xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"ซื้อใจข้าราชการ ปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยง-ที่พัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"มาร์ค" เอาใจข้าราชการตั้งแต่เริ่มปีใหม่ ปรับเพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทางไปราชการ และค่าเช่าที่พัก รวมถึงเพิ่มค่ารักษาพยาบาลของพนักงานสำนักงานธนานุเคราะห์ พร้อมอนุมัติเงินค่าครองชีพย้อนหลังแก่ครูเอกชน 74,000 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (4 ม.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 6 เสนอให้ครม.พิจารณาร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่า ด้วยการเบิกจ่าย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อแก้ไขให้การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางไปราชการ สอดคล้องกับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ที่ได้ปรับปรุงระบบตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่น่าสนใจ มีการแก้ไขปรับเพิ่มอัตราเบี้ยเลี้ยงเดินทางในราชอาณาจักร ตามร่างบัญชี หมายเลข 2 ดังนี้ คือ ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ระดับ 1-2 อัตราเดิม 180 บาท เป็น 240 บาท ระดับ 3-8 เดิม 210 บาท เป็น 240 บาท ส่วนระดับ 9 ขึ้นไป อัตราเดิม 240 บาท เป็น 270 บาท

นอกจากนี้ ยังปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าที่พักในราชอาณาจักรให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันตามร่างบัญชีหมายเลข 3 ดังนี้ คือ ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ระดับ 8 ลงมา อัตราเดิมเหมาจ่ายวันละไม่เกิน 1,000 บาท เป็นอัตราใหม่ ห้องพักเดี่ยว 1,500 บาท พักคู่ 850 บาท เหมาจ่าย 800 บาท ระดับ 9 เดิมเหมาจ่ายไม่เกินวันละ 1,600 บาท อัตราใหม่ พักเดี่ยว 2,200 บาท พักคู่ 1,200 บาท เหมาจ่าย 1,200 บาท ระดับ 10 เดิมเหมาจ่ายไม่เกิน 2,500 บาท อัตราใหม่พักเดี่ยว 2,500 บาท พักคู่ 1,400 บาท เหมาจ่าย 1,200 บาท

นพ.มารุต มัสยวานิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบตามกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมขอความเห็นชอบการปรับปรุงสวัสดิการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ของพนักงานสำนักงานธนานุเคราะห์ ดังนี้ คือ

1.ปรับปรุงค่าห้อง และค่าอาหารในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ และสถานพยาบาลของเอกชนสำหรับพนักงาน จากเดิมเบิกได้ 800 บาทต่อวัน เป็นเบิกได้ 1,000 บาทต่อวัน และบุคคลในครอบครัว จากเดิมเบิกได้ 600 บาทต่อวัน เป็นเบิกได้ 800 บาทต่อวัน

2.ให้พนักงานมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ประเภทผู้ป่วยนอก ในกรณีที่ได้รับอันตรายแก่กายหรือเจ็บป่วย ให้ใช้สถานพยาบาลเอกชนหรือคลินิกแพทย์ได้ครั้งละไม่เกิน 500 บาท รวมปีละไม่เกิน 3,600 บาท

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลโดยทั่วไปมีราคาเพิ่มสูงขึ้น และค่าครองชีพได้เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือ และบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และยังเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ แก่พนักงานสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ จึงมีมติปรับปรุงสวัสดิการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว

**อนุมัติค่าครองชีพย้อนหลังครูเอกชน

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง จัดสรรสำหรับจ่ายเป็นเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวจำนวน 1,500 บาท แก่ครูโรงเรียนเอกชนที่เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 11,700 บาท โดยเบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป ประกอบด้วย งบประมาณ ปี 2553 งบกลาง จำนวน 267 ล้านบาท สำหรับการจ่ายย้อนหลังให้ครูเอกชนที่มีสิทธิจำนวน 74,434 คน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ย.2553 และครม.ยังอนุมัติในหลักการ ให้เบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2554 จำนวน 641 ล้านบาท สำหรับจ่ายให้ครูเอกชนตั้งแต่เดือนต.ค.2553-ก.ย.2554 ซึ่งจะต้องมีการสำรวจจำนวนครูเอกชนที่มีสิทธิได้รับอีกครั้งหนึ่ง

**สั่งคลังเร่งดูแลปัญหาการรักษาพยาบาล

วันเดียวกันนี้ นายชินภัทร ปันยารชุน ประธานชมรมเจ้าหน้าที่ของรัฐแห่งประเทศไทย ได้เข้ายื่นเรื่องเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพิ่มเติม หลังจากได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่มีมติครม.ผ่านความเห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลัง เพิ่มเติมเงินบำเหน็จตกทอด 15 เท่า ของผู้รับบำเหน็จรายเดือน ดังนี้

1.ขอความอนุเคราะห์รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาค่ารักษาพยาบาลให้ลูกจ้างประจำหลังเกษียณอายุ

2.ขอความอนุเคราะห์รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ. 2494 มาตรา 9 (3) เหตุสูงอายุและมาตรา 13 มากำหนดเพิ่มเติมในระเบียบกระทรวงการคลังให้ลูกจ้างประจำรับราชการ 10 ปีขึ้นไป อายุครบ 60 ปีแล้ว เลือกรับบำเหน็จรายเดือน

ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงสวัสดิการของประชาชนทุกกลุ่มว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงสวัสดิการสิทธิประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มมาโดยตลอด ซึ่งตรงนี้ก็รวมไปถึงในส่วนของลูกจ้างประจำของส่วนราชการด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีบุคลากรภาครัฐที่มีสถานะหลากหลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นคิดว่า 2 ปีที่ผ่านมา คงทำให้ทุกคนได้เห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจในการที่จะขยายสิทธิ และสวัสดิการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะยังคงมีประเด็นที่ทุกคนหรือแม้กระทั่งกลุ่มอื่นๆ ยังมองเห็นว่าน่าจะสามารถที่จะปรับปรุงได้อีก ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดที่ได้ยื่นมานั้นก็จะได้มอบให้หน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ต่อไป

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องของการปรับเงินเดือน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การขึ้นเงินเดือนหรือการปรับเงินเดือน ตามกฎหมายของไทย ทำได้ 2 วิธี โดยวิธีที่แรก คือ กรณีที่ต้องการจะปรับโครงสร้างเงินเดือนก็ต้องทำบัญชีกันใหม่ ซึ่งตรงนี้ต้องทำเป็นกฎหมาย และเมื่อทำเป็นกฎหมายก็จะต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะต้องผ่านสภาฯ เพราะฉะนั้นการที่มีการเสนอว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่บางระดับจะมีการปรับ 5% หรือบางระดับปรับมากกว่า 5% นั้น ถ้าจะดำเนินการดังกล่าวจะต้องทำเป็นกฎหมาย

ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ เป็นการปรับตามค่าครองชีพ ความหมาย คือ โครงสร้างเงินเดือนไม่เปลี่ยน แต่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ตรงนี้รัฐบาลถือว่าทุกคนต้องได้ปรับเพื่อชดเชยกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งการปรับเงินเดือนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 เม.ย.2554 ก็คือกรณีนี้ โดยเมื่อทางก.พ. คณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ ได้มีการพิจารณาแล้ว เห็นว่าสมควรที่จะปรับขึ้น 5% เพื่อชดเชยกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นก็จะเป็นเพียงการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ไม่จำเป็นต้องทำเป็นกฎหมายเข้าสภาฯ เช่นกรณีแรก

อย่างไรก็ตาม ยินดีที่จะรับข้อเสนอไปพิจารณา และประเมินเพื่อดูในเรื่องของภาระต่างๆ ของทางราชการ ทั้งนี้ ในส่วนของเรื่องการรักษาพยาบาลที่ยังมีปัญหานั้น รัฐบาลก็ได้มีความพยายามในการที่จะเข้าไปปรับและดูแลแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการประเมินเรื่องดังกล่าวอยู่ในเรื่องของรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ส่วนการร่นระยะเวลาต่างๆ ก็จะขอนำไปพิจารณาดูว่าจำนวนคนมีเท่าไร และจะเป็นภาระต่องบประมาณเท่าไร ซึ่งตรงนี้จะมอบให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น