xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 56 ปีคำขวัญวันเด็กยึด “ซื่อสัตย์-ประพฤติดี” ถี่ยิบ แต่พบแค่ 2% สอนในหนังสือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสส.แนะผู้ปกครองให้ “หนังสือ” ของขวัญวันเด็ก 54 ปลูกนิสัยรักการอ่านให้ลูก นักวิชาการชี้คำขวัญวันเด็กตลอด 56 ปี เน้นย้ำ “ซื่อสัตย์-ประพฤติดี” ถี่ยิบ แต่กลับไม่เป็นประเด็นสังคม พบสอนความซื่อสัตย์ในหนังสือแค่ 2% วอนทุกฝ่ายทบทวนปั้นเด็กมีคุณธรรมครั้งใหญ่

วันนี้ (5 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กทม. แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กทม.จัดสัมนาสาธารณะ ของขวัญวันเด็ก : ปฏิรูปจิตสำนึกเด็กไทยด้วยหนังสือ “เล่มใหม่” โดย รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญกับหนังสือสำหรับเด็กเล็กในสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสนับสนุนให้มีหนังสือเข้าถึงกลุ่มเด็กเล็กมากขึ้น โดยอยากให้ผู้ปกครองถือโอกาสวันเด็ก ประจำปี 2554 มอบหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยเป็นของขวัญสำหรับเด็ก เพราะจะช่วยสร้างความสุข สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว และช่วยเสริมจินตนาการและจิตสำนึกของเด็ก จากการสำรวจของสวนดุสิตโพล พบว่าครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปลูกฝังเรื่องการอ่านให้กับเด็ก ขณะเดียวกันกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ระบุตัวชี้วัดปัจจัยที่จะช่วยพัฒนาการเด็กต่ำกว่า 5 ปี ว่า ควรมีหนังสือสำหรับเด็กเล็กอย่างน้อย 3 เล่ม/ครัวเรือน แต่ครอบครัวไทยที่เป็นไปตามตัวชี้วัดมีเพียงร้อยละ 40.7 ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากหากเทียบกับต่างประเทศ

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า จากการสังเคราะห์หนังสือที่ได้รับการคัดเลือกตามโครงการคัดสรร 108 หนังสือดีที่เหมาะสมต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย พบว่า หนังสือที่ได้รับการคัดสรรเป็นหนังสือที่ดีมาก มีการสอนให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ มีจิตสาธารณะ แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ยังมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์ และการมีวิถีชีวิตสุขภาวะโดยเฉพาะการออกกำลังกายประจำ ปริมาณน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 2 ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรนำเสนอต่อผู้ผลิต และผู้สร้างสรรค์หนังสือเด็กว่าต้องร่วมมือกันส่งเสริมเรื่องนี้ เพื่อเป็นแนวทางบ่มเพาะเด็กให้เห็นความสำคัญตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะเด็กตั้งแต่อายุ 0-9 ปี จะเติบโตตามที่ผู้ใหญ่ปลูกฝังให้ ดังนั้นหากอยากเห็นสังคมไทยในอนาคตเป็นสังคมแห่งความสุข เยาวชนไทยมีความซื่อสัตย์ รักความยุติธรรม ก็ต้องเริ่มบ่มเพาะให้กับเด็กในวัยนี้

ด้าน รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากย้อนดูคำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีในช่วง 56 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีคำว่า “ซื่อสัตย์” ในคำขวัญวันเด็กเยอะมาก แต่น่าแปลกใจว่าเรื่องของความซื่อสัตย์กลับไม่เป็นประเด็นสังคม ขณะเดียวกันคำที่ระบุมากที่สุด ในคำขวัญวันเด็ก ถึงร้อยละ 45 คือ ประพฤติดี มีคุณธรรม แต่เด็กก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และต้องทำตัวอย่างไร นอกจากนี้จากการสำรวจหนังสือทั่วไป ยังพบว่าหนังสือที่มีคุณค่าในเชิงศิลปะ และสร้างสรรค์ ก็หายไปจากสังคมไทยมาก เช่น เรื่องการสอนไม่ใช้ความรุนแรง ส่วนใหญ่ก็จะพบแต่เป็นหนังสือแปลทั้งนั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาทบทวนกันครั้งใหญ่ เพื่อให้เด็กที่จะเติบโตไปในอนาคตเป็นคนที่มีคุณภาพ และมีคุณธรรมอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น