การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 โดยคณะผู้ก่อการที่ใช้ชื่อว่าคณะราษฎรซึ่งประกอบด้วยคนสองกลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศ กับกลุ่มนายทหาร ซึ่งมีพื้นฐานการศึกษาจากต่างประเทศ แรงจูงใจเกิดจากการได้สัมผัสกับวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เห็นความเจริญก้าวหน้า และสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนในแถบยุโรปตะวันตกมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง จึงเกิดแรงกระตุ้นที่คิดว่าพวกตนและประชาชนคนไทย ควรจะได้มีส่วนร่วมในการปกครอง จนปะทุเป็นการก่อการปฏิวัติสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
คงจำกันได้ว่า ในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะราษฎร ความว่า
“ข้าพเจ้า มีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
และต่อมา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ก็ได้ทรงสละราชสมบัติ โดยมีพระราชหัตถเลขา ความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าเห็นว่า คณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้”
ผมมองย้อนหลังประวัติศาสตร์การปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย เพื่อจะชวนท่านผู้อ่านมาช่วยกันวิเคราะห์วิจารณ์ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ลอกกันมาจากโลกตะวันตก จำหลักลงบนผืนแผ่นดินไทย จาก พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันเกือบแปดทศวรรษแล้ว มีอะไรที่เจริญงอกงามเป็นประชาธิปไตยแบบอารยประเทศทางตะวันตกบ้าง หรือมีแต่การใช้อำนาจสิทธิขาดโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร เยี่ยงที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำรัสไว้
การเมืองการปกครองไทย ถัดจากยุคของคณะผู้ก่อการที่ต่อมาก็แตกแยกแย่งชิงอำนาจกันเอง แล้วกลายเป็นยุคที่ครองอำนาจโดยเผด็จการทหาร ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันรัฐประหาร (โดยไม่เคยมีการปฏิวัติ เพราะปฏิวัติไม่เป็น) แล้วก็ต่อเนื่องกันมาด้วยยุคนายทุนผสมขุนศึก จนในที่สุด ก็พัฒนามาเป็นระบบธุรกิจการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ เคยมีบ้างไหม? ที่ประชาราษฎรเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง ตามอุดมการณ์ที่ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร
การเมืองการปกครองที่ต่อเนื่องมาจากยุคเผด็จการทหาร ถูกยึดครองโดยบรรดานักการเมืองอาชีพที่มาจากชนชั้นกลาง ซึ่งเดิมส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ ครู และนักเคลื่อนไหวมวลชน ต่อมาจึงเริ่มมีพ่อค้า ผู้รับเหมา และนักธุรกิจเข้ามาร่วมผสมโรง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็มีเจ้าของพรรคเป็นนักธุรกิจการเมือง พรรคการเมืองจึงเป็นเหมือนบริษัทจำกัด การเมืองกลายเป็นการลงทุนเพื่อแสวงหาอำนาจรัฐ แล้วใช้อำนาจรัฐที่ได้มาแสวงหาผลประโยชน์กำไรจากงบประมาณแผ่นดิน จากการคอร์รัปชันตามน้ำ กลายเป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่เบียดบังกอบโกยกันเป็นหมื่นล้านแสนล้าน อย่างที่เห็นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ตำแหน่งทางการเมืองกลายเป็นสินค้าผูกขาด และตกทอดเป็นมรดกภายในวงศาคณาญาติของนักการเมืองในแต่ละภูมิภาค โดยประชาชนไม่มีสิทธิเลือก เพราะระบบการเลือกตั้ง ที่ผู้สมัครต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการสร้างฐานคะแนนเสียง เพื่อชนะการเลือกตั้ง
ไม่ว่าจะเลือกตั้งกันกี่ครั้ง ก็จะได้นักการเมืองหน้าเดิมเจ้าเก่า ที่สลับสับเปลี่ยนเพียงสังกัดพรรคที่เปลี่ยนกันเป็นว่าเล่น แล้วแต่ว่าพรรคไหนจะให้ข้อเสนอที่มีผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากัน หรืออาจจะมีหน้าใหม่โผล่มาให้เลือกบ้าง ก็ล้วนแต่วงศาคณาญาติของเจ้าเดิม หรืออย่างน้อยก็เป็นม้าใช้ในคอกที่เลื่อนชั้นมาจากนักการเมืองท้องถิ่น
การเมืองไทยในปัจจุบัน จึงเหมือนมาถึงทางตันแล้ว เพราะพรรคการเมืองที่มีอยู่ไม่กี่พรรค ต่างก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน มาเป็นรัฐบาลเป็นฝ่ายค้าน พรรคละหลายๆครั้งแล้ว บุคลากรที่พอจะเลือกสรรให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็แทบจะไม่มีแล้ว ตัวอย่างชัดๆ ก็คือ ในรัฐสภาขณะนี้ ไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน เพราะพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นฝ่ายค้าน ไม่สามารถจัดคนมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านตามระบบรัฐสภาได้
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จึงน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของระบบการเมืองอันล้มเหลวนี้ ผู้ที่ประกาศในวันรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ว่า ภารกิจเบื้องต้นที่จะเร่งดำเนินการ คือ การยุติการเมืองล้มเหลว และสร้างนิติรัฐ
แต่หลุมดำการเมืองไทย ที่ฉาบล่อด้วยอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งดูดกลืนนายกรัฐมนตรีไทยคนแล้วคนเล่า ก็ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับนายกรัฐมนตรีรูปหล่อภาพลักษณ์ดีท่านนี้ พฤติกรรมการบริหารจัดการบ้านเมือง ที่อาศัยแต่คำพูดพลิกพลิ้วเอาตัวรอดไปวันๆ ไร้ภาวะผู้นำและไม่กล้าตัดสินใจที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม และมิได้สร้างนิติรัฐเพื่อยุติการเมืองล้มเหลว อย่างที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคม สองปีกว่าที่ครองอำนาจรัฐ นายกรัฐมนตรีท่านนี้ ยังคงติดกับอยู่ในอำนาจและผลประโยชน์ และเคลื่อนใกล้ปากเหวหลุมดำการเมืองเข้าไปทุกที
เมื่อจบสิ้นรัฐบาลชุดนี้แล้ว ประเทศไทยเรายังจะทนฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งในระบบเส็งเครงเดิมๆ อีกต่อไปหรือ ถึงเวลาที่ประชาชนจะลุกฮือปฏิวัติ ล้มล้างระบบการเมืองน้ำเน่า และสถาปนาระบบการเมืองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงได้หรือยัง?