xs
xsm
sm
md
lg

ไทยติดบ๊วยอาเซียนอัตราพัก-ราคารร. การเมืองฉนวนหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมโรงแรม เผยผลสำรวจ Horwath INT’L ชี้ อัตราเข้าพักและราคาที่พักโรงแรมในเมืองหลวง กรุงเทพฯมีอัตราต่ำสุดในอาเซียน แพ้แม้กระทั่งเวียดนาม ชี้การเมืองต้นเหตุสำคัญ ทำธุรกิตตกสวนกระแสเพื่อนบ้าน ด้านแอตต้ายังฝันปีนี้สถานการณ์จะดีขึ้นคาดตลาดโต 10%แต่ต้องปลอดการเมือง อัดกระทรวงการท่องเที่ยว มั่วเก็บตัวเลขนักท่องเที่ยว

วานนี้(31 ม.ค.54) ในการประชุมสมาชิกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ได้เปิดเผยผลวิจัย ของสถาบันฮอร์วาร์ท ( Horwath INT’L) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ทำสำรวจอัตราเข้าพักและราคาที่พักโรงแรมเฉพาะพื้นที่เมืองหลวงของประเทศในอาเซียนประจำปี 2553 ผลปรากฎว่า อัตราเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยของกรุงเทพฯตลอดปีอยู่ที่ 54% ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อคืน 91เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขดังกล่าวเป็นอัตราที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับอีก 5 เมืองหลวงหลักในอาเซียน ได้แก่ 1.สิงคโปร์ อัตราเข้าพักเฉลี่ย 73% ราคาต่อคืนเฉลี่ย 168 เหรียญสหรัฐ 2.กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ อัตราเข้าพัก 67% ราคาเฉลี่ย ต่อคืน 104 เหรียญสหรัฐ 3.กัวร์ลาลัมเปอร์ มาเลเซีย อัตราเข้าพัก 64% ราคาห้องต่อคืนเฉลี่ย 97 เหรียญสหรัฐ 4.กรุงจาการ์ต้า ประเทศ อินโดนีเซีย อัตราเข้าพัก 63%ราคาต่อคืนเฉลี่ย 68เหรียญสหรัฐ และ 5. กรุงโฮจิมินท์ เวียดนาม อัตราเข้าพัก 54% ราคาเฉลี่ยต่อคืน 126 เหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอาเซียนมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องตามแนวโน้มการเดินทางของนักท่องเที่ยวโลกที่มุ่งเดินทางมายังประเทศในแถบเอเชีย ทำให้ ทุกประเทศสามารถปรับขึ้นราคาห้องพักได้ตามดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น แต่สาเหตุที่ประเทศไทยราคาห้องพัก รวมถึงอัตราเข้าพัก กลับอยู่ในภาวะที่สวนทาง คือลดต่ำลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศของไทยนั่นเอง

สำหรับสมาคมโรงแรม มองธุรกิจปี 2554 ว่ามีแนวโน้มอัตราเข้าพักเติบโต 10-15% จากปี 2553 ที่มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ราว 45-50% โดยกรุงเทพฯอัตราพักเฉลี่ยที่ 50-55%

แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าการเมืองภายในประเทศต้องสงบเรียบร้อย และไม่มีความวุ่นวายใดๆเกิดขึ้นซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความไม่มั่นใจ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโรงแรม จะมีการปรับขึ้นราคาห้องพักเฉลี่ย 3-5% เฉพาะช่วงไฮซีซั่น ถือเป็นการปรับขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 3 ปี ในช่วงที่มีวิกฤตการเมือง แต่ยังเป็นการปรับขึ้นที่น้อยกว่าปีปกติที่จะปรับขึ้นเฉลี่ย 5-10%

ปี2553 พื้นที่ที่อัตราเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยสูงสุดของประเทศคือ ที่จ.ภูเก็ต โดยมีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 60% ขณะที่เชียงใหม่ อัตราเข้าพักเฉลี่ย 47% หัวหิน 30% แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน เฉพาะกลุ่มโรงแรมที่เป็นรีสอร์ท ภูเก็ตก็ยังเป็นเดสตินัช่นที่มีอัตราเข้าพักต่ำสุดเช่นกัน สะท้อนให้เห็นได้ว่า ที่ท่องเที่ยวไทยไม่เติบโตเท่าที่ควรเป็นเพราะความวุ่นวายทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนักลงทุน ยังมองเห็นศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยเชื่อมั่นว่า หากไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง ไทยจะเป็นเดสตินัช่นที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในเอเชีย ด้วยความหลากหลายของสินค้า ค่าครองชีพถูก อัทธยาศัยไมตรีของผู้คน ซึ่งตัวชี้วัดสำคัญเห็นได้จากการลงทุนเปิดโรงแรมใหม่ยังมีให้เห็นต่อเนื่อง โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ปีนี้คาดจะมีโรงแรมเปิดใหม่ราว 12 แห่ง รวม 2,362 ห้อง และ ในปี 2555 จะมีโรงแรมเปิดใหม่เพิ่มอีก 7 แห่ง รวม 1,929 ห้อง


ทางด้านายสุรพล ศรีตระกูล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) กล่าวว่า แอตต้ายังมีความหวังว่าภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยปีนี้ จะเติบโตขึ้นจากปีก่อน โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นราว 10% ตลาดที่ลดลงในปีก่อน จะเริ่มทยอยกลับมาเที่ยว เช่น ญี่ปุ่น จากปีก่อนเฉพาะที่ผ่านสมาชิกแอตต้า ติดลบ 20.75%
แต่จะเริ่มกลับมาช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนตลาดแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ อินโดนีเซีย ซึ่งเดิมทีบริษัทนำเที่ยวไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

แต่ล่าสุดพบว่า คนอินโดนีเซียที่มีฐานะดีอยู่ในกรุงจากาต้า มีจำนวนมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะดึงกลุ่มนี้มาเที่ยว

ทั้งนี้ในปี 2553 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉพาะที่ใช้บริการผ่านสมาชิกแอตต้า มีจำนวนรวม 2.02 ล้านคน เพิ่มจากปี 2552 ราว 17.36% ตลาดที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ รัสเซีย 265,616 คน เพิ่มขึ้น 104.18%, เกาหลี 143,511 คน เพิ่มขึ้น 46.96%, อิหร่าน 72,375 คน เพิ่มขึ้น 43.95%, จีน 315,115 คน เพิ่มขึ้น 36.43% และอินเดีย 199,925 คน เพิ่มขึ้น 32.36% ยอมรับว่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเองโดยจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ต

ด้านนายอภิชาติ สังฆอารี กรรมการหอการค้าไทย และ สมาชิกสมาคมแอตต้า กล่าวว่า การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2553 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวรวบรวมจากด่านตรวจคนเข้าเมือง ว่าได้ถึง 15.8 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 16.4 ล้านคนในปีนี้ มองว่า เป็นการจัดเก็บตัวเลขที่ไม่มาตรฐาน เพราะเหมารวมทั้งหมดโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านทางด่านชายแดนประเทศ

ซึ่งไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าเป็นนักท่องเที่ยว หรือเป็นแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงาน เพราะหากวัดจากสถานการณ์ธุรกิจของผู้ประกอบการ ปี 2553 ถือเป็นปีที่เลวร้ายมาก ธุรกิจตกต่ำ ทั้งด้านราคา และอัตราเข้าพัก อย่างช่วงไฮซีซั่น จะพบว่ายุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งผลจากวิกฤตเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติที่ทำให้เดินทางมาไม่ได้ ส่วนผู้ที่เดินทางมา จำนวนวันพักลดลง เพราะประหยัดค่าใช้จ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น