สกลนคร- เผยพ่อค้าเวียดนามข้ามแดนกว้านซื้อโคภาคอีสาน โดยเฉพาะพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์แทบไม่เหลือ ซ้ำเกษตรกรเลิกเลี้ยงกันเป็นทิวแถว หวั่นอนาคตอันใกล้เกิดวิกฤตขาดแคลนโค-กระบือ ด้านพ่อค้าแม่ค้าเนื้อเมืองสกลฯโอดพ่อค้าคนกลางขึ้นราคาเนื้อชำแหละ ทำราคาปลีกพุ่ง 160 บาท/กก.อย่างไรก็ตามเนื้อโคขุนโพนยางคำยังขายราคาปกติ
แหล่งข่าวในกลุ่มพ่อค้าโค-กระบือเปิดเผยว่า ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา พ่อค้าจากเวียดนามได้เข้ามาซื้อวัวในพื้นที่ภาคอีสานมากขึ้นจนผิดสังเกต โดยพ่อค้าเหล่านี้จะออกกว้านซื้อวัวในราคาที่สูงกว่าพ่อค้าคนไทย ทำให้วัวสายพันธุ์ท้องถิ่นอีสานที่มีความอดทน แข็งแรงต้านทานโรคได้ดี เริ่มลดลงไปจากท้องถิ่นจนน่าวิตก ชาวบ้านผู้เลี้ยงวัวเองก็พอใจกับราคาที่ถูกเสนอซื้อ เพราะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ
ทั้งนี้ จากเดิมพ่อค้าจากเวียดนามจะเลือกซื้อเฉพาะวัวพันธุ์เพศผู้เท่านั้น แต่ระยะหลังหันมาซื้อวัวเพศเมียกันมากขึ้น ตลาดนัดโคกระบือแทบทุกแห่งในภาคอีสาน จะมีเงินหมุนเวียนสะพัดซื้อ-ขายวัวไทยงวดละหลายล้านบาททีเดียว บรรยากาศการซื้อขายคึกคักมาก
นายสัตวแพทย์ วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2553 ที่ผ่านมาการค้าสัตว์ในจังหวัดสกลนครยังคงมีการซื้อขายเป็นปกติแต่การค้ากระบือมีจำนวนมากที่สุด มีทั้งผู้ซื้อที่ซื้อไปเลี้ยงและไปนำชำแหละเพื่อบริโภค ส่วนใหญ่จะส่งไปที่เขตภาคเหนือ เช่น จังหวัดพะเยา พิษณุโลก เป็นต้น ส่วนสถิติการส่งออกนอกพื้นที่ของโค - กระบือในจังหวัดสกลนคร เฉลี่ยประมาณเดือนละ 400 ตัว
สถิติการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากพื้นที่จังหวัดสกลนครในปี 2553 พบว่า มีการเคลื่อนย้ายโคเป็นจำนวน 506 ตัว และกระบือจำนวน 6,060 ตัว และจากข้อมูลที่ปรากฏเป็นการเคลื่อนย้ายภายในประเทศเท่านั้น ไม่มีการแจ้งเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศแต่อย่างใด
ขณะที่ราคาเนื้อวัวขายปลีกตามตลาดสดต่างๆ ในเขตเทศบาลสกลนคร มีการปรับขึ้นราคากันถ้วนหน้า โดยที่ตลาดสดเทศบาลเมืองสกลนคร ราคาเนื้อวัวติดมัน ปรับขึ้นราคาจากเดิมกิโลกรัมละ 120 บาท เป็น 140 - 150 บาท ต่อกิโลกรัม, ราคาเนื้อวัวสันนอกจากเดิม 120 บาท / กก. ปรับขึ้นเป็น 140 - 150 บาท / กก. ราคาเนื้อวัวสันในจากเดิม 140 บาท เป็น 160 บาท / กก. ราคาเนื้อสะโพก จากเดิม 120 - 125 บาท / กก. ปรับขึ้นเป็น กก.ละ 150 บาท
พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ระบุถึงสาเหตุที่ราคาขายต้องปรับเพิ่มนั้น เป็นเพราะพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นผู้รับชำแหละนำมาส่งขายในราคาที่สูง จึงต้องบวกราคาเพิ่ม เนื่องจากมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้มูลเหตุที่พ่อค้าคนกลางปรับราคาขายส่งขึ้นนั้นต่างอ้างว่าขณะนี้หาซื้อวัวได้ยากเนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเนื้อลดลงอย่างมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเนื้อเลิกประกอบอาชีพนี้จำนวนมาก
“เนื้อสันนอกที่รับผ่านพ่อค้าคนกลาง ณ ปัจจุบัน ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท ซึ่งตนก็ต้องนำมาปรับแต่งเนื้อ และมีต้นทุนอื่นทั้งค่าถุง ค่าน้ำแข็งที่ใช้ในการแช่เนื้อ ค่าแรงต่างๆ จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาตามสภาพการณ์ โดยมีการปรับขึ้นราคามานานกว่าเดือนแล้ว” แม่ค้ารายหนึ่งระบุ
ทั้งนี้ ยอมรับว่าภายหลังมีการปรับราคาขึ้นมาก็มีเสียงบ่นจากลูกค้าบ้าง และทำให้ขายเนื้อได้น้อยลง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกค้าขาประจำที่ยังคงรับซื้อทุกๆวัน แต่ปริมาณก็จะลดน้อยลงมาบ้าง ส่งผลให้ให้ตนเองต้องปรับลดการซื้อเนื้อมาวางขายให้เท่ากับความต้องการที่ลดน้อยลง ทำให้กำไรที่ควรจะได้รับหดหายไปกว่า 20 %
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามปศุสัตว์จังหวัดสกลนครถึงเนื้อโคขุนโพนยางคำ ว่ามีปัญหาการปรับขึ้นราคาบ้างหรือไม่ ได้รับคำยืนยันว่า เพราะทางสหกรณ์เนื้อโคขุนโพนยางคำได้ดำเนินการในรูปแบบสมาชิกผลิตเนื้อและจำหน่ายในราคามาตรฐานเท่าเดิม