xs
xsm
sm
md
lg

การไขปริศนาปรัชญาการแพทย์แผนไทย (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ประทีป ชุมพล


ที่มาและทฤษฎีเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย ได้มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศวิเคราะห์ว่า มาจากทฤษฎีการแพทย์แนวอายุรเวทในศาสนาฮินดู ซึ่งก็เชื่อถือกันมาทั้งที่ความคิดเห็นดังกล่าวมิใช่ข้อสรุปที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่มีใครกล่าวคัดค้าน ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว การแพทย์แผนไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ได้อิทธิพลจากศาสนาฮินดูไม่ว่าไศวนิกายหรือไวษณพนิกาย

จนมาเมื่อได้ศึกษาตำราการแพทย์แผนไทยมีปรัชญาการรักษาในแนวติกิจฉาตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนา มิใช่อายุรเวทในศาสนาฮินดู เพราะตำราดั้งเดิมเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยทุกฉบับไม่เคยปรากฏคำว่า อายุเวทเลยแม้แต่น้อย ยกเว้นคัมภีร์ฉันทศาสตร์เพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่กล่าวถึงธาตุทั้ง 5 แต่เป็นตำราที่เพิ่งเขียนขึ้นใหม่ร้อยกว่าปีเศษมานี้เอง”

อายุรเวท และติกิจฉา คืออะไร?

อายุรเวท มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตสองคำ คือ อายุส หมายถึง ชีวิต การมีชีวิตหรือช่วงเวลาแห่งการมีชีวิต เวท หมายถึง ศาสตร์แห่งชีวิตที่สืบต่อดังกระแสธารแห่งความรู้

อายุเวท เป็นอิทธิพลที่มาจากศาสนาฮินดู ซึ่งเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุ 5 หรือที่เรียกว่า ปัญจมหาภูตะ ได้แก่ ลม คือ วายุ เตโช คือ ไฟ อาโป คือ น้ำ ปฐวี คือ ดิน อากาศ คือ อากาศ

การเกิดขึ้นของธาตุทั้ง 5 ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู อธิบายว่า

“เอกภาพนั้นประกอบด้วยจิตสำนึกที่ไร้รูป เป็นจุดรวมของจิตสำนึกทั้งมวล จากนั้นคลื่นความสั่นที่ละเอียดมากของเสียงที่ใช้โอมหรืออาค (Aum,Ak) ปรากฏขึ้น จากการสั่นสะเทือนอันนั้นมีความว่างเปล่าเกิดขึ้น คือ อากาศ เป็นสิ่งพื้นฐานลำดับแรก จากนั้นความว่างก็เริ่มเคลื่อนไหวอย่างละเอียดและเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะของลม เป็นพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีกลำดับหนึ่ง นั่นก็คือความว่างหรืออากาศ ในขณะที่มีการกระทำจากการเคลื่อนไหวของอากาศ เกิดมีการเสียดสีกันขึ้นทำให้เกิดความร้อน ความร้อนที่เกิดขึ้นแสดงออกมาเป็นไฟ เป็นสิ่งพื้นฐานขึ้นมาอีก จากความร้อนของไฟฟ้าทำให้ส่วนประกอบบางอย่างในอากาศได้ถูกทำลาย และกลายเป็นของเหลวปรากฏเป็นน้ำ เป็นสิ่งพื้นฐานขึ้นมาอีก

เมื่อน้ำเกิดมีการเปลี่ยนแปลงคือแข็งตัวขึ้น เกิด่เป็นอณูของดิน เป็นสิ่งพื้นฐานขึ้นมาอีก จากพื้นฐานดินและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็บังเกิดขึ้นเป็นอาณาจักรพืช สัตว์ และมนุษย์ ดินยังมีสิ่งที่ไร้ชีวิตต่างๆ เช่น แร่ธาตุประกอบอยู่มากมาย ฉะนั้นครรภ์ของสิ่งพื้นฐานทั้ง 5 จึงมีอยู่ในสรรพสิ่งในเอกภาพนี้ และเป็นปฐมกำเนิดจากจิตสำนึกแห่งเอกภาพ ฉะนั้นวัตถุและพลังงานเป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง”

สำหรับติกิจฉา มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี หมายถึงการเยียวยา การรักษา การบำบัดโรคและเวชกรรม ในพุทธศาสนา เชื่อว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 ดังในพระไตรปิฎกทีฆนิกาย มหาวรรค สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมพิจารณาการตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกตินี่ แล โดยความเป็นธาตุว่า อยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม”

อีกทั้งในสุมังคลาวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อรรถกถา เรื่องพรหมชาลสูตร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

“ปฐวีธาตุ มีลักษณะเข้มแข็ง ลักษณะแท้ไม่แปรผัน อาโปธาตุ มีลักษณะไหลไปเตโชธาตุ มีลักษณะร้อน และวาโยธาตุ มีลักษณะเคลื่อนไปมา”

จะเห็นได้ว่า ความเชื่อในพุทธศาสนามีเพียง 4 ธาตุเท่านั้น คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ปรากฏอากาศอันเป็นธาตุที่ 5 อย่างอายุรเวทในศาสนาฮินดู

ในพระไตรปิฎก ส่วนที่เป็นพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาคที่สอง เรื่องเภสัชชขันธกะ ได้กล่าวถึงการรักษาสุขภาพ มีคำว่า ติกิจฉา เท่านั้น ส่วนคำว่า อายุรเวท จะไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก ทั้งที่คำนี้มีใช้ในศาสนาพราหมณ์อยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ในศาสนาฮินดูได้นำอายุรเวทไปใช้ในลักษณะที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่นั้นมา โดยเฉพาะในงานเขียนที่เกี่ยวกับตำรายาของจรกะ (Charaka) เรื่อง Samhita และของสุสรุตะ (Susruta) แต่หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้วถึง 600-700 ปี

มีคำถามว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นำเรื่องธาตุมาจากใด ซึ่งคงไม่ใช่ธาตุทั้ง 5 ในศาสนาพราหมณ์เป็นแน่

ซึ่งความจริงแล้ว พระพุทธองค์ได้นำความเชื่อเรื่องธาตุทั้ง 4 มาจากปรัชญาลัทธิจารวาก ซึ่งเป็นช่วงสมัยเมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้ พระสิทธัตถะกุมารได้ศึกษามาจากสำนักครูทั้ง 6 ซึ่งในพระไตรปิฎกเรียกว่าครูทั้ง 6 ว่าพวกโลกายัต ซึ่งพวกนี้เชื่อว่า โลกประกอบด้วยธาตุ 4

เมื่อธาตุทั้ง 4 มาประชุมกันอย่างถูกสัดส่วนก็เกิดพันธุ์มนุษย์ สัตว์ และต้นไม้ขึ้นมา ธาตุดังกล่าวนั้นมีการเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปรและการเสื่อมสลายในที่สุด โลกายัตหรือลัทธิจารวากได้ปฏิเสธธาตุอากาศ เพราะเชื่อว่าอากาศนั้นรับรู้ด้วยสัมผัสไม่ได้ แต่รู้ด้วยอนุมานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แม้ว่าพระพุทธองค์จะยอมรับเรื่องธาตุ 4 ของลัทธิโลกายัต แต่แนวคิดที่แตกต่างจากความเชื่อในพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในเนื้อหาที่นิกายโลกายัตสอนว่า

“ความสนุกสนานเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางแห่งชีวิตมนุษย์ จิตเป็นแค่เพียงผลิตผลของวัตถุโลกอื่น (โลกหน้า) ไม่มี ความตายคือความหลุดพ้น”

ในตำราการแพทย์แผนไทยดั้งเดิมนั้น ไม่มีคำว่าอายุรเวทปรากฏอยู่เลย และกล่าวถึงธาตุว่ามีเพียง 4 ธาตุเท่านั้น ซึ่งตำราแพทย์แผนไทยนำปรัชญาและแนวคิดมาจากพระไตรปิฎกในพุทธศาสนา และพระคัมภีร์วรโยคสารมีกล่าวถึงคำว่า ติกิจฉา เช่น

“...กล่าวมาด้วยสรรพคุณติกิจฉาวิธี” หรือ “...ลำดับนี้จะกล่าวด้วยอันนะปานะวิธีติกิจฉา...” เป็นต้น

กล่าวได้ว่าพระคัมภีร์วรโยคสาร เป็นบทไขปริศนาปรัชญาการแพทย์แผนไทย ว่ามาจากความเชื่อในพุทธศาสนา และเป็นแนวคิดแบบติกิจฉา ซึ่งมีรายละเอียดจากเรื่องเภสัชชขันธกะ และเรื่องพรรณนาวังติสาการ

พระคัมภีร์วรโยคสาร นอกจากจะมีเนื้อหาปรากฏการณ์รักษาโรคภัยไข้เจ็บตามแนวติกิจฉาแล้ว เนื้อเรื่องยังประกอบด้วยแพทย์ที่มีลักษณะที่ดี เรื่องนิมิต โรค การรักษาโรค การเก็บสมุนไพร และท้ายสุดเป็นเรื่องที่ว่าด้วยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ นับได้ว่าพระคัมภีร์วรโยคสารเป็นตำราทางการแพทย์แผนไทยที่มีคุณค่าเล่มหนึ่ง (ติดตามตอนจบในสัปดาห์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น