นายกฯ สั่งไอซีทีเร่งแก้ปม รบ.เลือกปฏิบัติสัมปทานโทรคมนาคม แนะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เกิดความเป็นธรรม ลั่นต้องสรุปผลการแก้สัญญา “เอไอเอส-ดีเทค-ทรูมูฟ” เพื่อให้ ครม.พิจารณาพร้อมกัน ยอมรับเทมาเส็กส่ง “สิงเทล” เข้าพบ แต่ยังไม่สรุปว่าจะให้พบหรือไม่ “กรณ์-จุติ” ยอมรับเข้าพบจริงแต่ไม่ได้ล็อบบี้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่บริษัท สิงเทล สเตรททิจิก อินเวสท์เม้นท์ ซึ่งถือหุ้น 19% ในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เวอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และเป็นเครือข่ายเดียวกับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นใหญ่เอไอเอสจะขอเข้าพบในสัปดาห์หน้า โดยยอมรับว่า มีคนแจ้งให้ทราบว่าสิงเทลจะขอเข้าพบจริง แต่ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว และยังไม่ทราบว่าจะเข้าพบเพื่อหารือในประเด็นใด
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีที่นายจอร์จ เยียว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์เดินทางเข้าพบเมื่อวานนี้ (วันที่ 20 มกราคม 2554) โดยยืนยันว่า ไม่มีการพูดถึงเรื่องของสิงเทลแต่อย่างใด พร้อมเชื่อว่าการดำเนินการของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ไม่ถูกต้อง จะไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะการดำเนินการทั้งหมดเป็นเรื่องข้อกฎหมายของไทย ซึ่งคนที่มาลงทุนทำธุรกิจต้องเคารพกฎหมายของไทย
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าสิงเทลได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาเดียวกับที่คณะกรรมการมาตรา 22 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) มีมติเสียงส่วนใหญ่เสนอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กลับไปจัดเก็บส่วนแบ่งรายได้สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่จากเอไอเอส ในอัตรา 30-35% ตามสัญญาสัมปทานเดิม พร้อมกับให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเอไอเอส ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันอังคารที่ 18 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ตนเองได้สั่งการให้นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที รวบรวมผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 13 และ มาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาพร้อมกันในคราวเดียว เพื่อจะได้เห็นความชัดเจนของตัวระบบ และความชัดเจนว่าจะเป็นธรรม เพื่อให้ไม่มีข้อครหาว่าปฏิบัติไม่เหมือนกันในแต่ละกรณี จะได้ไม่มีข้อครหาว่ากรณีหนึ่งปฏิบัติแบบหนึ่งหรือไม่
“การดำเนินการตามมาตรา 13 และ มาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ในทุกกรณี ไอซีทีกำลังรวบรวมและต้องเสนอคณะรัฐมนตรี ผมก็บอกว่าถ้าสามารถทำได้พร้อมกันทุกกรณีได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อจะได้เห็นความชัดเจนของตัวระบบและความชัดเจนว่าจะเป็นธรรม เพื่อให้ไม่มีข้อครหาว่าปฏิบัติไม่เหมือนกันในแต่ละกรณี และขอให้ดูอย่างระมัดระวังว่าไม่มีกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติไม่เหมือนกันในแต่ละกรณี”
ส่วนกรณีที่ผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 22 กรณีบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีความแตกต่างจากข้อเสนอของเอไอเอส เพราะคณะกรรมการตามมาตรา 22 ไม่ได้เสนอให้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับดีแทคและทรูมูฟ แต่กลับเสนอให้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับเอไอเอส
“ถึงผมบอกว่าทุกกรณีควรจะต้องมาพร้อมกัน เนื่องจากคู่สัญญาเป็นคนคู่สัญญา จึงมักจะเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นจึงได้บอกนายจุติ ไปว่าในเรื่องที่จะมีการเสนอ ครม.ขอให้มาพร้อมกันทั้งระบบ แต่ก็ได้สั่งให้ระวังประเด็นเลือกปฏิบัติ”
ส่วนจุดยืนของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการแก้ไขสัมปทานโทรคมนาคม ที่ไม่ถูกต้องจะยึดตามข้อเสนอของคณะกรรมการตามมาตรา 22 หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรียืนยันมาว่า รัฐบาลจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งหลักของรัฐบาลคือต้องเป็นไปตามกลไกที่มีอยู่ตามกฎหมายว่าเขาเสนอมาอย่างไร และได้ย้ำว่าขอให้ดูอย่างระมัดระวังว่าไม่มีกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติไม่เหมือนกันในแต่ละกรณี
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ตัวแทนบริษัทสิงเทล ขอเข้าพบจริง แต่กรอบการนัดหมายยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากเป็นวาระงานใหม่ ประกอบกับนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการต้องเดินทางเข้าร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมือง ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ จึงต้องดูกำหนดการที่ชัดเจนอีกครั้งว่านายกฯ จะมีเวลาว่างให้สิงเทลเข้าพบหรือไม่
ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ยอมรับว่า ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท สิงเทล เข้าพบตนจริง ช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา ทั้งนี้โดยเป็นการเข้ามาสวัสดีปีใหม่เท่านั้น ไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่อย่างใด
“เขามาพบเพื่อสวัสดีปีใหม่ และมอบของขวัญให้ผมเท่านั้น และการพบกันก็เกิดขึ้นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับสัมปทานเลย ผมเองก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้เขาพูดด้วย ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเวลาผ่านมาตั้ง 3 อาทิตย์แล้ว ทำไมถึงได้มีกระแสข่าวนี้ออกมา”
สำหรับความคืบหน้าการผลสรุปแนวทางการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งคู่สัญญากับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รมว.ไอซีที ระบุว่า คณะกรรมการมาตรา 22 ว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ได้นำส่งให้ตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่อยู่ระหว่างรอผลสรุปของคณะทำงานคู่ขนานของกระทรวงไอซีที ที่ได้มอบหมายให้กลับไปทบทวนรายงานใหม่
อย่างไรก็ตาม การจะนำเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไปนั้น ตนยังไม่สามารถกำหนดวันที่จะนำเสนอได้ชัดเจน แต่ถ้าหากนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ไอซีทีส่งผลสรุปพร้อมกันทั้งหมด ก็ยินดีปฏิบัติตาม
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า สิงเทลได้เดินทางมาพบกับตนเองจริง ซึ่งก็ได้ให้ไปหารือในประเด็นข้อกฎหมายกับไอซีที อย่างไรก็ตามได้ยืนยันไปว่า การแก้สัญญาของสัมปทานโทรศัพท์มือจะยึดผลประโยชน์ของประเทศ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
“ยืนยันว่าการเข้าพบดังกล่าวไม่ได้เป็นการล็อบบี้ตนแต่อย่างใด แต่เป็นการเข้าพบปะพูดคุยเป็นปกติในกรณียังมีปัญหาการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างทีโอที กับเอไอเอส ซึ่งคงจะต้องให้ไอซีที เป็นผู้ชี้แจงความชัดเจน”
สำหรับในส่วนของคดีที่ต้องพิจารณาในมาตรา 22 นั้น รัฐบาลคงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติกับฝ่ายใด เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ส่วนระหว่างนี้จะเข้าพบปะกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีหรือไม่ กระทรวงไอซีทีจะต้องเป็นผู้ชี้แจงดีที่สุด