xs
xsm
sm
md
lg

ตีแผ่ชีวิต 300 จับกังท่าฯเชียงแสนเมื่อน้ำโขงร้างเรือ-สายน้ำแห้งขอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรรมกรท่าเรือเชียงแสน เวลานี้ยังไม่รู้ชะตากรรมตัวเองว่าจะทำอะไรต่อไป หลังไม่มีเรือสินค้าผ่านแม่น้ำโขงเข้ามา
เชียงราย – กลายเป็นท่าเรือร้างชั่วคราวของจริงแล้ว สำหรับท่าเรือเชียงแสนริมฝั่งโขง หลังระดับน้ำแห้ง-ดอนทรายหนุนสูง 300 กว่าชีวิตกรรมกร ที่เคยทิ้งไร่นามาแย่งกันจับติ้วแบกของขึ้น-ลงเรือ มานานนับ 10 ปี วันนี้ต้องนั่งจับเข่าคุยกันเองรอวันน้ำโขงฟื้น

รอบ 10 ปีที่การค้าไทย พม่า ลาว จีน ผ่านพรมแดนเชียงรายด้านแม่น้ำโขงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เคยทำให้ชาวไร่ ชาวนา จากหลากหลายพื้นที่ ยอมละทิ้งถิ่นฐานมาปักหลักรับจ้างแบกสินค้าขึ้น-ลงเรือ ณ ท่าเรือเชียงแสน กันมากกว่า 300 ชีวิต จนสามารถรวมกลุ่มก้อน ตั้งกลุ่มกรรมกรท่าเรือในลักษณะเดียวกันกับคลองเตย-แหลมฉบัง

กระทั่งปีนี้ (2553) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมา เมื่อแม่น้ำโขงเหือดแห้งลงอย่างหนัก ทำให้พวกเขาต้องหันหลังกลับไปถิ่นฐานดั้งเดิมอีกรอบ อย่างไรก็ตาม บางส่วนก็ต้องประสบกับภัยแล้งซ้ำเติมอีก หลายคนจึงทำได้เพียงนั่งปรับทุกข์กันริมฝั่งแม่น้ำโขง รอคอยวันที่แม่น้ำโขงจะฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งเท่านั้น

นายทอง ผาจร อายุ 46 ปี หัวหน้ากรรมกรท่าเรือเชียงแสน กล่าวว่า ตอนนี้ลำบากมาก เพราะเดิมมีอาชีพรับจ้างขนสินค้าขึ้น-ลงจากเรือบรรทุกลงไปในเรือแม่น้ำโขง แต่เมื่อแม่น้ำโขงแห้งจนเรือสินค้าหรือรถบรรทุกหายไปหมด ทำให้พวกเราต้องตกงานรวมกันไม่น้อยกว่า 300 คน จึงพากันจับกลุ่มคุยปรับทุกข์กันไปพลางก่อนและรอคอยวันที่แม่น้ำโขงจะเจิ่งนองเหมือนเดิม

เขาบอกว่า วันนี้พวกเราหลายคนจากจำนวนกว่า 300 คน จะกลับไปทำไร่ไถนาก็ไม่ได้อีกแล้ว เพราะบางคนสูญเสียไร่นาจากหนี้สินและบางคนที่นาก็ไม่เหมาะกับฤดูแล้ง ครั้นจะกลับไปหาปลาในแม่น้ำโขงเพื่อเลี้ยงชีพ ก็ปรากฏว่าแม่น้ำโขงขึ้นลงอย่างไม่เป็นธรรมชาติจนจับปลาได้ยากมาก ดังนั้นแม้พวกเราจะเป็นกลุ่มคนเล็กๆ แต่ก็เป็นคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ต้องเลี้ยงดูลูกเมียเหมือนกัน จึงหวังว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยเหลือ เพราะไม่รู้จะหันหน้าไปขอความช่วยเหลือจากใครอีกแล้ว

“จึงอยากจะเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ช่วยประสานกับประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน พม่า สปป.ลาว ให้ช่วยแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงแห้ง อันเกิดจากการปิดเขื่อนในประเทศจีนด้วย เพราะผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้างรวมไปถึงปากท้องของชาวบ้านด้วย”

นายมิติ ยาประสิทธิ์ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน กล่าวว่า การเกิดท่าเรือและแหล่งที่มีกรรมกรมักจะเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นทุกครั้งเมื่อมีผลกระทบจากปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง มันเสมือนเป็นปัญหาทับซ้อนที่ซ้อนกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนหาเงื่อนงำได้ยาก แต่หลักใหญ่อยู่ชั้นบนสุดของปัญหาและทำให้เกิดการกระจายของปัญหาต่างๆ ที่ทับซ้อนกันลงมาก็คือการพัฒนาของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอย่างไม่เห็นแก่ความเปลี่ยนแปลง ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนผู้อยู่ลุ่มแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นการตกลงกันสร้างท่าเรือ เพื่อรองรับการค้า จากนั้นก็ระเบิดเกาะแก่งจนเกิดปัญหาน้ำไหลเร็ว กัดเซาะตลิ่ง เกิดปัญหาหาดทรายไปทั่วบริเวณ จากนั้นก็มีการสร้างเขื่อน เมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งก็กักน้ำในเขื่อนจนส่งผลกระทบต่อคนใต้น้ำเป็นทอดๆ

นายมิติ กล่าวอีกว่า สำหรับเขื่อนในจีนตอนใต้คือเขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนม่านวาน เขื่อนเชียววาน และเขื่อนจิ่งหง นั้นทราบว่ามีอยู่เพียงเขื่อนเดียวเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร ที่เหลือใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องกักน้ำเอาไว้ในเขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนอุตสาหกรรมและบ้านเรือนในจีนตอนใต้ ดังนั้น พวกเขาจะอ้างว่ากักน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งไม่ได้

“พวกเราสงสัยว่าการที่พวกเขาไม่ยอมระบายน้ำออกมาให้เต็มที่แต่กลับกักน้ำเอาไว้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะมีข้อสัญญากับภาคเอกชนในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ตรงเป้าที่กำหนดเท่านั้นด้วย”

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับ อ.เชียงแสน เป็นจุดส่งออกสินค้าทางเรือผ่านแม่น้ำโขงที่สำคัญของประเทศไทย โดยปี 2552 ที่ผ่านมามีการส่งออกสินค้าไปกว่า 5,085.08 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันปาล์ม รถยนต์ปรับสภาพ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ลำไยอบแห้ง ฯลฯ นำเข้า มูลค่า 1,230.37 ล้านบาท โดยเป็นผักสด ทับทิมสด แอปเปิลสด สาลี่สด ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น