xs
xsm
sm
md
lg

คนรุ่นใหม่ไร้สำนึก ยอมให้รัฐบาลโกงถ้าตัวเองได้ด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (6 ก.พ.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ทัศนคติอันตรายในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ว่าด้วย การยอมรับรัฐบาลทุจริต คอร์รัปชัน แต่ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี ตนเองได้ประโยชน์ด้วย
กรณีศึกษาตัวอย่างจากประชาชนใน 28 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ลพบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร อุดรธานี น่าน เชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล ปัตตานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 3,971 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในช่วง 4 ม.ค. – 5 ก.พ.54 ผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่กลุ่มตัวอย่างได้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง เป็นประจำทุกสัปดาห์
จากการสอบถามถึง การยอมรับรัฐบาลทุจริต คอร์รัปชัน แต่ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้ประโยชน์ด้วย เปรียบเทียบกับการสำรวจช่วง ตุลาคม ปี 2551 ก่อนรัฐบาลอภิสิทธิ์ กับเดือนมกราคม ปี 2554 ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน พบว่า แนวโน้มของประชาชนที่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน แต่ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี ตนเองได้ประโยชน์ยังคงสูงอยู่จากร้อยละ 63.2 ในปี 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 64.0 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า ทั้งผู้ชายไทย และผู้หญิงไทย ส่วนใหญ่ยังคงยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย คือ ร้อยละ 63.8 ของผู้ชาย และร้อยละ 64.1 ของผู้หญิง ที่ยังคงยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชัน แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์
ที่น่าเป็นห่วงคือ แม้แต่กลุ่มเด็ก และเยาวชน ที่เป็นคนรุ่นใหม่ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50.2 และผู้ใหญ่ในทุกช่วงอายุ ส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป ที่ยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชัน แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย
แต่ที่น่าพิจารณา คือ ยิ่งประชาชนมีระดับการศึกษาสูงขึ้น แนวโน้มของคนที่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันลดน้อยต่ำลง คือ ร้อยละ 64.3 ของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 62.0 ของคนที่มีการศึกษาปริญญาตรี และร้อยละ 50.0 ของคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่นแต่ขอให้รัฐบาลนั้นๆ ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดีและตนเอง คือผู้ตอบแบบสอบถามได้ประโยชน์ด้วย
ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ ทัศนคติอันตรายนี้ได้กระจายไปสู่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพแล้ว แม้แต่นักเรียน นักศึกษา เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54.5 ที่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน แม้แต่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 63.1 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 62.0 พ่อค้า นักธุรกิจ ร้อยละ 65.3 เกษตรกรรับจ้างแรงงานทั่วไปร้อยละ 66.8 และแม่บ้าน เกษียณอายุร้อยละ 58.4 ที่ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน แต่ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี ตนเองผู้ตอบแบบสอบถาม ได้ประโยชน์ด้วย
แต่ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนคนภาคกลาง มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.1 และคนกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนรองลงมาเป็นอันดับสอง หรือร้อยละ 67.3 ตามด้วยคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 64.7 และคนภาคเหนือ ร้อยละ 61.8 ที่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนคนภาคใต้ มีน้อยสุด แต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนที่มาก หรือร้อยละ 48.0 ที่จะยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน

**ยอมขายเสียงให้นักการเมืองโกง

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า กลุ่มคนที่ยอมขายเสียงของตนเอง ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.8 ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นได้ แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ ในขณะที่กลุ่มคนที่ไม่ยอมขายเสียง ของตนเวลาเลือกตั้งมีสัดส่วนน้อยกว่าที่จะยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน แต่ก็ยังคงเกินกว่าครึ่ง คือร้อยละ 51.8 ในการสำรวจครั้งนี้
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติอันตรายเช่นนี้ ย่อมจะทำให้ประเทศไทย และประชาชนไม่สามารถหลุดพ้นไปจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้ ทางออก 3 ประการ คือ
1. เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล น่าจะเป็นศูนย์รวมข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของประเทศ เพื่อให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบได้ อย่างน้อยเริ่มได้จากกลุ่มประชาชน คนสังคมออนไลน์ หรือสื่อยุคใหม่ร่วมตรวจสอบ เพราะในเวลานี้หากพิมพ์คำว่า “ทำเนียบรัฐบาล” ค้นในบริการสืบค้น ทางอินเทอร์เน็ต เช่น Google กลับพบลิงค์อันดับแรกๆ ไม่ใช่ลิงค์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลไทย และไม่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหลักธรรมาภิบาลมากเท่าใดนัก
ดังนั้น รัฐบาลจึงน่าจะใช้เวลานี้ ประกาศให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เป็นวาระแห่งชาติ หาทางให้กลไกหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานปปท. สำนักงาน ปปง. และ สำนักงาน ปปช. ร่วมกันทำงานในเชิงรุก ลดทอนทัศนคติอันตรายในหมู่ประชาชนลงไปให้ได้
2. หน่วยงานของรัฐ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ต้องมีฐานข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเปิดเผย และเปิดโอกาสให้มีช่องทางการมีส่วนร่วมตรวจสอบร้องเรียนถึงผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างแท้จริง เช่น อีเมล์ หรือ เว็บบอร์ด
3. ต้องรณรงค์ สร้างการรับรู้ ให้การศึกษา หนุนเสริมความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในหมู่ประชาชน ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ในการปฏิเสธ และเล็งเห็นถึงอันตรายร้ายแรงของการทุจริตคอร์รัปปชัน ทั้งในเชิงนโยบายและในกลุ่มบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดคณะรัฐมนตรี คณะที่ปรึกษารัฐมนตรี และกลุ่มล็อบบี้กลุ่มต่อรองเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เป็นต้น

**ผูกขาดอำนาจ-ศก.ต้นเหตุคอร์รัปชัน

ด้าน ผศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายหัวข้อ “รู้เท่าทันการคอร์รัปชันในสังคมไทย” แก่ผู้อบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 2 ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า การคอร์รัปชันของประเทศไทยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปถึง 2 ฉบับ หรือการจัดตั้งหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชัน เพื่อมาตรวจสอบด้านทุจริตโดยเฉพาะ แต่การคอร์รัปชัน ก็ยังปรากฏอยู่ในประเทศไทยในอัตราที่สูงทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการกระจุกตัวของผลประโยชน์ ในขณะที่เมื่อมีปัญหาคอร์รัปชัน การที่จะเข้าไปแก้ไขเรื่องความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ก็ทำได้ยาก เนื่องจากนักการเมืองไม่ออกนโยบาย เพื่อเข้าไปแก้ไข
ทั้งนี้ คอร์รัปชั่นรูปแบบใหม่ เกิดจากโครงการที่เป็นนโยบาย โดยมีการสร้างเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มธุรกิจของตน หรือให้มูลค่าหุ้นเพิ่มมากขึ้น เช่น การมีนโยบายที่เอื้อต่อการผูกขาด กีดกันคู่แข่งรายใหม่ การลดหย่อนภาษี BOI หรือแม้กระทั่งการลดค่าสัมปทาน
แม้การคอร์รัปชันจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เก่าแทนใหม่” แต่เป็นการเพิ่มรูปแบบการคอร์รัปชันที่หลากหลายมากขึ้น
"คนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกว่า การคอร์รัปชันเป็นเรื่องเฉพาะของคนเลว คนโลภ แต่แท้จริงปัญหาไม่ได้อยู่ที่ คน แต่เป็นเรื่องของระบบ โดยมีปัจจัยที่มีอิทธิพลสนับสนุนกระตุ้นให้เกิดการคอร์รัปชันได้ง่าย นั่นคือการผูกขาดอำนาจ ผูกขาดเศรษฐกิจ ประกอบกับกฏระเบียบข้อบังคับไม่ชัดเจน ต้องอาศัยการตีความ ซึ่งมีช่องว่างในหาประโยชน์ได้มากมาย"
ส่วนมาตราการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ต้องอาศัยมาตรการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนร่วมกัน โดยทางสังคมต้องเข้าไปกำหนดบรรทัดฐานทางจริยธรรม การศึกษา การเฝ้าระวังสาธารณะ พร้อมทั้งสร้างค่านิยม ทัศนคติที่ต้านการคอร์รัปชัน ในขณะที่มาตรการทางด้านกฏหมายต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และต้องทำให้การตีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่คน 10 คนสามารถตีความได้ 10 ความหมาย นั่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า กฏระเบียบเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผล
"ส่วนมาตรการเศรษฐกิจและการเมืองนั้น ต้องส่งเสริมการเปิดเสรีภาพ ลดการแทรกแซง และผูกขาดของอำนาจการตัดสินใจ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดระบบตรวจสอบโดยทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อก่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจอย่างแท้จริง"
กำลังโหลดความคิดเห็น