xs
xsm
sm
md
lg

ขีดเส้นไอซีที ครม.ให้15วัน แก้สัญญามือถือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "มาร์ค"แจงครม. ให้ไอซีที เจรจาเคลียร์สัมปทานมือถือใน 15 วันให้เป็นตามมาตรา 13 และ22 ของพรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 ก่อนเสนอครม.อีกครั้ง "จุติ" ตั้งปลัดไอซีทีเป็นประธานคณะทำงานเจรจาถกผลประโยชน์ให้กลับไปยึดสัญญาหลัก ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงสิงเทลเข้าหารือนายกฯ ขอโทษกล่าวหารัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (1 ก.พ.) ว่า เรื่องของการแก้สัญญาสัมปทานของบริษัทโทรคมนาคมที่สืบเนื่องมาจากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับความไม่ถูกต้องของสัญญาสัมปทานที่มีการแก้ไข โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้รายงานมาให้ครม.ทราบว่าการแก้ไขสัญญาแต่ละครั้งกับแต่ละบริษัทมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง โดยหลักก็คือกรณีที่เป็นการแก้ไขที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เช่น การเปลี่ยนที่อยู่ ก็ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรา 22 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535และครม.ก็ให้ความเห็นชอบไปได้

ส่วนกรณีการแก้ไขสัญญาในลักษณะซึ่งเป็นสาระสำคัญและกระทบกับประโยชน์ของรัฐ เช่น การไปปรับลดส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งกระทรวงไอซีทีก็รายงานมาว่าจะไปดำเนินการเจรจาเพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยของศาล รวมทั้งของคณะกรรมการกฤษฎีกาและรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยจะไปเจรจาและรายงานกลับมาให้ทราบภายใน 15 วัน ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทีต้องเตรียมมาตรการรองรับหลังจากนี้ถ้ามีผลการเจรจาเป็นอย่างไร ก็จะต้องสามารถดูแลผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐและประชาชนผู้รับบริการได้ด้วย

"การให้กลับไปเจรจาภายใน 15 วัน เป็นข้อเสนอของกระทรวงไอซีที ที่จะต้องเอาเรื่องทั้งหมดไปเจรจา เมื่อเจรจาเสร็จแล้วก็ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยสัญญาไหนเกิดหลังปี 2535 ก็ต้องไปตามมาตรา 13 แต่ว่ากรณีไหนที่เกิดขึ้นก่อนปี 2535 ก็ดำเนินการตามมาตรา 22 ส่วนมาตรการรองรับของกระทรวงไอซีทีนั้น หากการเจรจาไม่สำเร็จ มันก็ต้องมีการตัดสินใจที่ตามมาว่าจะดำเนินการอย่างไรในทางกฎหมาย เพราะผลกระทบอาจจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องเตรียมมาตรการทุกอย่างรองรับไว้ ถ้าการเจรจาไม่มีปัญหาทุกอย่างก็เรียบร้อย ก็ไปทำเป็นสัญญาแล้วก็เดินหน้าต่อ"

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หลักการ ก็คือ เจรจาเพื่อให้ข้อกำหนดในสัญญากลับไปเป็นตามสัญญาเดิม ไม่ใช่แก้ไขในลักษณะซึ่งทำให้รัฐเสียประโยชน์ และทำโดยผิดขั้นตอนไม่ถูกต้องในอดีต โดยยึดผลการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 22 และมาตรา 13ส่วนการจะต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้น ก็เป็นทางเลือกหนึ่งตามกฎหมาย ในที่สุดแล้วถ้าจะมีการดำเนินการอะไรเกี่ยวกับสัญญาจะต้องมีการเสนอตามกฎหมายร่วมทุนอยู่แล้ว

"การแก้ไขมีเป็นสิบสัญญา เพราะกรณีของกสท. ก็มีการแก้ 7ครั้ง มีครั้งเดียวที่เป็นเรื่องไม่ใช่สาระสำคัญ แต่อีก 6 ครั้งก็ต้องมีการเจรจาและต้องดำเนินการทั้งหมด ส่วนที่ว่าส่วนต่างที่หายไปจะต้องเรียกกลับมาหรือไม่ ก็ต้องไปเจรจาเพื่อให้เป็นไปตามนั้น"

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่เอกชนต้องการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการว่า เข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องของการมีข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากสัญญา แต่มันเป็นปัญหาว่าสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนกรณีการทำสัญญาระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม กับกลุ่มทรูภายหลังซื้อกิจการฮัทช์นั้น ต้องรอนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที ส่งรายงานมาก่อน เพราะเข้าใจว่านายจุติได้ตั้งประเด็นข้อกฎหมายให้อัยการพิจารณาอยู่ 3 ประเด็น

ส่วนการพบกับผู้บริหารบริษัท สิงคโปร์เทเลคอม (สิงเทล) นำโดย Group Chief Executive Officer, Chua Sock Koong และ Allen Lew, SingTel CEO Singapore ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นของเอไอเอส เมื่อเวลา 08.00 น.ช่วงเช้าวันที่ 1 ก.พ.นั้น นายกฯ กล่าวว่า ผู้บริหารสิงเทลไม่ได้พูดเฉพาะเจาะจง แต่ชี้แจงว่าเป็นนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรแล้ว และก็ยังมองเห็นศักยภาพของตลาดนี้ แล้วก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งตนก็บอกว่ามี 2 เรื่องที่ต้องมองไปข้างหน้า 1.การขยายตัวของตลาดกับความจำเป็นในการที่จะต้องเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน ก็ยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งรัดเรื่องของ 3G ซึ่งตอนนี้กฎหมายก็ออกมาแล้ว อยู่ระหว่างการเร่งสรรหาคณะกรรมการกสทช. และจะเป็นอำนาจของกสทช.ในการดำเนินการต่อไป 2.บรรดาปัญหาข้อกฎหมายที่ค้างอยู่ ก็บอกว่ารัฐบาลมีหน้าที่รักษากฎหมาย ไม่มีการเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว ส่วนที่มีการแถลงข่าวกล่าวหารัฐบาลก็เห็นว่าเขาจะทำหนังสือขอโทษมาถึงตน

"ในที่ประชุม เขาก็ขอโทษผม และเห็นว่าเขาจะทำหนังสือขอโทษมาอีก ส่วนจะต้องแถลงข่าวเพื่อแก้ข้อกล่าวหาหรือไม่นั้นผมไม่ทราบ แต่เป็นดุลพินิจของเขา"

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที กล่าวว่า ที่ประชุมครม. มีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีที เป็นประธาน กรรมการจะมาจากตัวแทนกระทรวงการคลัง กระทรวงไอซีที สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อนำผลสรุปของคณะกรรมการมาตรา 22และมาตรา13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 ไปเจรจากับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ 3 ราย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ รวมถึงกรณีสัมปทานดาวเทียมของบริษัท ไทยคมเพื่อให้เปลี่ยนไปใช้สัญญาเดิม และนำเข้าครม.อีกครั้งภายใน 15 วัน

คณะทำงานดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายของทีโอที แต่โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าทีโอทีทำเพื่อรักษาสิทธิ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาให้ยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2553 ซึ่งใกล้จะหมดอายุความในวันที่ 26 ก.พ.ที่จะถึงนี้

"ทีโอทีสามารถฟ้องเอกชนได้เลย โดยไม่ต้องรายงานให้ครม.รับทราบเนื่องจากเป็นผลสืบเนื่องจากคำตัดสินของศาล"
กำลังโหลดความคิดเห็น