xs
xsm
sm
md
lg

กว่า 200 องค์กรลุ่มน้ำโขงนัดเปิดเวทีคู่ขนาน MRC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาแม่น้ำโขงแห้ง กำลังจะไดรับการแก้ไขในระดับหนึ่ง ในการประชุม MRC เร็วๆนี้
เชียงราย – เครือข่ายองค์กรเอกชนลุ่มน้ำโขงกว่า 200 องค์กร นัดพร้อมจัดคู่ขนาน MRC ต้นเดือนหน้าที่จุฬาฯ ก่อนยื่นบทสรุปวิกฤตน้ำโขง ผ่านสถานทูตจีน

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า ในโอกาสที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ The Mekong River Commission (MRC) มีกำหนดจัดการประชุม MRC โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2553 ที่หัวหินนั้น เครือข่ายลุ่มแม่น้ำที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 110 เครือข่าย และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกประมาณ 100 เครือข่าย จะไปร่วมกันจัดเวทีคู่ขนานเกี่ยวกับวิกฤตแม่น้ำโขง ที่หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน เพื่อประกอบกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนลุ่มแม่น้ำโขงโดยตรง

วันแรกจะจัดให้มีเวทีสาธารณะ เพื่อพูดคุยกันทางด้านวิชาการ โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนจากหลายฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งนักวิชาการ องค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอ ภาคประชาชน ฯลฯ วันที่สองจะเป็นการพบปะกันและร่วมแสดงความคิดเห็นจากตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนทั้งจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงจากภาคประชาชน

ส่วนวันที่สาม จะมีการส่งตัวแทนจากเวทีดังกล่าวไปยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ต่อไป

“ที่เรามุ่งไปยังสถานเอกอัคราชทูตจีน เพราะจากการจัดเก็บข้อมูลเหตุวิกฤตน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2551 และวิกฤตแม่น้ำแห้งขอดต้นปี 2553 บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากการก่อสร้างเขื่อนในประเทศจีนและโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเป็นสำคัญ ดังนั้น ข้อเสนอที่จะยื่นต่อสถานเอกอัคราชทูตจีน จึงเป็นการแสวงหาความร่วมมือร่วมกัน”

แกนนำจากเครือข่ายฯ ระบุอีกว่า พวกเรายังเห็นว่าวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นลุ่มแม่น้ำโขงเกิดจากเขื่อนและการระเบิดเกาะแก่งเป็นหลัก ส่วนปัจจัยอื่นๆ ก็มีอยู่บ้างตามวิวัฒนาการของการพัฒนาและผลกระทบจากแม่น้ำสาขา ซึ่งแม้ว่าประเทศจีนจะไม่เคยยอมรับว่าเกิดจากปัจจัยเหล่านี้โดยเฉพาะโครงการในประเทศจีน แต่ที่ผ่านมามีข้อมูลชี้ชัด โดยล่าสุดหลังจากมีเรือสินค้าตกค้างที่ท่าเรือเชียงแสนเพราะน้ำโขงแห้งไม่ถึง 1 เมตร

ปรากฏว่า ปัจจุบันระดับน้ำกลับเพิ่มขึ้นอย่างทันควันถึง 60 ซม.เพื่อให้เรือกลับไปได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีฝนตก หรือที่ผ่านมาเมื่อแม่น้ำโขงจะท่วมก็ขึ้นอย่างฉับพลัน และลดลงอย่างทันตาเห็นได้เช่นกัน ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าระดับน้ำถูกควบคุมโดยเขื่อนจีนแน่นอน

สภาพปัจจุบันคือแม่น้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นเล็กน้อย แต่สามารถใช้ได้เฉพาะเรือโดยสารทั่วไปเท่านั้น สำหรับเรือขนสินค้าที่จะมีระวางน้ำหนักตั้งแต่ 180 ตันขึ้นไปยังไม่สามารถแล่นได้

จากการสำรวจล่าสุดพบว่า หลังระดับน้ำเพิ่มขึ้นได้มีเรือสินค้าหลายลำทดลองแล่นออกจากฝั่งปรากฏว่า บางส่วนติดหาดทรายตั้งแต่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เวียงแก่น-เชียงของ-เชียงแสน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่าสำหรับ MRC ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 ซึ่งมีการร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยมีประเทศสมาชิกคือกัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม และมีการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่เพื่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมในสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดีในลุ่มแม่น้ำโขง

อย่างไรก็ตามในปีนี้ พบว่าประเทศที่ได้เป็นประธาน MRC กลับเป็นประเทศออสเตรเลียซึ่งไม่ได้มีอาณาเขตที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงเลย ส่วนประเทศจีนก็ไม่ได้อยู่ใน MRC ด้วย และที่ผ่านมา MRC ก็ไม่มีบทบาทในการนำเสนอหรือท้วงติงเกี่ยวกับโครงการพัฒนาของจีนมากนัก

นักวิชาการชี้แม่น้ำโขงลดลงจีนต้องช่วยแก้ปัญหา

ดร.เกษมสันติ์ สุวรรณรัต นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยกล่าวให้ความเห็นกรณีแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และการเก็บกักน้ำของประเทศจีน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อประเทศที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องดูจากต้นตอใครเป็นผู้ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว คนนั้นต้องลงมามีส่วนร่วมแก้ไข จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ อดีตแม่น้ำโขงมีการใช้น้ำร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข

“เมื่อปัจจุบันระดับน้ำลดลงจนส่งผลกระทบต่อมนุษย์ จีนต้องหาทางช่วยเหลือ พร้อมยอมรับว่าเรื่องดังกล่าว นักวิชาการไทยมีการหารือทำความเข้าใจกับนักวิชาการจีน เพื่อให้นำความเดือดร้อนไปบอกแก่รัฐบาลของเขาแล้ว แต่ไม่ได้เป็นข่าว เพราะบางเรื่องควรทำเป็นการภายใน เพื่อถนอมน้ำใจมิตรประเทศของเราไว้” นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น