xs
xsm
sm
md
lg

พยายาม หรือ เจตนา

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

น่าเศร้าใจที่ทุกวันนี้มีการกระทำผิดกฎหมายปรากฏให้เห็นตามสื่อต่างๆอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะเรื่องอาชญากรรมที่หลายกรณีเป็นไปอย่างอุกอาจ เช่น กรณีพี่น้องคู่หนึ่งยิงรถครอบครัวผู้อื่นเป็นเหตุให้เด็กชายที่โดยสารมาในรถได้รับอันตรายสาหัสและเสียชีวิต กรณีปาหินใส่รถของผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ที่โดยสารมาในรถเสียชีวิต กรณียิงปืนขึ้นฟ้ากระสุนตกลงมาใส่ผู้อื่นจนเสียชีวิต และล่าสุดกรณียิงรถกัปตันสายการบินจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเจ้าหน้าที่จับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว ผู้ต้องหาให้การว่า ไม่ได้ตั้งใจจะให้เสียชีวิต สาเหตุจากขับรถปาดหน้ากัน หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ทำ

ดังนั้นจึงขออธิบายเกี่ยวกับความผิดฐานพยายามฆ่าและความผิดเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 บัญญัติว่า “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี”

มาตรา 290 “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี......”

ประกอบกับมาตรา 80 เกี่ยวกับการพยายามกระทำความผิดที่บัญญัติว่า “ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”

กระทำโดยเจตนา คือ ผู้กระทำต้องรู้ว่าตนเองกำลังกระทำความผิด
เจตนาเป็นสาระสำคัญที่จะต้องมีในความผิดอาญาทั่วไป ซึ่งมาตรา 59 วรรคสอง กำหนดว่า กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ เช่นกรณีดังต่อไปนี้

การใช้ปืนยิงอาจสันนิษฐานได้ว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2490) ใช้ปืนตามธรรมดา ถึงแม้จะยิงในการวิวาทและยิงถูกที่ไม่สำคัญจึงไม่ตาย ก็วินิจฉัยว่ามีเจตนาฆ่า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2472)

การพยายามกระทำความผิด คือ การกระทำที่มีเจตนาตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้แต่กระทำไม่สำเร็จ ไม่บรรลุผล เช่นกรณีดังต่อไปนี้

ในการพยายามฆ่าคน ผู้กระทำยกปืนเล็งไปยังผู้ที่ตนต้องการฆ่า แต่ยังไม่ทันได้ลั่นไกก็ถูกขัดขวางเสีย จึงกระทำไปไม่ตลอด โดยยังไม่ได้ลั่นไกตามที่ตนตั้งใจจะทำ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1238/2515)

ผู้กระทำได้ลั่นไกปืนเป็นการกระทำตลอดทุกอย่างที่ตั้งใจทำแล้วโดยมีเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ที่ต้องการฆ่า หรือถูกแต่ไม่ใช่ที่สำคัญจึงไม่ถึงตาย หรือเพราะความสามารถของแพทย์รักษาบาดแผลได้ทันท่วงทีจึงไม่ตาย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่า

การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธที่ร้ายแรงมีประสิทธิภาพในการทำลายสูงยิงเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย โดยรู้อยู่ว่าผู้เสียหายอยู่ในบ้าน หากกระสุนปืนถูกผู้เสียหายอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตของผู้เสียหายได้ ทั้งวิถีกระสุนปืนที่จำเลยจ้องยิงไปนั้นเป้าหมายอยู่บริเวณเก้าอี้ที่ผู้เสียหายนั่งดูเครื่องรับโทรทัศน์อยู่ในขณะที่จำเลยพบเห็นผู้เสียหายในครั้งแรกที่จำเลยเข้าไปในบ้าน ระดับวิถีกระสุนปืนก็อยู่ในระนาบแนวเดียวกับที่ผู้เสียหายนั่งอยู่บนเก้าอี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยเล็งเป้าหมายของวิถีกระสุนปืนไปยังที่จำเลยคาดหมายว่าผู้เสียหายจะกลับมานั่งเก้าอี้ดูเครื่องรับโทรทัศน์เหมือนเดิมที่จำเลยพบเห็นในครั้งแรกหากแต่บังเอิญผู้เสียหายยังไม่ได้กลับไปนั่งเก้าอี้เดิมเท่านั้นจึงทำให้กระสุนปืนที่จำเลยยิงไม่ถูกผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงไม่บรรลุผล จำเลยย่อมมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2544)

จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงไปทางกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในร้านขายอาหารซึ่งมีประมาณ 20 คน โดยไม่ใยดีว่ากระสุนปืนจะถูกใครหรือไม่ แม้จะเป็นการยิงเพียงนัดเดียวก็อาจถูกผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ทั้งกระสุนปืนดังกล่าวถูกต้นขาขวาของเด็กคนหนึ่งจึงเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น เป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 154/2545)

จำเลยที่1เมาสุราใช้มีดปลายแหลมยาวทั้งตัวทั้งด้ามประมาณ1คืบแทงเปะปะไปโดยมิได้เลือกว่าเป็นที่ใดและแทงผู้ตายไปทีเดียวจะฟังว่ามีเจตนาฆ่ายังไม่ถนัดการกระทำของจำเลยที่1เป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2487/2529)

สำหรับการพกพาอาวุธปืนนั้น พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้

และห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด

กรณีดังกล่าวพบว่าผู้กระทำความผิดพกอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาตจึงต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ด้วยเช่นกัน เช่น ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานมีและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อลดโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกตลอดชีวิต จำคุก 8 เดือน และจำคุก 4 เดือนตามลำดับ เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2526)

การอยู่ร่วมกันในสังคมควรพึงระลึกว่าทุกคนต่างมีสิทธิหน้าที่และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หากผู้ใดละเมิดสิทธิผู้อื่นกระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะพยายามหรือเจตนาก็ต้องรับผิดชอบในผลของการกระทำนั้นตามที่กฎหมายกำหนด

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น