xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.จ่อประมูลด่วนศรีรัช-วงแหวนฯมิ.ย.54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กทพ.เล็งเปิดประมูลด่วนศรีรัช-วงแหวน 1.7 หมื่นล.ในพ.ค.-มิ.ย.54 เผย คณะกก.มาตรา 13 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ35 เริ่มประชุมนัดแรก 9 ก.พ. กำหนดเงื่อนไขTOR รูปแบบ PPP เสร็จใน 2-3 เดือน "ทีวีสิน"แจงบีอีซีแอลได้สิทธิ์เจรจาผลตอบแทนก่อน ภายใต้กรอบราคากลางที่กำหนด เชื่อเอกชนสนใจรายรายเหตุใช้เกณฑ์ตัดสินเป็นธรรม ผลศึกษาระบุค่าผ่านทาง 50 บาท อายุสัญญา 30 ปีเหมาะสมลงทุน

พันโททวีสิน รักกตัญญู ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างทางพิเศษสาย ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร มูลค่า 17,458 ล้านบาท ว่า คณะกรรมการมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน35) จะประชุมในวันที่ 9 ก.พ.2554 เพื่อกำหนดร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน (TOR)ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจะสามารถออกประกาศ TOR เปิดประกวดราคาคัดเลือกผู้ลงทุนได้ภายในเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2554

ทั้งนี้ เชื่อว่าจะมีเอกชนที่มีศักยภาพหลายรายสนใจยื่นข้อเสนอเข้ามาลงทุนแน่นอน เนื่องจากเป็นโครงการที่มีผลตอบแทนน่าสนใจ และวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาทนั้นไม่สูงมากนัก โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเสนอแผนการเงินที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับภาครัฐและค่าผ่านทางที่เป็นธรรมกับประชาชน

พันโททวีสินกล่าวว่า ในการประกวดราคาก่อสร้างจะเปิดกว้างให้กับเอกชนทุกรายที่สนใจ รวมถึงบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีซีแอล ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) หากมีความสนใจก็จะต้องยื่นข้อเสนอร่วมประมูลภายใต้ ทีโออาร์เดียวกัน แต่เนื่องจากสัญญาเดิมระบุให้สิทธิ์กับบีอีซีแอล ได้รับการพิจารณาเป็นรายแรก ซึ่งหลักการคือ หากข้อเสนอของบีอีซีแอลไม่ได้เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดอันดับ 1 จะได้รับสิทธิ์ในการเจรจาต่อรองก่อนโดยบีอีซีแอลต้องปรับผลตอบแทนให้ไม่น้อยกว่ารายที่เสนอเป็นอันดับ1 จึง จะได้รับการคัดเลือก

“หลักการคือ ถ้าบีอีซีแอลเสนอผลตอบแทนดีที่สุดก็ได้ไปเลย แต่ถ้าเสนอมาเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ก็ยังได้สิทธิ์เจรจาก่อน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบราคากลางที่กำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดของภาครัฐ โดยหากการเจรจากับบีอีซีแอลไม่สามารถตกลงกันได้ตามกรอบราคากลางก็จะต้องพิจารณารายอื่นที่ยื่นข้อเสนอดีกว่าต่อไป ซึ่งเงื่อนไขนี้จะต้องเขียนไว้ในทีโออาร์ ด้วยเพื่อความเป็นธรรมกับรายอื่นๆ ที่ต้องการเข้าร่วมประมูล”ผู้ว่าฯกทพ.กล่าว

พันโททวีสินกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบการลงทุนโครงการทางด่วนศรีรัชฯ ด้วยวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ (Public Private Partnership) แบบ BTO หรือ Built – Transfer – Operate โดยให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและโอนให้กทพ.โดยให้เอกชนเป็นผู้บริหาร ซึ่งแบบนี้รัฐจะเป็นเจ้าของโครงการ ส่วนเอกชนจะทำหน้าที่บริหารตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ในสัญญาและแบ่งรายได้กัน

ส่วนกรณีการปรับค่าผ่านทางนั้นจะใช้หลักเกณฑ์เหมือนสัญญาทางด่วนที่มีอยู่ โดยปรับทุกๆ 5 ปี โดยคิดจากดัชนีผู้บริโภค (CPI) ที่เปลี่ยนไปซึ่งยอมรับว่า สัญญาสัมปทานทางด่วนระหว่างกทพ.กับเอกชนก่อนหน้านี้มักมีปัญหาในเรื่องการปรับค่าผ่านทางดังนั้น กทพ.จะนำปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาพิจารณาและปรับปรุงโดยจะระบุไว้ในเงื่อนไขสัญญาทางด่วนศรีรัชฯ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นอีก อย่างไรก็ตามการร่วมทุน PPP กับเอกชน ภาครัฐสามารถควบคุมอัตราค่าผ่านทางได้ โดยกำหนดเงื่อนไขผ่านสัญญา

สำหรับ กรอบวงเงินลงทุนโครงการรวม 27,022 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินลงทุนของภาคเอกชนจำนวน 17,458 ล้านบาท แยกเป็น ค่าก่อสร้าง 17,137 ล้านบาท ค่าทบทวนแบบและควบคุมงาน 321 ล้านบาท รัฐบาลรับผิดชอบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 9,564 ล้านบาท ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร เป็นเส้นทางรองรับและเพิ่มทางเลือกในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในเดือนเม.ย. 2559 โดยผลศึกษาค่าผ่านทางที่เหมาะสมคือ 50 บาท เอกชนบริหารและจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นเวลา 30 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น