หลังจากกระแสท่านอนราบนิ่งทื่อเป็นไม้กระดานตามสถานที่ต่างๆ หรือ ‘แพลงกิ้ง’ (Planking) เข้ามาเยือนเมืองไทยจนเป็นที่ฮือฮา และได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจนคนไทยหันมาถ่ายรูปตัวเองนอนแกล้งตายกันทั่วบ้านทั่วเมือง ก็ได้เกิดภาวะอาฟเตอร์ช็อกหรือแรงสั่นสะเทือนตามหลังกระแสแพลงกิ้งสุดฮิตขึ้นเป็นดอกเห็ด...
โดยมีสารพัดท่าถ่ายรูปถูกค้นคิดขึ้นเพิ่ม เพื่อตอบรับกระแสแพลงกิ้งนี้ ดังจะเห็นได้จากสื่อทั้งหลาย สำหรับในสื่ออินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่มีการตั้งกลุ่มเพื่อทำท่าถ่ายรูปแบบต่างๆ ซึ่งดูจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกที
มาเกาะกระแสขาลงของ ‘แพลงกิ้ง’ ที่จางหายไปอย่างรวดเร็ว และมาดูร้อยแปดท่าถ่ายรูปที่เกิดตามมา และกำลังจะหายตามไปอย่างรวดเร็ว
‘แพลงกิ้ง’ จุดประกาย ไอเดียคนไทยต่อยอดไปไกล
ด้วยกระแสที่แรงและเร็วตามที่เห็นกันผ่านสื่อทั่วไปว่า ทั้งลูกเล็กเด็กแดง คนทั่วไป และเหล่าคนดัง พากันแพลงกิ้งถ่ายรูป จึงไม่น่าแปลกใจนักที่จะเกิดภาวะการ ‘โหนกระแส’ คิดค้นท่าถ่ายรูปที่มีความเป็นรูปแบบหรือแพตเทิร์น (pattern) ในทำนองเดียวกับแพลงกิ้งตามมาอีกจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็น ‘พับเพียบ’, ‘พนมมือ’, ‘เท้าคาง’, ‘ยืนตรง’ และอีกสารพัดจะคิดขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีการเลวิเทติ้ง (Levitating) หรือการถ่ายรูปในลักษณะที่เหมือนตัวลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งเป็นกระแสนำเข้าจากต่างประเทศเช่นกัน โดยได้รับความนิยมในต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว และกำลังมีผู้สนใจมากขึ้น ตามกระแสแพลงกิ้งมาติดๆ ในบ้านเรา
อย่างไรก็ตาม การคิดเพิ่มเติมลูกเล่นในการถ่ายรูป แบบมีแพตเทิร์นนี้ ก็เป็นเรื่องที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความสร้างสรรค์กับการต่อยอดกระแสที่เริ่มเยอะจนเกินไป จนกระทั่งคุณภาพความสร้างสรรค์อาจเริ่มถอยลง กลายเป็นเรื่องเลอะเทอะมั่วซั่วจนเริ่มไม่น่าสนใจ และอาจหายไปในที่สุด เช่นหลายๆ กระแสความนิยมที่ผ่านมาในอดีต
มาดูกันว่าหลังท่าแพลงกิ้งระบาดทั่วบ้านทั่วเมืองไปได้ไม่กี่วัน เกิดท่าใหม่ๆ อะไรมาอีกบ้าง
- Levitating : มีคอนเซ็ปต์ง่ายๆ คือ เท้าไม่แตะพื้น จะได้ภาพเหมือนลอยหรือเหาะอยู่ในอากาศ โดยสามารถสร้างสรรค์ท่าทางต่างๆ ให้ภาพออกมามีเรื่องราวได้
- พับเพียบ : ดัดแปลงกันมาตรงๆ จากกระแสแพลงกิ้ง โดยยึดความเป็นไทยนั่งพับเพียบถ่ายรูป แต่ไม่เน้นสถานที่แปลกและเสี่ยงอย่างแพลงกิ้ง
- พนมมือ : เช่นเดียวกับพับเพียบที่ดัดแปลงแพลงกิ้งมาใส่ความเป็นไทย โดยพนมมือถ่ายรูป
- กราบ : เช่นเดียวกับพับเพียบและพนมมือที่ดัดแปลงแพลงกิ้งมาใส่ความเป็นไทย โดยก้มกราบถ่ายรูป
- topping : เอาสิ่งของต่างๆ วางบนศีรษะแล้วถ่ายรูป โดยใช้สิ่งของอะไรก็ได้
- แพล้งกบ : ทำท่าหกกบแล้วถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ
- เท้าคาง : เท้าคางในอารมณ์ต่างๆ ตามสถานที่ต่างๆ แล้วถ่ายรูป
- ยืนตรง : ยืนตรงถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ
... นอกจากนี้ยังมีท่าอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนที่คิดเพิ่มกันมาอย่างต่อเนื่อง
เกิดขึ้น ฮิตอยู่ และดับไป เป็นธรรมชาติของกระแส
เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้รับความนิยมจนถึงจุดอิ่มตัว ก็ต้องเกิดสิ่งอื่นขึ้นมาทดแทนและค่อยๆ จางหายไปด้วยตัวมันเอง วิริยะ สว่างโชติ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมสมัยนิยม (ป็อป คัลเจอร์ - Pop Culture) ได้ให้ความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นวัฏจักรปกติของป็อป คัลเจอร์ เพราะหลังจากที่ท่าแพลงกิ้งได้รับความนิยมมากขึ้น ก็จะเกิดอาการที่เรียกว่า 'กินตัวเอง' คือ การที่เป็นกระแสมากเกินไปก็จะเป็นการทำลายความนิยมของตัวมันเองไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้คนอยากจะลองหันไปทำท่าอื่นๆ ดูบ้าง
"ความน่าสนใจของปรากฏการณ์นี้ก็คือ มันเป็นป็อป คัลเจอร์ ที่เล่นกับสื่อ แล้วสื่อก็กระโดดเข้าไปเล่นกับมัน การทำแบบนี้มันก็เหมือนกับพวกดนตรีอินดี้ อัลเทอร์เนทีฟ ที่พอเริ่มมีวงดังๆ เกิด 1-2 วง ก็มีวงที่ทำคล้ายๆ กันเกิดขึ้นเต็มไปหมดเลย แล้วสุดท้ายมันก็จะหมดไปด้วยตัวของมันเอง แต่สำหรับกรณีนี้อาจจะแตกต่างออกไป เพราะไม่มีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง”
ฉะนั้นมีโอกาสสูงมากที่กระแสแพลงกิ้งต้นตำรับ รวมทั้งท่าที่เกิดตามหลังมา จะหมดความนิยมไป โดยไม่ต้องให้ใครมาบอกว่า กระแสเหล่านี้จะเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม หรือทำลายวัฒนธรรม เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง ความน่าสนใจหรือความน่าตื่นเต้นของกระแสนี้ก็จะหายไปจากกระแสสื่อ และสุดท้ายคนก็จะลืมมันไปเอง
"ผมคิดว่า แม้จะมีท่าใหม่ๆ เกิดขึ้นก็คงจะหายไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ท่าใหม่ๆ นั้น มันปรากฏผ่านสื่อ ซึ่งผมคิดว่าสักวันหนึ่ง สื่อก็จะไม่เล่นเรื่องนี้ เพราะตอนนี้สื่อทุกฉบับก็เล่นประเด็นนี้ ดังนั้นไม่น่าเกิน 2 สัปดาห์ มันก็จะกินตัวเองหมด เว้นแต่มันจะถูกนำเข้ามาใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือสื่อเข้ามาเล่นกับมันอย่างจริงจัง อย่าง ฟรี รันนิ่ง (Free Running - การวิ่งข้ามสิ่งกีดขวางต่างๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน) ซึ่งดังมากเมื่อ 5-6 ปีก่อน โดยมีกลุ่มคนอังกฤษเป็นผู้ริเริ่ม หลังจากนั้นมาดอนน่าก็เอามาเล่นในหนัง แล้วได้รับความนิยมไปทั่วโลก แม้แต่ในเมืองไทยก็เล่น สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ได้ เพราะมีการพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้องมาก แต่ตัวที่เราเห็นกันอยู่ มองยังไงๆ ก็ไม่น่าจะใช้เชิงการตลาดได้"
ขณะเดียวกัน ในสายตาคนทั่วไปนั้น การทำท่าอื่นๆ รวมทั้งแพลงกิ้งก็เป็นเพียงการเล่นสนุก โดย วิลาสินี แววขุม นักศึกษาปีหนึ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กล่าวว่า บางท่ากลายเป็นท่าที่กลบกระแสแพลงกิ้งไปแล้วด้วยซ้ำอย่างเช่น ท่าพับเพียบ
“ตอนนี้มีกระแสออกมากลบแพลงกิ้งไปแล้ว เรียกว่ากลบอย่างราบคาบเลยนะ อย่างพับเพียบนี่เป็นกระแสประชดที่คนไทยสร้างขึ้นมา มันก็กลบๆ แพลงกิ้งไปหมดแล้ว ตอนที่ทำกันก็เห็นในเน็ตนะว่ามันบ้าจัง ทำท่านอนคว่ำแกล้งตาย แล้วถ่ายรูปลงเน็ต เราก็นึกสนุกเล่นๆ กับเพื่อนไม่ได้ซีเรียสอะไร”
อย่างไรก็ตาม เธอก็ยอมรับว่าทั้งหมดก็ล้วนเป็นเรื่องของกระแสที่ไปเร็วมาเร็ว
“คือเราเข้าใจว่า เรื่องพวกนี้มันเป็นกระแส มันเหมือนแฟชั่นที่มาบูมเร็วดับเร็วมาก ซึ่งมันมีนู่นนี่นั่นออกมาจนเลอะเทอะแล้ว มั่นใจมากว่าไม่เกินอาทิตย์ทุกอย่างจะอันตรธานไปหมด”
……….
กระแสก็คือกระแส ยังคงเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเป็นวังวน ดังเช่นหลายๆ อย่างที่เคยฮอตฮิตในอดีต เมื่อเลิกนิยมกันไปช่วงเวลาหนึ่งเราอาจมองว่ามันแสนจะเห่ย แต่ต่อมามันก็กลายร่างเป็นเรื่องเก๋าๆ และถูกหยิบขึ้นมานิยมอีกครั้ง แค่เพียงเรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์และเปิดรับกระแสอย่างพอดี อีกทั้งเข้าใจธรรมชาติของกระแสความนิยมที่มีมามีไปเป็นปกติ เราก็จะเป็นผู้สร้างและเสพกระแสที่ไม่ตกยุคโดยไม่เหนื่อยหอบเพราะวิ่งตามไม่ทัน…
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK