xs
xsm
sm
md
lg

ร้องนายกฯชดเชยเสียงไม่เป็นธรรมไตรภาคีเร่งทอท.เจรจาจ่ายค่าเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ชาวบ้านรอบสุวรรณภูมิร้อง"นายกฯ" ค้านข้อตกลงจ่ายชดเชยเสียงตามมติครม.29 พ.ค.50 ชี้ ไม่เป็นธรรม เสนอไตรภาคีพิจารณาใช้มติวันที่ 2 ม.ค.51 แทน ด้านกก.ไตรภาคี ไฟเขียวจ่ายชดเชยชาวบ้านที่มาอาศัยก่อน ปี44 ทั้งหมด ภายในเดือนก.ย.นี้ วงเงินกว่า1.2หมื่นล้าน ประเดิมเส้นเสียงฤดูร้อน 6,000 ราย วงเงิน6,000 ล้านบาท ขีดเส้นจ่ายภายใน 30 วันหลังเอกสารครบ ส่วนเส้นเสียงฤดูหนาว 6,424 ราย วงเงินกว่า6,000ล้าน ให้ทอท.หาวิธีจ่ายเงิน และนำเสนอกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 7 ก.ย.นี้

วานนี้ (24 ม.ค.) ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการและกรรมการไตรภาคี ขอคัดค้านบันทึกข้อตกลงฯระหว่างผู้แทนประชาชนและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2554 โดยนางอารีญา ปอมหาธรรมกิจ ผู้แทนชาวบ้านเปิดเผยว่า ขอคัดค้านบันทึกข้อตกลงฯ ในข้อที่ 3 ที่ระบุให้ทอท.ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 พ.ค. 2550 เนื่องจากเป็นมติที่ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านอีกกว่า 1,000 ราย และขอให้ทอท.ดำเนินการตามมติครม.วันที่ 2 ม.ค. 2551 ซึ่งเป็นมติที่เกิดจากการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี

ทั้งนี้ มติครม.วันที่ 2 ม.ค.2551 มีกรอบชดเชยที่เป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในเส้นเสียง พื้นที่NEF 30 – 40 ซึ่งเป็นกรอบเดียวกับมติครม.วันที่ 21 พ.ย. 2549 เพราะแตกต่างจากมติครม.วันที่ 29 พ.ค. 2550 ดังนั้นกลุ่มของตนจึงไม่สามารถยอมรับข้อตกลงร่วมระหว่างทอท.และชาวบ้านอีกกลุ่มที่ไปประท้วงที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 20-21 ม.ค. 2554 ที่ผ่านมาได้

“มติวันที่ 2ม.ค.51เป็นที่ยอมรับแล้ว แต่ทอท.ไม่นำมาปฎิบัติ ซึ่งหากภาครัฐไม่นำมติดังกล่าวมาปฎิบัติ ชาวบ้านก็คงจะต้องฟ้องศาลต่อไป “นางอารีญากล่าว

สำหรับมติครม.วันที่ 2 ม.ค.2551 ระบุว่า พื้นที่ได้รับผลกระทบทางเสียง NEF มากกว่า 40 ให้ทอท.จัดซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากเจ้าของไม่ประสงค์จะขายให้ทำการปรับปรุง ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบ NEF 30-40 ให้ดำเนินการปรับปรุงหรือชดเชยสิ่งปลูกสร้าง หรือจัดซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหากเจ้าของต้องการขายให้ บริษัท ทอท.พิจารณารับซื้อโดยแนวทางการรับซื้อหรือชดเชยทางการเงิน ให้ทอท.เข้าชดเชยเฉพาะส่วนที่ก่อนปลูกสร้างก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2544 ส่วนสิ่งปลูกสร้างหลังวันที่ 31 ธ.ค.2544-28 ก.ย.2549 ให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง รับภาระทางการเงินในการชดเชย ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย(ไตรภาคี)

ด้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะกรรมการไตรภาคีกล่าวว่า คณะกรรมการฯจะติดตามการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทางเสียง และความคืบหน้าการดำเนินการของทอท.ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการตรวจสอบรายละเอียดพื้นที่ของผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่NEF 30 – 40และ NEF มากกว่า 40 ประมาณ 8,000 กว่ารายควรจะเสร็จเรียบร้อยและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาราคา ซึ่งเมื่อตรวจสอบเอกสารกันแล้วก็จะสามารถจ่ายเงินได้ใน 30 วัน

“ถ้าทอท.ยังตรวจสอบพื้นที่ไม่เสร็จก็ถือว่าล่าช้า เพราะตอนนี้ควรจะตรวจสอบเสร็จแล้ว ส่วนกรณีข้อเรียกร้องนั้นหลักการต้องยึดมติครม.เป็นหลัก ซึ่งมีมติครม.เกี่ยวข้อง 3-4 ครั้ง ก็ต้องนำมาพิจารณา ส่วนข้อเรียกร้องที่นอกเหนือมติครม.คณะกรรมการฯ ก็จะต้องพิจารณาและต้องนำเข้าครม.อีกครั้ง”นายสุพจน์กล่าว

อย่างไรก็ตามล่าสุดที่ประชุมฯ ได้มีมติให้ทอท.ดำเนินการเชิญชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางเสียงมาเจรจาในรายละเอียดของการรับเงินชดเชยในวันที่ 26 ม.ค.นี้ และเมื่อยื่นเอกสารครบก็ให้จ่ายเงินได้ภายใน 30 วัน ซึ่งชาวบ้านที่จะได้รับเงินชดเชยในครั้งนี้ ประกอบด้วย ชาวบ้านที่เข้ามาอยู่อาศัยก่อนปี 2544 แบ่งออกเป็น ชาวบ้านที่อยู่ในเส้นเสียงในฤถูร้อนจำนวน 6,000 ราย คิดเป็นเงินรวม 6,000 ล้านบาท จะได้รับเงินภายในเดือนกันยายน 2554ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในเส้นเสียงฤดูหนาว จำนวน 6,424 ราย คิดเป็นเงินรวม 6,424 ล้านบาท ได้ให้ทอท.จัดทำแผนการจ่ายเงินชดเชยว่าจะดำเนินการอย่างไรส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 7 ก.ย.นี้ ซึ่งคิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 12,424 ล้านบาท ทั้งนี้ยืนยันว่าชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในเส้นเสียงฤดูร้อนและหนาว จะได้รับเงินภายในเดือนกันยายนนี้ทั้งหมด

นอกจากนี้ยังได้ให้ทอท.ไปทำการตรวจสอบชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางเสียงที่มาอาศัยอยู่ในช่วงเดือน.ค. 45 – 29 ก.ย.49 ว่ามีจำนวนเท่าไร ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และต้องจ่ายค่าชดเชยเท่าไหร่ ก่อนที่จะนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีครั้งต่อไป เพื่อพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น