xs
xsm
sm
md
lg

โครงการปิดทองหลังพระ-น่าน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัปดาห์นี้ว่าไปแล้ว มีประเด็นข่าวน่าสนใจหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “7 คน” ที่ยังไม่จบสิ้นกระบวนความด้านกระบวนการยุติธรรมที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งนับว่าเป็น “เรื่องร้อน (Hot)” อย่างมาก

ต่อมาก็หนีไม่พ้น ที่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา “แสงแดด” ได้สบโอกาสร่วมเดินทางไปกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ และ ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ตลอดจนกลุ่มผู้ที่รอรับคณะเราที่บินตรงมากรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่เสร็จแล้ว นั่งเครื่องบินเล็กมีเก้าอี้เพียง 12 ที่นั่ง จากสนามบินเชียงใหม่เดินทางสู่จังหวัดน่าน ใช้เวลาบิน 45 นาที ชนิดเครื่องบินใบพัดเดียว เรียกว่า “ครั้งแรกในชีวิต” ก็แล้วกัน ต้องบอกว่า “เสี่ยงเอาเรื่อง!” แต่อย่างไรก็ตาม “ประสบความสำเร็จ” ทั้งขาไปและขากลับ

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล และท่านองคมนตรีนายแพทย์เกษม วัฒนชัย ได้ไปรอรับคณะเราที่จังหวัดน่าน เพื่อเข้าร่วมเป็น “กลุ่ม 0” กล่าวคือ เป็น “กลุ่มรุ่นบุกเบิก” ที่จะนำร่องเดินทางไปพบกับ “กลุ่มผู้นำชุมชน” จำนวน 3 หมู่บ้าน มี “หมู่บ้านน้ำป้าก-หมู่บ้านห้วยธนู-หมู่บ้านห้วยมงคล” โดย “กลุ่ม 0” นี้เป็นกลุ่มที่ต้องทำตัวเป็นนักศึกษา (นักเรียน) เพื่อ “นั่งฟัง-รวบรวมข้อมูล” ตลอดจน “เดินดิน” เพื่อนำข้อมูลต่างๆ จาก “ประชาชน” ที่แปรสภาพเป็น “ครู” แก่กลุ่มคณะเรา ในการนำประเด็น “ปัญหา” ต่างๆ ที่พี่น้องประชาชนจากสามหมู่บ้านทดลองนำเสนอแก่พวกคณะเรา

ประเด็นสำคัญกับการเดินทางไปร่วมกับสามหมู่บ้านในครั้งนี้ เพื่อนำประเด็นปัญหา (ขอย้ำปัญหา) เนื่องด้วยแทบทุกครั้งที่องค์คณะผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเดินทางสู่ต่างจังหวัดประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ จะไปรับฟังปัญหา แล้วนำมาสรุปเพื่อนำเสนอการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยนำ “เงิน-อุปกรณ์-เครื่องไม้เครื่องมือ” ไปให้ แล้วก็จบกัน!

คำถามคือว่า “ประเด็นปัญหา” ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปนั้น เมื่อ “หน่วยงานราชการ-หน่วยงานภาครัฐ” รับฟังนำมาสรุปดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อของบประมาณเบิกจ่ายเสร็จแล้ว “รอ...รอ...รอ!” จนในที่สุด เมื่องบประมาณ บวกอุปกรณ์มา แล้วนำไป “ปรับปรุง” เท่านั้น ถามว่า แล้ว “การพัฒนา” อยู่ที่ใด กรณีนี้เป็นประเด็นที่คณะเราต้องเดินทางไปจุดประกายที่จังหวัดน่าน

สามหมู่บ้านที่เราไปนั้น ว่าไปแล้วทางคุณชายดิศนัดดา ดิศกุล ท่านองคมนตรี คุณหมอเกษม วัฒนชัย ท่านอาจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน ท่านเลขาธิการ ก.พ.ร. และกลุ่มเจ้าหน้าที่ “โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริฯ” เป็น “โครงการนำร่อง” ที่จะเริ่มทดลองดำเนินการตามขั้นตอนแรกด้วย “ความสมัครใจ” ของพี่น้องประชาชนจากสามหมู่บ้านเท่านั้น มิเช่นนั้นจะไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น

เรียกว่า ทาง “โครงการปิดทองหลังพระฯ” ได้ดำเนินการล่วงหน้าไปมากแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2552 ทางคณะเราจึงเดินทางไป โดยใช้เวลาเพียง 2 วันเต็มๆ เท่านั้น ที่ได้คลุกคลีกับชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้า ยันเย็นเลยทีเดียว

ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากที่สุด ส่วนใหญ่แล้วมักเป็น “ปัญหา” เสียส่วนมาก แต่ประเด็นที่อาจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน ซึ่งเข้าใจดีว่าเป็นปัญหาสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้ “ปัญหา” กลายมาเป็น “ปัญญา” ที่จะเริ่ม “พัฒนาเชิงยั่งยืน (Sustainable)” ตลอดไป

เหมือนกับคำกล่าวโบราณที่ว่า “อย่าเอาปลาไปให้เขา แต่สอนให้เขาตกปลา หาปลากินเอง!” พูดง่ายๆ หมายความว่า “ต้องสอนให้พี่น้องประชาชนรู้จักช่วยตนเอง พร้อมทั้งพัฒนาตนเอง ให้ดูแลตนเองได้ จนสามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน” ในกรณีนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า ประชาชนชอบที่จะนำเสนอปัญหาแก่ภาครัฐ และแน่นอนรัฐก็ดำเนินการให้ด้วย เมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็จบกันไป!

แต่ประเด็น “ปัญหา” นั้น เป็นกรณีที่ต้องค่อยๆ “เรียนรู้” ด้วย “ความเข้าใจ” และแน่นอนต้อง “เข้าถึง” เพื่อการ “พัฒนา” สอดคล้องกับ “แนวคิดพระราชดำริ” ในประเด็นของ “ปรัชญาพอเพียง” ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำเสนอสู่สาธารณชนมาหลายปี “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา”

“โครงการปิดทองหลังพระสืบสานพระราชดำริ” เป็นโครงการใหม่ที่จะนำร่องที่สามหมู่บ้านจังหวัดน่านดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งถ้าดำเนินการสำเร็จ จะสามารถนำมาขยายผลกับอีกหลายๆ หมู่บ้าน จนในที่สุด ทั่วทั้งประเทศ โดยการเดินทางไปร่วมเป็น “กลุ่ม 0” ในครั้งนี้ เพื่อนำมากำหนด “หลักสูตร” ให้จบภายในประมาณ 2-3 เดือน

ผู้ที่จะเข้าร่วมหลักสูตรนี้ ต้องเป็น “ข้าราชการระดับสูง” เริ่มตั้งแต่ระดับอธิบดีไปจนถึงระดับปลัดกระทรวง พูดภาษาชาวบ้านคือ “ข้าราชการระดับสูงมาก” เพียง 30 คนเท่านั้น เข้าหลักสูตรจนครบ 180 วัน (ประมาณ 6 เดือน) ที่หลักสูตรน่าจะมิใช่เพียงเข้าชั้นฟังการบรรยาย แต่ต้องเดินทางไปคลุกคลีกับชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้าน ชนิดที่เรียกว่า “ใกล้ชิด!” กันเลยทีเดียว

ประเด็นเนื้อหาสาระสำคัญ เพื่อต้องการให้ประชาชนระดับชาวบ้านเป็น “ครู” ที่นำปัญหาที่เขาประสบพบเจอ ไม่ว่า ในกรณีของ “เงินทุน-หนี้สิน” และแน่นอน “ปัญหาสภาพแวดล้อม” โดยเฉพาะ “น้ำท่วม” ที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี เพียงแต่ว่าเมื่อ “ข้าราชการระดับสูง” ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับทราบปัญหา นำมาบดเคี้ยวแล้ว “ร่วมกันแก้ปัญหา” จนเกิด “ปัญญา” ขึ้น ถามว่า “ยากแค่ไหน” ก็ต้องตอบว่า “ยากมาก” จนถึง “ยากที่สุด!”

เนื่องด้วยเหตุผลสำคัญ คือ หนึ่ง ระบบราชการไทยที่ผู้บริหารระดับสูงนั้น มักเคยชินกับการสั่งจากบนลงสู่ล่าง สอง พฤติกรรมข้าราชการไทย มักไม่ค่อยฟังอะไร เบื้องหน้าอาจดูดี แต่เบื้องหลังจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง สาม ข้าราชการระดับอธิบดี ระดับปลัดกระทรวง เหลืออายุราชการเพียงสูงสุดไม่น่าเกิน 5 ปี แต่การเข้าร่วมดำเนินการนี้ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี พูดง่ายๆ หมายความว่า กว่าจะรู้เรื่อง ข้าฯ ก็ไปแล้ว สี่ พฤติกรรมทุจริตนั้น มักเกิดขึ้นได้เสมอ จึงอยากดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอง โดยนำมามอบให้แก่ประชาชน และห้า การเข้าไปมีส่วนร่วมกับประชาชนนั้น ในสังคมบริบทยุคใหม่ น่าจะเริ่มทำได้ เพียงแต่ต้องร่วมกันอย่างจริงจัง นานกว่าประมาณ 3 ปีขึ้นไป การมีส่วนร่วมตรงนี้ อธิบดีนั้นจะนั่งดำเนินการได้นานเพียงไหน?

ทั้งหลายทั้งปวง ต้องยอมรับว่า “ยาก” แต่ถามว่า “ต้องดำเนินการหรือไม่” คำตอบคือ “ยุคนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ทำ สังคมไทยก็จะเป็นสังคมอุปถัมภ์กันต่อไป” สรุปคือ “ยังไงๆ ก็ต้องทำ!”
กำลังโหลดความคิดเห็น