xs
xsm
sm
md
lg

ปริศนาศาลนัดฟังถอนประกัน“คางคกตู่”ใกล้นอนคุกหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**20 มกราคม นี้ คงเป็นวันที่หลายคนอยากให้ถึงเร็วๆ เพื่อลุ้นว่า “คางคกตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ จะต้องเข้าไปนอนในคุกหรือไม่ หลัง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ยื่นศาลขอถอนประกันตัว “คางคกตู่” ที่มีพฤติกรรมขัดเงื่อนไขของศาลใน 3 ประเด็น คือ
1. แม้พฤติการณ์ของคางคกตู่ในการขึ้นเวทีคนเสื้อแดงที่ผ่านมาจะไม่ได้พูดอะไรที่เข้าข่ายผิดข้อกำหนด หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขในการให้ประกันตัว แต่พฤติการณ์โดยรวมของคางคกตู่ ถือเป็นแกนนำให้เกิดการชุมนุมเรือนหมื่น แถมยังต่อสายไปถึง ทักษิณ ชินวัตร โดยเป็นผู้ถือโทรศัพท์เอง และ ทักษิณ ก็พูดผ่านเครื่องโทรศัพท์ของคางคกตู่ และคางคกตู่ ก็ถ่ายทอดเสียงออกไป ซึ่งถ้อยคำ ที่ ทักษิณ พูด มีหลายตอน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการสอบสวน และการดำเนินคดี คางคกตู่ จึงอยู่ในฐานะรู้เห็นเป็นใจ ในการดำเนินการดังกล่าว แม้ไม่ได้เป็นคนพูดเองก็ตาม
2. คางคกตู่ได้ให้ข่าวสองประโยคที่สำคัญ คือบอกว่า ไม่ใช่ลูกไล่ นายนายธาริตเป็นเพียงข้าราชการซี 10 ที่ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องไปกลัว แต่ นายธาริต ต้องกลัวตัวคางคกตู่ และจะไล่ฟ้องนายธาริต ในหลายเรื่อง
3. คางคกตู่ บอกว่า อาจจะดำเนินการฟ้องศาล ในฐานะที่ศาลได้ออกข้อกำหนดไม่ถูกต้อง เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เลิกแล้ว แต่กลับสั่งห้ามชุมนุม 2 ประโยคนี้ ดีเอสไอได้พิจารณาร่วมกันแล้ว เห็นว่า การกระทำเข้าข่ายเป็นการประทำที่อาจกระทบกระเทือนต่อการสอบสวน หรือการพิจารณาคดีของศาล และยังข่มขู่นายธาริต ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน และในฐานะพยานในคดีหวังให้เกิดความหวาดกลัวด้วย
หลังจากอธิบดีดีเอสไอ ยื่นเรื่องต่อศาลอาญา ก็มีกำหนดนัดฟังคำสั่งว่า จะถอนประกันตัวตามคำร้องของดีเอสไอหรือไม่ ในวันที่ 20 มกราคมนี้
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ดีเอสไอ เคยยื่นขอถอนประกันตัว “คางคกตู่” ก่อนหน้านี้มาแล้ว 3 ครั้ง ทุกครั้งศาลอาญาจะนัดฟังคำสั่งในวันรุ่งขึ้น แต่กรณีนี้ มีการยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 20 มกราคม ทอดเวลาจากวันที่ยื่นคำร้องนานถึง 8 วัน
มีอะไรที่แตกต่างไปจากการขอถอนประกันตัวใน 3 ครั้งที่ผ่านมา คราวนี้ศาลอาญา จึงต้องใช้เวลาพิจารณาสำนวนของดีเอสไอนานถึง 8 วัน เป็นเรื่องที่น่าคิด ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งหมดเป็นดุลพินิจของศาล
แต่ในฐานะผู้สังเกตุการณ์เห็นว่ามีนัยยะที่น่าสนใจยิ่ง เพราะการเคลื่อนไหวของ “คางคกตู่” ในคราวนี้เกิดขึ้นหลังจากศาลอาญาเพิ่มเงื่อนไขการประกันตัว คือ ห้ามไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และห้ามเผยแพร่ข้อมูลทางการเมืองที่จะทำให้เสียหายต่อรูปคดี เว้นแต่จะเป็นการอภิปรายในรัฐสภา
**ขณะที่ “คางคกตู่”ไม่นำพาต่อเงื่อนไขดังกล่าว ท้าทายอำนาจศาลด้วยการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดง โดยอ้างว่าไม่ได้มีการปราศรัยที่เกี่ยวข้องกับคดีก่อการร้าย และหยิบยกเอาความเห็นของ มานิตย์ สุขอนันต์ รองอธิบดีศาลอาญา ที่ให้คำปรึกษากับทนายความของ “คางคกตู่”ว่า สามารถไปร่วมการชุมนุมได้ หากไม่เกี่ยวกับคดีก่อการร้าย และไม่พูดในลักษณะที่จะกระทบต่อรูปคดี
จากข้อมูลดังกล่าวมีประเด็นน่าพิจารณาดังนี้
1. การที่ศาลอาญาใช้เวลาถึง 8 วัน ในการพิจารณาสำนวนก่อนที่จะมีคำสั่ง แสดงว่าต้องมีข้อมูลหรือหลักฐานใหม่ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่ดีเอสไอได้เคยยื่นเรื่องขอถอนประกันตัวคางคกตู่ 3 ครั้งก่อนหน้านี้ และแน่นอนว่า คงไม่สามารถนำเอาดุลพินิจเดิมของศาลที่เคยมีคำสั่งยกคำร้องไปทั้ง 3 ครั้ง เพราะมีเรื่องของเงื่อนไขเพิ่มที่ “คางคกตู่” อาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์ ขัดต่อเงื่อนไขการประกันตัวของศาล
2. ห้วงเวลาที่ศาลอาญานัดฟังคำสั่งคือ วันที่ 20 มกราคม ก่อนวันเปิดสมัยประชุมสภา เพียงวันเดียวเท่านั้น มีคำอธิบายทางกฎหมาย เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 กำหนดว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แต่การพิจารณาคดี ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้น จะมาประชุมสภา
การพิจารณาพิพากษาคดีที่ศาลได้กระทำก่อนมีคำอ้างว่า จำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่ง ย่อมเป็นอันใช้ได้
**ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ถูกคุมขังในระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันที ถ้าประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ได้ร้องขอ
**คำสั่งปล่อยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันสั่งปล่อยจนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุม
จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น จะเห็นได้ว่า ศาลอาญามีความจำเป็นต้องพิจารณาคำร้องของดีเอสไอเสียให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเปิดสมัยประชุม ไม่เช่นนั้นกระบวนการพิจารณาของศาลก็จะเดินหน้าไม่ได้ เนื่องจากมีการห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ
ประเด็นต่อมา คือ หากศาลอาญามีคำสั่งถอนประกันตัว “คางคกตู่” ก็จะเข้าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 131 ที่ระบุว่า
** ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ถูกคุมขังในระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณีต้องสั่งปล่อยทันทีถ้าประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ
ในกรณีนี้ หากศาลอาญามีคำสั่งถอนประกันตัว ก็เท่ากับว่า “คางคกตู่” ซึ่งเป็น ส.ส.ถูกคำสั่งคุมขังโดยศาล และไม่จำเป็นต้องปล่อยตัวทันทีที่เปิดสมัยประชุม เพราะรัฐธรรมนูญเขียนชัดว่า ต้องสั่งปล่อยทันทีถ้าประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ
**แสดงว่าอิสรภาพของ “คางคกตู่” ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่เปิดประชุมสภา แต่จะมีก็ต่อเมื่อ ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ร้องขอไปยังศาลอาญาที่มีคำสั่งคุมขัง
3. เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนี้ หากศาลอาญามีคำสั่งถอนประกันตัว “คางคกตู่” ในวันที่ 20 มกราคม แม้วันที่ 21 มกราคม จะเปิดสมัยประชุมสภา “คางคกตู่” ก็ยังต้องนอนในคุก จนกว่าจะมีการร้องขอจาก ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปยังศาลอาญา ซึ่งที่ผ่านมา กรณีที่สมาชิกของรัฐสภาเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ ประธานของสภานั้น ก็จะขอมติจากที่ประชุมว่า จะอนุญาตให้มีการคุมขังสมาชิกหรือไม่ จึงเชื่อว่า “เฒ่าเก๋าเจ๊ง” อย่าง ชัย ชิดชอบ คงไม่ใช้ดุลพินิจของตัวเองตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ แต่น่าจะโยนไปให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณามากกว่า โดยที่ผ่านมา มักมีการอ้างประเพณีปฏิบัติว่า สภาไม่เคยอนุญาตให้สมาชิกถูกคุมขัง
ดังนั้น กรณีนี้ก็ต้องวัดใจรัฐบาลในฐานะที่คุมเสียงข้างมากในสภา ว่าจะพิจารณาพฤติการณ์ของ “คางคกตู่” ด้วยเหตุผลมากกว่าที่จะยึดธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อปกป้องส.ส.ด้วยกันหรือไม่ เพราะ “คางคกตู่”กระทำความผิดร้ายแรง มีโทษฐานก่อการร้าย และยังทำผิดซ้ำซากในการปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง พฤติกรรมเยี่ยงนี้ สภาจะปกป้องเพื่อให้อยู่นอกคุกทำร้ายประเทศชาติต่อไปหรือ
4. น่าคิดอย่างยิ่ง ในกรณี มานิตย์ สุขอนันต์ รองอธิบดีศาลอาญา ไปให้คำปรึกษากับทนายความของ “คางคกตู่” จนถูกนำมากล่าวอ้าง และเจ้าตัวก็ยอมรับนั้น เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในฝ่ายตุลาการหรือไม่ เพราะแต่ละคดี จะมีผู้พิพากษาและองค์คณะเป็นเจ้าของคดี ซึ่งมีอิสระในการใช้ดุลพินิจของตัวเอง แม้แต่ประธานศาลฎีกา ก็ยังเข้าไปก้าวล่วงไม่ได้ แต่กรณีนี้ มานิตย์ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับคดนี้ กลับไปฟันธงว่า “คางคกตู่” จะทำอะไรได้บ้าง ที่จะไม่ผิดต่อเงื่อนไขการประกันตัว ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้านี้ผู้พิพากษาในคดีนี้ เคยยกคำร้องกรณี “คางคกตู่” ขอความชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขการประกันตัวไปแล้ว โดยระบุว่า ทุกอย่างมีความชัดเจนแล้ว
มานิตย์ มีหน้าที่อะไรไปให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับ “คางคกตู่” ที่สำคัญคือ ตำแหน่งที่เป็นถึงรองอธิบดีศาลอาญา จะเป็นแรงกดดันต่อผู้พิพากษาในคดีนี้หรือไม่ จึงน่าติดตามว่า เนื้อหาในคำสั่งที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 มกราคมนี้ จะมีการระบุถึงการกล่าวอ้างถึงคำปรึกษาดังกล่าวด้วยหรือไม่ อย่างไร
** ที่กล่าวมาทั้งหมด อยู่บนสมมติฐานว่า “คางคกตู่” อาจไม่รอดนอนคุก เพราะศาลอาญาอาจจะมีคำสั่งให้ถอนประกันตัว ในวันที่ 20 มกราคมนี้ แต่ถ้าศาลมีดุลพินิจในทางตรงกันข้าม คือ ไม่ถอนประกันตัว “คางคกตู่” เราก็อาจได้เห็น คางคกแปรสภาพเป็นอึ่งอ่าง พองตัวแข่งกับควาย เพราะคิดว่าใหญ่คับฟ้า แล้วในที่สุดก็อาจต้องตายเพราะความอหังการ์ของตัวเองก็ได้ ใครจะรู้
กำลังโหลดความคิดเห็น