จากกรณีการต่อสัญญาที่ไม่ชอบมาพากลระหว่าง “บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด” ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กับ “บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน)” เจ้าของสัมปทาน ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงมีการอนุมัติให้มีการต่อสัญญาซึ่งหมดลงในวันที่ 25 มี.ค.2553 ออกไปอีก 10 ปี ภายใต้อัตราค่าตอบแทนซึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็น คือบริษัทบางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์จ่ายค่าสัมปทานตลอดอายุสัมปทาน 10 ปี เพียง 2,002 ล้านบาท
แม้ภายหลังจากที่มีการท้วงติง ทางบางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์จะเพิ่มค่าตอบแทนให้อีก 405 ล้านบาท รวมเป็น 2,407 ล้านบาท แต่ก็ยังถือว่าต่ำมากเพราะเฉลี่ยอยู่แค่ปีละ 240 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากผลรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรระบุว่าผลตอบแทนที่ อสมท ควรได้รับในช่วงเวลา 10 ปีเมื่อทำสัญญากับไทยทีวีช่อง3 ควรอยู่ที่ 6,348ล้านบาท นอกจากนั้นหากเทียบกับ บริษัท ทรู วิชชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก ซึ่งมีจำนวนผู้ชมน้อยกว่า รายได้จากโฆษณาที่มาซื้อเวลามีน้อยกว่า แต่จ่ายค่าสัมปทานให้ อสมท ถึง 650 ล้านบาทต่อปี
ทว่า การท้วงติงนั้นก็ไม่มีผลอะไร
กระทั่งในที่สุดความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติก็เริ่มเป็นผล กล่าวคือเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของบริษัท อสมท จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ดำเนินการไต่สวนฉุกเฉินระงับการต่อสัญญาดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองก็ได้รับเรื่องไว้พิจารณา โดยผู้ถือหุ้นรายนี้ได้ยื่นฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ราย คือ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) , กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคำฟ้องทั้ง 4 ข้อแล้ว ก็จะเห็นว่า น่าสนใจยิ่ง เริ่มจากการขอให้มีการเพิกถอนมติของคณะกรรมการ อสมท เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2552 ซึ่งได้พิจารณารับข้อเสอนของบริษัทบางกอกเตอร์เทนเมนต์ ที่จะจ่ายผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก 405 ล้านบาท จากเดิมที่ตกลงว่าจะจ่ายค่าสัมปทาน 10 ปี เป็นเงินรวม 2002 ล้านบาท ตามต่อด้วยการให้บริษัท อสมท และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท ระงับการกระทำใดๆที่จะมีผลให้มีการต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าว
จากนั้นให้บริษัท อสมท และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท ยุติการเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทบางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์เพื่อให้สัญาสัมปทานซึ่งสิ้นสุดลงในวันที่ 25 มี.ค.2553 มีผลบังคับใช้ต่อไป และปิดท้ายด้วยการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัท อสมท และในฐานะผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของบริษัท อสมท กำกับดูแลให้สัญญาร่วมดำเนินกิจการระหว่างบริษัท อสมท และบริษัทบางกอกเตอร์เทนเมนต์ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อให้การใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนและผู้ถือหุ้น
การยื่นฟ้องศาลปกครองในครั้งนี้ ต้องถือว่า ถูกที่ถูกเวลาและทันต่อสถานการณ์อย่างพอดิบพอดี แต่สำหรับนายใหญ่ที่ชื่อ “ประวิทย์ มาลีนนท์” แล้ว คงถึงกับต้องสะอึก เพราะหมูเขากำลังจะหาม แต่ดันมีคานเข้ามาสอดพอดิบพอดี ความฝันที่วาดไว้อย่างสวยหรูจึงมีอันต้องหยุดชะงักลงไปอย่างชนิดที่ต้องแอบลูบน้ำลายที่ไหลปริ่มๆ อยู่ที่มุมปากทีเดียว
และคงต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจากศาลปกครองรับเรื่องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 472/2553 แล้ว ในที่สุดจะมีผลออกมาเช่นไร