xs
xsm
sm
md
lg

4 บริษัทชิงสัมปทานด่วนศรีรัช-วงแหวน โทลล์เวย์-ITD-ซิโน-ไทยขอแบ่งเค้กBECL

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กทพ.เผย 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ซื้อซองชิงสัมปทานด่วนศรีรัช-วงแหวน 1.7 หมื่นล้านบาท โทลล์เวย์-ITD-ซิโน-ไทย เปิดศึกชิงดำกับ BECL เจ้าของสัมปทานทางด่วน เมินเงื่อนไข BECL ได้สิทธิ์เจรจาผลตอบแทนตามสิทธิ์สัญญาเดิมก่อน คาดตัดสินจบเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 54
พันโท ทวีสิน รักกตัญญู ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากที่ กทพ.ได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาเพื่อลงทุนดำเนินโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.7 กม. มูลค่า 17,458 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 18-28 ม.ค.2554 ปรากฏว่ามีเอกชนสนใจซื้อเอกสารประกวดราคาจำนวน 4 ราย คือ 1. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด 2. บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL 3.,บริษัทอิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ 4.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจจากเอกชนค่อนข้างมาก โดยจะให้เวลาจัดทำข้อเสนอประมาณ 60 วัน หรือยื่นข้อเสนอในวันที่18 พ.ค. 2554 ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเสนอแผนการเงินที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับภาครัฐและค่าผ่านทางที่เป็นธรรมกับประชาชน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2554 หรือในต้นปี 2555
กรณีที่ BECL ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) เข้าร่วมประมูลด้วย และตามเงื่อนไขสัญญาเดิมระบุให้สิทธิ์กับ BECL ได้รับการพิจารณาเป็นรายแรกนั้น ในหลักการ คือ หากข้อเสนอของ BECL ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดอันดับ 1 ก็ยังได้รับสิทธิ์ในการเจรจาต่อรองก่อน โดยจะได้รับคัดเลือกก็ต่อเมื่อข้อเสนออยู่ภายใต้กรอบราคากลางเพื่อประโยชน์สูงสุดของภาครัฐ แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ตามกรอบราคากลาง จะพิจารณาผู้เสนอลำดับต่อไปแทน ซึ่งได้ระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้ใน TOR เพื่อให้ผู้ข้าร่วมประมูลทุกรายรับทราบแล้ว เพื่อความเป็นธรรม
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร จะต้องปฎิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ.2535 โดยมีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนฯ ตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ 35เป็นผู้พิจารณา กำหนดยื่นข้อเสนอ 3 ซอง คือ ด้านคุณสมบัติ เทคนิคและผลตอบแทน โดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ Build-Transfer-Operate (BTO) โดยกทพ.รับผิดชอบจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนรับผิดชอบการออกแบบก่อสร้างงานโยธา งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมถึงการบริหาร และบำรุงรักษา โดยเอกชนจะได้รับสิทธิจาก รายได้ค่าผ่านทาง และรายได้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี แล้วแบ่งผลตอบแทนหรือให้ผลประโยชน์แก่รัฐตามที่ได้ตกลงกันในสัญญากำหนดเปิดให้บริการได้ในปี 2559
สำหรับกรอบวงเงินลงทุนโครงการรวม 27,022 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินลงทุนของภาคเอกชนจำนวน 17,458 ล้านบาท แยกเป็น ค่าก่อสร้าง 17,137 ล้านบาท ค่าทบทวนแบบและควบคุมงาน 321 ล้านบาท รัฐบาลรับผิดชอบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 9,564 ล้านบาท ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร เป็นเส้นทางรองรับและเพิ่มทางเลือกในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในเดือนเม.ย.2559 โดยผลศึกษาค่าผ่านทางที่เหมาะสม คือ 50 บาท เอกชนบริหารและจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นเวลา 30 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น