xs
xsm
sm
md
lg

เคอร์ฟิวเด็ก !!

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

มาตรการพิทักษ์ปกป้องเด็กและเยาวชน สร้างความตกใจให้แก่เด็กและเยาวชนรวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อมีข่าวการเตรียมนำมาตรการกวดขันเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาอยู่นอกบ้านหลังเวลา 22.00 น. โดยไม่มีเหตุอันควร ต้องถูกเชิญตัวไปทำประวัติที่สถานีตำรวจและเรียกผู้ปกครองมารับตัว เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเด็กวัยรุ่นและเยาวชน ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว

ในทางปฏิบัติ การดำเนินการใดๆของเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีกฎหมายรองรับหรือให้อำนาจไว้ หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 26 กำหนดว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 29 กำหนดไว้ว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ กฎหมายต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย

ส่วนจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางหรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 34 กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร การจำกัดเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์

ประกอบกับมาตรการเคอร์ฟิวเด็ก มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของเด็กและเยาวชนโดยตรง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 52 กำหนดว่า ”เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา ตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

เด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้ปราศจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม ทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว

การแทรกแซงและการจำกัดสิทธิของเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะของครอบครัวหรือประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้น

เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมที่เหมาะสมจากรัฐ”

เห็นได้ว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้

การห้ามเด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่นอกเคหสถานหลังเวลา 22.00 น. โดยไม่มีเหตุอันควร เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเด็กและเยาวชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ซึ่งคำว่ากฎหมายนั้นต้องเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาหรือเทียบเท่าขึ้นไป

มาตรการลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่ได้เคยมีคดีที่ไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2508 “ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าการที่จะควบคุมบุคคลอันธพาลไว้ทำการสอบสวนไม่เกิน 30 วันได้นั้น ก็โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ข้อ 1 เมื่อข้อความในประกาศชัดแจ้งอยู่แล้วว่า บุคคลอันธพาลต้องกระทำการละเมิดต่อกฎหมายด้วย และมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมในการสอบสวนด้วย จึงจะจับตัวผู้นั้นมาควบคุมไว้ทำการสอบสวนได้ไม่เกิน 30 วัน เช่นนี้ เจ้าพนักงานจึงหาอาจที่จะควบคุมตัวผู้ใดด้วยการอ้างว่าผู้นั้นเป็นบุคคลอันธพาล แต่ปราศจากข้อกล่าวหาว่าได้กระทำการละเมิดต่อกฎหมายนั้นได้ไม่

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 นั้นมุ่งหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะควบคุมบุคคลอันธพาลผู้กระทำละเมิดกฎหมายได้มากขึ้นโดยให้อำนาจควบคุมครั้งแรกถึง 30 วันกล่าวคือ เป็นการขยายอำนาจการควบคุมครั้งแรกในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ที่กำหนด “ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี....” แต่หาได้มุ่งหมายให้อำนาจที่จะควบคุมบุคคลอันธพาลไว้เฉยๆโดยไม่มีข้อหาว่าละเมิดกฎหมายและโดยไม่มีการสอบสวนไม่ เพราะฉะนั้นเจ้าพนักงานจึงไม่อาจที่จะควบคุมผู้ใดโดยอ้างว่าเป็นบุคคลอันธพาลแต่ปราศจากข้อกล่าวหาว่าผู้นั้นได้กระทำการละเมิดต่อกฎหมาย”

คงปฎิเสธไม่ได้ว่าการปฏิบัติแก่เด็กและเยาวชนที่ฝ่าฝืนออกมาอยู่นอกเคหสถานโดยปราศจากเหตุผลอันควรหลัง 22.00 น. เช่น การนำตัวไปโรงพักและทำประวัติ ก่อนเรียกพ่อแม่ ผู้ปกครองมารับ นั้นเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชน

ซึ่งสวนทางกับกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนอย่างมีมนุษยธรรมและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนโดยคำนึงถึงอนาคตของเด็กเป็นสำคัญ เช่น ห้ามมิให้จับกุมเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับหรือคำสั่งของศาล การออกหมายจับเด็กและเยาวชนให้ศาลคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องอายุ เพศ และอนาคตของเด็กหรือเยาวชนที่พึงได้รับการพัฒนาและปกป้องคุ้มครอง

การนำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูซึ่งเป็นมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญามาบังคับใช้แทนการดำเนินคดีตามช่องทางปกติโดยไม่ต้องฟ้อง ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนอาจกลับตนเป็นคนดีได้ เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนความประพฤติของเด็กหรือเยาวชน บรรเทา ทดแทน หรือชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชุมชนและสังคม

ที่กล่าวมาข้างต้นสามารถตอบข้อสงสัยแก่สังคมส่วนหนึ่งถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ตามกฎหมายในการนำมาตรการดังกล่าวมาบังคับใช้ แต่การแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเด็กและเยาวชนที่สาเหตุนั้น ทุกฝ่ายควรสนใจและให้ความสำคัญทั้งการส่งเสริมความสำคัญของสถาบันครอบครัวและการบังคับใช้มาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง เพื่อวางรากฐานสังคมให้เข้มแข็ง

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น