xs
xsm
sm
md
lg

"บอร์ดทีโอที"เร่งสางข้อพิพาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – บอร์ดทีโอทีเร่งเคลียร์ปัญหาค้าความค่าเอซีกับคู่สัญญาภายใต้สัมปทานกสทที่ทำให้ทีโอทีสูญรายได้ถึง 5 หมื่นล้านบาท ก่อนหมดอายุความเดือนก.พ.นี้ ส่วนปัญหาการแก้ไขสัญญาของเอไอเอส ครั้งที่ 6 และ 7

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานบอร์ดบริษัท ทีโอที กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับคดีฟ้องร้องระหว่างทีโอทีกับผู้ประกอบการเอกชนกว่า 10 คดี โดยประเด็นอยู่ที่คดีที่ผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของ บริษัท กสท โทรคมนาคม ประกอบด้วย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บริษัท ทรูมูฟ และ บริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) หยุดจ่ายค่าเชื่อมต่อเลขหมาย (แอ็คเซ็สชาร์จ หรือเอซี) จำนวน 200 บาทต่อเลขหมายตั้งแต่เดือน 18 พ.ย. 2549 เป็นเหตุให้ทีโอทีเสียรายได้ปีละ 15,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมจนถึงขณะนี้ 50,000 ล้านบาท ซึ่งคดีดังกล่าวจะหมดอายุความในเดือนก.พ.นี้แล้ว

สาเหตุที่ผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้สัมปทาน กสท ไม่ยอมจ่ายค่าเอซีให้ทีโอทีโดยให้เหตุผลว่าจะขอจ่ายเป็นค่าเชื่อมโครงข่าย (อินเตอร์คอนเน็กชั่น ชาร์จ หรือไอซี) แทนตามประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ประกาศใช้ค่าไอซีในอัตรา 1.07 บาทต่อเลขหมาย นอกจากนี้ ยังอ้างว่าการจ่ายทั้งค่าเอซีและค่าไอซีทำให้บริษัทมีรายจ่ายเพิ่มเป็น 2 เท่าซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรมเพราะผู้ประกอบการบางรายที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของทีโอทีไม่ต้องจ่ายค่าเอซี

‘ข้อพิพาทเรื่องค่าเอซีนั้น ทีโอทีได้ตั้งคณะอนุญาโตตุลาการมาดำเนินการแล้ว โดยขั้นตอนเบื้องต้นก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามระบบ แต่ในความเห็นของบอร์ดลงมติว่า ทีโอทีกับ กสท ควรเคลียร์ปัญหากันภายในก่อนไม่ควรมีคดีฟ้องร้องต่อกัน เพราะต่างก็เป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนกัน’

สำหรับการหยุดจ่ายค่าเอซีของผู้ประกอบการภายใต้สัมปทาน กสท ได้ส่งผลต่อผลประกอบการของทีโอทีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะทำให้ทีโอทีสูญเสียรายได้ปีละ 15,000 ล้านบาท จากจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนที่จะได้จากดีแทคมูลค่า 9,400 ล้านบาท ทรู 3,800 ล้านบาท กสท 900 ล้านบาท และ ดีพีซี 400 ล้านบาท

ประธานบอร์ด ทีโอที กล่าวถึงกรณีที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานแนบท้ายครั้งที่ 6 และ 7 เกี่ยวกับการลดส่วนแบ่งรายได้ระบบเติมเงิน (พรีเพด) และการจ่ายค่าใช้โครงข่ายร่วม (โรมมิ่ง) ว่า เป็นอำนาจของคณะกรรมการมาตรา 22 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535(พ.ร.บ.ร่วมทุน) กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งจะมีการนำผลสรุปมูลค่าความเสียหายเข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที
กำลังโหลดความคิดเห็น