เชียงราย - นักโบราณคดี ม.ศิลปากร ถึงกับตะลึงเมื่อค้นพบทุ่งไหหินในไทย 2 แห่ง และสุสานโบราณบนดอยแห่งแรกในอาเซียน ที่เชียงราย คาดอายุ 3-5 พันปีล่วงมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร หัวหน้าทีมสำรวจและนักโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับนายสุนันท์ ขันทัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ป่าแดด อ.แม่สรวย นายเอี่ยม แถลงนิตย์ กำนัน ต.ป่าแดด พร้อมพระภิกษุและชาวบ้านได้สำรวจพื้นที่โบราณสถานตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย และป่าสงวนแห่งชาติดอยเวียงผา พื้นที่หมู่บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 22 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย โดยห่างจากตัวหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร
การสำรวจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเมื่อเดือน ธ.ค.2553 ชาวบ้านได้ค้นพบว่า บริเวณดังกล่าวมีเศษหม้อ ไห ของใช้ ฯลฯ แตกกระจายอยู่เป็นจำนวนมากโดยแยกเป็น 2 แห่งคือ บนดอยวง ซึ่งมีการค้นพบภาชนะต่างๆ เช่น ไห หม้อ ฯลฯ และดอยเวียง ห่างออกไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร พบหลุมศพจำนวนกว่า 300 หลุม
ผลสำรวจ คณะฯได้สรุปว่า เป็นแหล่งโบราณคดียุคใหม่เรียกว่า Neolithic หรือ New Stone Age หรือยุคหินใหม่ ซึ่งมีอายุในช่วงเวลาประมาณ 5,000-3,000 ปีมาแล้ว โดยเป็นยุคที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงชีวิตไปจากเดิม ที่เคยเป็นพรานล่าสัตว์เร่ร่อนและอาศัยอยู่ตามถ้ำ (ยุคหินเก่า-หินกลาง) มาอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง
สำหรับหลุมที่พบเป็นสุสานโบราณ ที่มีลักษณะขุดดินลงไปและมีขอบโดยรอบวางสวมเอาไว้ลักษณะคล้ายไห โดยทำจากดินผสมดินทรายเผาคล้ายไหหินในทุ่งไหหิน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในสปป.ลาว มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 3 คูณ 3 ฟุต ลึกประมาณ 130 เซนติเมตร แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 1-3 เมตรแต่บางหลุมห่างกันกว่า 10-20 เมตร ภายในพบภาชนะต่างๆ คล้ายกับที่พบที่ดอยวง
ศาสตราจารย์สายันต์ กล่าวว่า สันนิษฐานว่าบริเวณดอยเวียง น่าจะเป็นที่อาศัยของมนุษย์ยุคหิน เพราะมีคูเมืองล้อมรอบ มีเครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก ส่วนบริเวณดอยวง สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสถานที่ฝังศพหรือเก็บกระดูก(อัฐิ) เมื่อมีคนตายจะนำศพหรือกระดูกมาเก็บไว้บนดอยวง มีการสร้างหลุมดินเผาไว้ แล้วนำภาชนะหรือของใช้คนตายบางอย่างมาใส่ไว้ คาดว่าหลุมดินเผานี้จะต้องผ่านความร้อนไม่ต่ำกว่า 1,200 องศา จึงทำให้ดินเผาอยู่ตัวได้
"ยังน่าแปลกว่าการค้นพบในประเทศไทยหรือแม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่เคยพบหลักฐานว่ามีการนำศพหรือกระดูกมาบรรจุในหลุมดินเผาไว้บนดอยสูงแบบนี้มาก่อนหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สันนิษฐานว่าน่ามาจากความเชื่อว่าการนำศพหรือกระดูกมาไว้บนดอยสูงก็เพื่อให้วิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์หรือใกล้ฟ้ามากที่สุด"
ศาสตราจารย์สายันต์ กล่าวว่า สำหรับการบูรณะแหล่งโบราณสถานสุสานไหหินทั้ง 2 แห่งนี้ คงต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อบต.ป่าแดด ฯลฯ เพื่อดำเนินการรวมทั้งร่วมกับชาวบ้านในการป้องกันการลักลอบขุดหาวัตถุโบราณอย่างเข้มงวดต่อไป
ด้านนายสุนันท์ กล่าวว่า การค้นพบสุสานไหหินแห่งใหม่นี้ทำให้ ต.ป่าแดด กลายเป็นแหล่งหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี ซึ่งถือเป็นความน่าภูมิใจของชาว ต.ป่าแดด ที่มีบรรพบุรุษที่มีอารยธรรมและยังช่วยบ่งชี้ว่า ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของชนชาติไทยเราไม่ได้อพยพมาจากไหนแต่เป็นผู้ที่ตั้งรกรากอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบันนั่นเอง