xs
xsm
sm
md
lg

ฉวยบาทอ่อน ธปท.ขยับดบ. อ้างดึงทุนนอกกลับคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติฉวยจังหวะเงินบาทอ่อนค่าหลังต่างชาติเทขายหุ้น-พันธบัตร ส่งสัญญาณให้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ พร้อมอัตราเงินเฟ้อพุ่งหลายทิศทาง "อัจนา" ยอมรับ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ต่างชาติขายพันธบัตร 6 พันล้านบาท แต่ไม่อยากให้กังวล เพราะพอดอกเบี้ยนโยบายขยับ ต่างชาติจะกลับมาลงทุน

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าในขณะนี้เกิดจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและส่งผลให้ค่าเงินต่างๆ ในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเงินบาทไทยอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่เห็นปรับตัวบ้างของนักลงทุนต่างชาติมีแรงขายออกของหุ้นและพันธบัตรไทยมากขึ้น เฉพาะวันที่ 10 ม.ค.เพียงวันเดียว ต่างชาติมีการขายพันธบัตรมากถึง 6 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าการเคลื่อนไหวเงินบาทในขณะนี้ไม่ได้อ่อน จนเหวี่ยงลงแรงกว่าที่ควรจะเป็น (Undershoot) ถึงขั้นสร้างความกังวล

**ย้ำเงินเฟ้อกดดันขึ้นดอกเบี้ย**
รองผู้ว่าการธปท.ได้กล่าวภายในงานเสวนาหัวข้อ “Economic Outlook 2011”จัดโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)ด้วยว่า ในปี 54 แรงกดดันเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มสูงขึ้นและมาจากทุกทิศทุกทาง โดยปัจจัยนอกประเทศจากราคาพืชผลเกษตร ราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นจากการทำมาตรการของประเทศอีกซีกโลกหนึ่ง

ขณะที่ปัจจัยในประเทศมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เงินเดือนข้าราชการและเอกชน ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยต้นทุนค่าจ้างคิดเป็น 10%ของต้นทุนรวม อีกทั้งหากเศรษฐกิจขยายตัวดีก็มีโอกาสที่ผู้ผลิตจะผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้อีก

สำหรับเศรษฐกิจโลกในปีนี้มองว่าจะขยายตัว 3.2-3.3% จากปีก่อนขยายตัว 3.9% โดยขณะนี้ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีมากกว่าของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะทำนโยบายมหภาคที่เอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไปอีกระยะหนึ่ง และธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)คงใช้ทิศทางดอกเบี้ยผ่อนคลายและไม่ถอนมาตราการ QE2 โดยเร็ว

กลุ่มประเทศเกิดใหม่มีทิศทางนโยบายการเงินและการคลังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติการขึ้น เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น ดังนั้น ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต้องจับตามอง คือ ประสิทธิภาพของมาตรการ QE2 และปัญหาหนี้ประเทศในกลุ่มยุโรปว่าจะดึงวิกฤตการเงินโลกกลับมาหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ประเมิน พบว่า ผลกระทบโดยตรงไม่มากนัก เพราะแบงก์พาณิชย์ไม่ได้ถือหลักทรัพย์กลุ่มประเทศเหล่านี้มากนัก แต่ทางอ้อมอาจสร้างความผันผวนต่อตลาดพันธบัตรได้ ทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ม.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหรือไม่

**มาตรการสกัดเงินเข้าต้องคิดหนัก**
นางอัจนา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การทำมาตรการ QE2 นี้จะมีผลให้สภาพคล่องของสหรัฐเพิ่มขึ้นและมีเงินทุนไหลภูมิภาคเอเชียมากขึ้นและอาจมากกว่าที่เห็นในช่วงปีที่ผ่านมา และเมื่อใดก็ตามหากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจไทยขยายตัวดี นักลงทุนต่างชาติก็จะกลับเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญในการดึงดูดเงินทุนไหลเข้า คือ การเติบโตเศรษฐกิจมากกว่า เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มีการซื้อสินทรัพย์ไว้เพื่ออนาคต จึงต้องดูปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจมากกว่า ขณะที่ปัจจัยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่งในการดึงเงินทุนไหลเข้า ฉะนั้น ธปท.พยายามทำให้เห็นแนวโน้มเงินดอลลาร์ เพื่อให้ผู้ส่งออกเห็นว่าต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง และพยายามดูแลเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่าแบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่สามารถเลือกทางใดทางหนึ่งได้ในการดูแลเงินทุนไหลเข้าได้

และหากสุดท้ายต้องใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าก็ต้องศึกษารอบคอบเห็นได้จากประสบการณ์หลายประเทศที่ใช้แล้วไม่ค่อยได้ผลหรือได้ผลเฉพาะช่วงแรกเท่านั้น และเห็นได้จากบทเรียนปี 49 ที่ออกมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก แต่ก็ห้ามเงินบาทแข็งไม่ได้

“การทำมาตรการจะได้รับประโยชน์และแง่ของต้นทุนไม่ได้ชัดเจน จึงบอกไม่ได้ว่าควรทำมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าหรือไม่ เพราะการทำเครื่องมือไม่ได้มีผลชัดเจน จึงต้องคิดหนักพอสมควร”นางอัจนากล่าวและว่าประสิทธิภาพนโยบายการเงินส่งผลให้เศรษฐกิจพลิกผันได้ยาก และทิศทางค่าเงินคาดเดายาก ซึ่งตัวนักการเงินเองก็คาดเดาไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจต้องป้องกันตัวเองด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น