ความปรารถนาดีของ ‘ผู้ใหญ่’ นำโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่พยายามยกกฎหมายใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาใช้ โยนหินถามทางด้วยการเสนอมาตรการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีออกจากบ้านหลังเวลา 22.00 น. ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจจะเป็นผลจากอารมณ์ของสังคมที่ต้องเผชิญความวุ่นวายมาตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บวกกับข่าวคราวที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำถูกนำเสนอเป็นข่าวบ่อยในช่วงนี้ อย่างกรณีสาว 17 ปีที่ขับรถประสบอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตถึง 9 คน หรือล่าสุด กรณีเด็กนักเรียนถูกโจรทำร้ายร่างกายแย่งบีบี
ขณะเดียวกัน เสียงเล็กๆ จำนวนหนึ่งก็เล็ดลอดออกมาถึงความไม่เหมาะสมที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งการปฏิบัติจริงก็มีความยุ่งยาก ซ้ำร้ายจะเป็นช่องทางให้เด็กตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้ เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ด้าน สตช. จึงยังออกอาการครึ่งๆ กลางๆ ว่าจะนำมาตรการนี้มาใช้ดีหรือไม่
ไม่ได้อยากจะร่วมวงโต้เถียงด้วย แต่กำลังสงสัยว่า ‘ทำไมต้องต่ำกว่า 18’ เพราะเอาเข้าจริงๆ ความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ บางครั้งก็มีเส้นแบ่งที่เลือนราง ขนาดในเนื้อกฎหมายเอง บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีหากแต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ยังถือว่าบรรลุนิติภาวะหรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นผู้ใหญ่
เหมือนกับว่าความเป็นเด็กและผู้ใหญ่จะเลื่อนไหลกว่าที่คิด
ทำไมต้อง 18
สยามยุคหนึ่งถือว่า เด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติ ถ้าเด็กฉลาดชาติก็เจริญ เมื่อเด็กและเยาวชนคือทรัพยากรบุคคลที่จะมีคุณค่าในอนาคต จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างกรอบให้เดิน สิ่งหนึ่งก็คือการศึกษา
การศึกษาสมัยใหม่ในระบบกินเวลายาวนานถึง 16 ปี ถือเป็นการลงทุนที่สูงเอาเรื่อง รัฐจึงต้องหามาตรการ ระเบียบ กฎหมายมากมายเพื่อควบคุมให้เยาวชนอยู่ในร่องในรอย และกำหนดอายุเพื่อแยกความเป็นเยาวชนออกจากผู้ใหญ่เพื่อความชัดเจนและควบคุมเยาวชนให้อยู่ในร่องในรอย
ลองดูจะพบว่า มีกติกาข้อห้ามไม่น้อยที่บอกว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้
- ห้ามไม่ให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมออนไลน์ได้วันละ 3 ชั่วโมงต่อวันและห้ามเข้าใช้บริการหลังสี่ทุ่ม
- พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ไม่ให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์และอินเทอร์เน็ตเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามการขายสุราและบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
- มีความพยายามจะให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถตรวจเอดส์ได้เองโดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองอนุญาต
- บุคคลที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์เท่านั้นจึงจะมีสิทธิสอบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ หรือมีสิทธิเลือกตั้งได้
- หลายๆ เว็บไซต์โดยเฉพาะเว็บวาบหวิว มักจะมีคำถามก่อนเข้าเสมอว่า คุณมีอายุถึง 18 ปีแล้วหรือไม่
- การผ่าตัดแปลงเพศสามารถทำได้เมื่ออายุ 18 ปีบริบูรณ์ โดยต้องได้รับหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง
- ข้อจำกัดของเรตหนัง น.18 ข้อหนึ่งที่ถูกระบุไว้ก็คือ ห้ามมีฉากร่วมเพศ ไม่เช่นนั้นภาพยนตร์เรื่องนั้นอาจจะถูกฉายแบบจำกัดโรงในเรต ฉ.
- แม้การเที่ยวโสเภณีจะเป็นความผิด แต่กฎหมายก็ไม่เคยควบคุมอะไรเข้มงวด เว้นแต่โสเภณีนั้นอายุไม่ถึง 18 ปี ผู้ใช้บริการจะมีโทษจำคุกนาน 3 ปี ปรับอีก 2-6 หมื่นบาท
- เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หากทำผิดจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าคุก แต่ต้องไปอยู่ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแทน
เด็ก-ผู้ใหญ่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์วัดความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ดูจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามยุคสมัย
“เรื่องของความเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ในอดีต สังคมไทยมองได้หลายแบบ อย่างการเกณฑ์ไพร่ ซึ่งไม่ได้ดูที่อายุ แต่ดูที่ขนาดร่างกาย เช่น สูงเท่าไหร่ มีความกว้างของหน้าอกเท่าไหร่ คือมันไม่ได้วัดจากเรื่องของการใช้เหตุผล ทั้งนี้เพราะเขาต้องการใช้แรงงาน แต่ถ้าพูดเรื่องวุฒิภาวะ มันจะสัมพันธ์กับการบวชมากกว่า ถ้าบวชเสร็จแล้วก็ถือว่าเป็นคนเต็มคน เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา โดยปกติแล้ว ก็จะมีการบวชที่อายุ 21 ปี”
ทวีศักดิ์ เผือกสม อาจารย์สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ความเห็นเกี่ยวเรื่องของการแบ่งความเป็นเด็กออกจาผู้ใหญ่ในสังคมไทย ว่าในสมัยก่อนนั้นถ้าเป็นทางร่างกาย ก็จะใช้การเกณฑ์ไพร่ ส่วนทางด้านจิตใจนั้นก็จะดูที่การบวชเรียน ซึ่งสังเกตได้ว่าทั้งสองกรณีนั้น ไม่ได้นับรวมเพศหญิงเข้าไปด้วยเลย
“ในสังคมไทยสมัยก่อน มองว่าผู้หญิงไม่มีเหตุผล การที่ผู้หญิงจะมีตัวตนได้ต้องแต่งงานมีสามีแล้วเท่านั้น ในกฎหมายตราสามดวง ถ้าแต่งงานแล้วแบบถูกต้อง ผู้หญิงก็จะมีสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งถ้าวัดความเป็นคนที่สิทธิทางกฎหมาย ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจึงถือว่าเป็นคนขึ้นมา”
ทว่าในปัจจุบัน ความเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่กลับถูกขีดเส้นแบ่งไว้ที่อายุ 18 ปี
“การที่ความเป็นผู้ใหญ่มีเส้นที่อายุ 18 ปี เรารับมาจากฝรั่ง เป็นเรื่องการบรรลุนิติภาวะ การเกณฑ์ทหารสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มคิดถึงเรื่องนี้แล้ว การยังไม่เป็นผู้ใหญ่ หมายถึงการถูกจำกัดสิทธิ คือเรื่องของเด็กหรือผู้ใหญ่ นอกจากเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลแล้ว ยังเกี่ยวกับเรื่องสิทธิด้วย แต่สิทธิที่ว่าก็มากับความรับผิดชอบ ถ้าใครเป็นเด็กก็ไม่มีสิทธิทางกฎหมาย ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายด้วย
“จริงๆ เรื่องเด็กหรือผู้ใหญ่เป็นเรื่องนามธรรมมาก การจะให้ใครมาตัดสินเป็นเรื่องที่ยาก ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องของร่างกายที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์เป็นตัวแบ่ง เอาเข้าจริง เด็ก 13-14 ขวบก็อยู่ในวัยที่สามารถมีลูกได้แล้ว อย่างในอินเดีย เด็กสามารถมีคู่ได้ตั้งแต่วัย 10 กว่าขวบ”
เป็นผู้ใหญ่หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่อายุ...อย่างเดียว
บัว (นามสมมติ) สาววัย 17 ที่ปัจจุบันเธอมีสามีและลูกน้อยๆ อีก 1 คน ถ้าว่าตามกฎหมายตอนนี้เธอเป็นผู้ใหญ่แล้ว ซึ่งมาพร้อมภาระความรับผิดชอบที่เธอยอมรับกลายๆ ว่าเหนื่อยเอาการ
“การเลี้ยงลูกเป็นภาระที่หนักมากอย่างหนึ่ง คือว่าตอนนี้อายุแค่ 17 เอง แต่ต้องเลี้ยงลูก ต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ และเราก็ไม่ได้ทำงาน ยังดีที่แฟนทำงานแล้วจึงช่วยค่าใช้จ่ายได้เยอะพอสมควร”
บัวรู้สึกว่า เธอยังไม่น่าต้องรับผิดชอบขนาดนี้ เธอควรได้เรียน ได้ใช้ชีวิตในสังคมของวัยรุ่น แต่มันก็เป็นสิ่งที่เธอต้องยอมรับ
“แต่จะทำยังไงได้ ก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ ตอนนี้เรามีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นกว่าเดิมเยอะต้องทำหน้าที่เหมือนผู้ใหญ่เลยต้องคอยดูแลลูกและแฟน”
ขณะที่ ฉัตรมงคล ดวงฤทธิ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร Autovision and travel เห็นว่า ความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ไม่ได้อยู่ที่อายุ แต่อยู่ที่การรู้คิดว่าอะไรควร ไม่ควร
“สำหรับผมความเป็นผู้ใหญ่เริ่มต้นจากที่คุณมีสติ รู้จักคิด รู้จักทำ โดยที่ว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงอายุถึง 20 ปีบริบูรณ์เพื่อที่จะเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย คนบางประเภทอายุมากแต่ยังขาดความคิดในการพิจารณาดีชั่วก็มีมาก คนพวกนี้แค่เติบโตและเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะตามตัวเลขอายุที่สังคมกำหนดเท่านั้น ความเป็นผู้ใหญ่เริ่มจากสิ่งที่คิด ปฏิบัติ การมีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม”
หรือกรณีเด็กไม่ถึง 18 มีครอบครัว ฉัตรมงคลก็ไม่สนเรื่องการบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายอีกเช่นกัน แต่อยู่ที่ความรับผิดชอบต่อชีวิตใหม่ต่างหากที่จะแสดงว่า เด็กคนนั้นเป็นผู้ใหญ่หรือไม่
นิติภาวะกับวุฒิภาวะใช่ว่าจะโตขึ้นพร้อมกันในทุกๆ คน ถึงที่สุดแล้ว แม้ในทางปฏิบัติความเป็นเด็กและผู้ใหญ่จะไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน และเปลี่ยนไปเรื่อยตามยุคสมัย ทว่าในยุคที่เต็มไปด้วยหลุมพราง คงยากที่สังคมจะปฏิเสธกติกาต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่เองก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้เยาวชนด้วย หากเราเรียกร้องวุฒิภาวะจากพวกเขา
***************
เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ทีมภาพ CLICK