น่าน - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ และทรงเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดน่าน
วันนี้ (25 ก.พ.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักงานโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จังหวัดน่าน บริเวณชุมชนบ้านไผ่เหลือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ทรงฟังการรายงานความเป็นมา และทอดพระเนตรนิทรรศการ “โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ”
เริ่มจาก “โครงการเปิดทองหลังพระ” ที่หลายหน่วยงานร่วมจัดขึ้นเมื่อปี 2550 ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมโครงการพระราชดำริ 19 โครงการ พร้อมกับเรียนรู้แนวพระราชดำริต่าง ๆ และได้ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการไปจนถึงปี 2554 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา และเน้นให้ประชาชนทั่วประเทศ นำแนวพระราชดำริไปพัฒนาตนเอง และท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน
โดยร่วมกับสถาบันวิชาการสถาบันวิจัย ประมวลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริใน 6 มิติหลัก คือ น้ำดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อม ถ่ายทอดไปสู่ชุมชน จังหวัด และภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปรับกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมตามสภาพภูมิสังคม และปัญหาของชุมชนแต่ละพื้นที่ ซึ่งประยุกต์มาจากหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” และคัดเลือกจังหวัดน่าน เป็นพื้นที่นำร่อง
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังเนินจุดประกาย บ้านน้ำป้าก ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศที่เคยเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำสบสาย ลุ่มน้ำสำคัญของแม่น้ำน่าน พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่สูงชัน การใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชไร่หมุนเวียน
สภาพป่าต้นน้ำถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อทำการเพาะปลูก ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้ราษฎรสามารถแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ แก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้สิน ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร และหยุดเผา หรือแผ้วถางป่า
และทรงเปิดระบบส่งน้ำ ฝายน้ำป้าก เพื่อให้พื้นที่เกษตรกรรมชุมชนบ้านน้ำป้าก บ้านห้วยธนู และบ้านห้วยม่วง มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี ซึ่งฝายแห้งนี้เป็นฝายหินก่อ จุน้ำได้ 518 ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับน้ำ 233 ไร่ สามารถปลูกข้าว และพืชหลังนาได้ ซึ่งจะสร้างรายได้แก่ราษฎรปีละประมาณ 1,340,000 บาท จากการปลูกข้าว 1 ครั้ง และปลูกถั่วเหลืองหลังนา โดยมีต้นทุนในการก่อสร้างเพียง 2,300,000 บาทเศษ ซึ่งเป็นค่าฝายเพียง 470,000 บาทเศษ นอกนั้นเป็นค่าก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำไปตามพื้นที่เป็นระยะทาง 3,200 เมตร
โอกาสนี้ ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงนาที่ประสบอุทกภัยและดินถล่มในปี 2551 ซึ่งทำให้ฝายที่มีอยู่เดิม 22 แห่ง และที่นา 164 ไร่ เสียหายเกือบทั้งหมด มีหิน ท่อนซุงและท่อนไม้ พัดเข้ามาในพื้นที่นา ราษฎรได้ช่วยกันนำหินในแม่น้ำ กระสอบทราย และวัสดุในพื้นที่ มาซ่อมแซมฝายที่เสียหายแล้ว 8 แห่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสว่า หากมีงบประมาณเพียงพอสามารถก่อสร้างฝายคอนกรีตที่แข็งแรงทนทานได้ แต่ถ้าขาดแคลนงบประมาณ ก็ควรสนับสนุนราษฎรได้เรียนรู้การพึ่งพาตนเอง ร่วมแรงร่วมใจกันซ่อมสร้างฝายเหล่านี้ขึ้นเองเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นเรื่องที่ดี และยังมีราคาถูกกว่าด้วย
จากนั้น ทอดพระเนตรพื้นที่นาขั้นบันได ซึ่งนำองค์ความรู้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “ลดการใช้พื้นที่ป่าปลูกนาขั้นบันได” ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาขยายผล เพื่อปรับสภาพดิน และเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภค ควบคู่กับการลดพื้นที่แผ้วถางป่าเพื่อปลูกข้าวไร่
ส่วนการเพาะปลูกในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสองแคว และอำเภอท่าวังผา ที่เดิมตั้งเป้าว่าจะปลูกข้าวให้ได้ปีละ 2 ครั้ง และปลูกถั่ว 1 ครั้งนั้น ทรงมีพระราชดำริว่า ควรปลูกข้าวปีละครั้งเดียว เพราะเป็นนาใหม่แต่ถ้าต้องการปลูกปีละ 2 ครั้ง ให้ทางโครงการทดลองเอง ไม่ให้ประชาชนต้องมาเสี่ยงกับการขาดทุน หากได้ผลแล้วจึงค่อยขยายผลไปสู่ประชาชน สิ่งสำคัญต้องระวังหนู นก และราข้าว การปลูกพืชอื่นๆ เช่น หวาย ต๋าว มะแกว่น แหย่ง ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นให้ปลูกเสริมในป่าเพื่อให้คนกับป่าเกื้อกูลกันและอยู่ร่วมกันได้