็นตามที่กล่าวอ้าง รับฟังไม่ได้ว่าสัญญาตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างเป็นโมฆะกรรม....”
นายณกฤต เศวตนันทน์ กรรมการผู้จัดการสำนักงานที่ปรึกษาเจมส์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ สำนักงานทนายความเอกชนที่ได้รับการว่าจ้างจากกรมควบคุมมลพิษ ให้ดำเนินคดีอาญาฐานร่วมกันฉ้อโกงต่อกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและคดีอนุญาโตตุลาการในช่วงต้น ก่อนถูกกรมควบคุมมลพิษ เลิกว่าจ้างในเวลาต่อมา ให้ความเห็นว่า คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ทางกรมควบคุมมลพิษ สามารถยื่นคำคัดค้านโดยใช้คำตัดสินในคดีอาญาที่มีการฟ้องร้องกันที่ศาลแขวงดุสิตขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ได้ เพราะคำตัดสินของศาลชี้ว่า สัญญาตกเป็นโมฆะ มีการกระทำความผิดตาม ป.อาญา มาตรา341 ฐานร่วมกันฉ้อโกง

“ตามหลักตามกฎหมายแพ่งต้องถือตามกฎหมายอาญา ดังนั้นเมื่อศาลแขวงดุสิตได้ตัดสินถึงการกระทำผิดทางอาญาของกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ก็ควรนำคำพิพากษาในคดีอาญาซึ่งมีอยู่ 2 คดีคือ คดีศาลแขวงดุสิต และคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาให้จำคุกนายวัฒนา อัศวเหม ขึ้นมาคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ ภายในกรอบเวลา 90 วันนับจากการตัดสินข้อพิพาท” นายณกฤต กล่าว

สำหรับคณะอนุญาโตตุลาการ พิจารณาคดีนี้ ประกอบด้วย นายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ประธานคณะอนุญาโตตุลาการ, นายเสถียร วงศ์วิเชียร อนุญาโตฯฝ่ายเอกชน และ นายเคียง บุญเพิ่ม อนุญาโตฯ ฝ่ายกรมควบคุมมลพิษ (ตามที่ฝ่ายเอกชนเสนอ) โดยกรมควบคุมมลพิษ มอบอำนาจให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบคดี หลังจากกรมฯ ถอนบริษัทที่ปรึกษาเจมส์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ ออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น