xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสปริศนา สุรพล 8 เปอร์เซ็นต์!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

“รายการคนในข่าว” ที่ได้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ในวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2553 กรณีของความพยายามในการให้สัญญาร่วมดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 ระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ต่อไปอีก 10 ปี (26 มีนาคม 2553 – 27 มีนาคม 2553) ทำให้เราได้เข้าใจและรู้จักตัวตนของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการ อสมท มากขึ้น

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจที่ทำให้รู้จักความเป็น ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ มากขึ้น ก็คือ สัญญาข้อ 7 ซึ่งเป็นการแก้ไขครั้งที่ 3 ของสัญญาร่วมดำเนินการระหว่าง อสมท กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 นั้น มีข้อความว่า:

----------------------------------------------------------
ข้อ 7 เมื่อ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ดำเนินการออกอากาศส่วนกลางและส่วนภูมิภาคครบกำหนด เวลาในข้อ 5, 6 โดย “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ไม่ผิดสัญญาแล้ว อสมท ตกลงให้ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ร่วมดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่อไปอีกมีกำหนด 10 ปี ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญานี้ โดยมีค่าตอบแทนรวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2,002,610,000 บาท โดยแบ่งจ่ายให้เป็นรายปีตามหลักเกณฑ์ซึ่งปรากฏรายละเอียดและเงื่อนไขตามเอกสาร ผนวกหมายเลข 4 แนบท้ายสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ลงวันที่ 2 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2532 และคู่สัญญาได้ลงลายมือชื่อไว้และถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้ด้วย นอกจากนั้นจะต้องปรับปรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การออกอากาศได้กระทำอย่างต่อเนื่องและใช้การได้ดีเสมอ ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท (ห้าสิบล้านบาทถ้วน) โดย “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” จะต้องเสนอโครงการปรับปรุงให้ อสมท เห็นชอบเสียก่อน

“บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ยินยอมให้ อสมท สงวนสิทธิที่จะปรับปรุงค่าตอบแทนที่กำหนดไว้เป็นรายปีดังกล่าวในวรรคแรกเสียใหม่ได้ เฉพาะกรณีอัตราเพิ่มของดัชนีค่าครองชีพ (เงินเฟ้อ) สูงเกินกว่าร้อยละ 10 ให้คิดอัตราสูงสุดเป็นร้อยละ 10 ส่วนในปีถัดไปให้ใช้ค่าตอบแทนที่คำนวณได้ใหม่เป็นฐานแล้วคิดตามหลักเกณฑ์ในอัตราเพิ่มร้อยละ 5 ต่อปี
-----------------------------------------------------------

11 มีนาคม 2553 ศ.ดร.สุรพล ได้อ้างในรายการคนในข่าวเอาไว้ในทำนองว่าด้วยสัญญาข้อนี้ อสมท จึงมีความจำเป็นต้องให้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 ไปอีก 10 ปี หากไม่มีการทำผิดสัญญา จึงถือเป็นความต่อเนื่องของสัญญาเดิม “ไม่ใช่การต่อสัญญา”

น่าสังเกตว่า คำพูดที่กล่าวอ้างนั้นดูเหมือนจะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับข้อความในหนังสือของ อสมท เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2552 ซึ่ง อสมท ได้ทำไปถึงหน่วยงานราชการหลายแห่งเพื่อเชิญเข้ามาเป็นคณะกรรมการดำเนินโครงการตามมาตรา 13 พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า:

“สัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 มีนาคม 2553 และบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้มีหนังสือถึง บมจ. อสมท ขอต่ออายุ สัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีออกไปอีกมีกำหนด 10 ปี” และ

“อสมท ในการประชุมครั้งที่ 8/2552 วันที่ 28 พฤษภาคม 2552 พิจารณาแล้วเห็นว่า การต่ออายุสัญญา ดังกล่าว เป็นโครงการที่เป็นการลงทุนในกิจการของรัฐ และการลงทุนนั้นมีวงเงินเกินหนึ่งพันล้านบาท จึงเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และต้องแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว”

จากหนังสือดังกล่าวย่อมแสดงว่าในเวลานั้นทั้ง บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ และ อสมท ต่างเห็นพ้องต้องกันว่ากรณีนี้คือการ “ต่อสัญญา” แต่ความเห็นทางกฎหมายของ อสมท กลับเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทั้งๆ ที่มีประธาน อสมท เป็นนักกฎหมายคนเดียวกันที่ชื่อ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุรพล ยังได้อ้างในวรรคสองของสัญญาข้อ 7 นี้ว่า การเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสมท สูงกว่า 2,002 ล้านบาท หากจะให้บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ดำเนินการไปอีก 10 ปีนั้น จะทำได้เพียงแค่อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 5% ต่อปีแต่ไม่เกิน 10% ปี จึงไม่มีทางเพิ่มค่าตอบแทนให้กับ อสมท ได้มากไปกว่านี้

แต่เรื่องนี้หาก ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งได้ยอมรับว่ามีความอยุติธรรมในสัญญานี้จริง แต่เหตุใดกลับไม่สนใจข้อสังเกตอันสำคัญว่า...

สัญญาในข้อดังกล่าวนั้นไม่ตรงกับข้อความที่ได้ผ่านความเห็นชอบโดยมติคณะรัฐมนตรี!!!

มติคณะรัฐมนตรีในครั้งนั้น ได้ระบุว่าการจะต่อสัญญาในข้อ 7 นั้น บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จะต้องแจ้งความประสงค์พร้อมด้วยข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรมายัง อสมท ก่อนครบกำหนดดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2 ปี แล้วยังระบุให้ค่าตอบแทนที่ให้กับ อสมท นั้น รวมกันไม่น้อยกว่า 2,002,610,000 บาท โดยไม่เคยนำเรื่องอัตราเงินเฟ้อมาเกี่ยวข้องแต่ประการใด แต่การลงนามสัญญากลับมีการตัดข้อความและเพิ่มข้อความในข้อ 7 โดยไม่ตรงกับข้อความที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

ถ้าจะยึดตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก แปลว่าบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ไม่สามารถต่อสัญญาได้แล้ว เพราะไม่ได้ขอต่อสัญญามาล่วงหน้า 2 ปี และหากจะเรียกค่าตอบแทนก็สามารถเจรจาค่าตอบแทนได้ “ไม่น้อยกว่า” 2,002 ล้านบาท โดยไม่ได้มีขอบเพดานจำกัด

เมื่อสัญญาที่ลงนามกันทำเกินขอบเขตของมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นสัญญาที่ทำให้ อสมท เสียประโยชน์อันเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อพระราชกฤษฎีกาในการจัดตั้ง อสมท การแก้ไขสัญญาที่อยุติธรรมกับ อสมท ฉบับนี้จึงย่อมต้องถือว่าเป็นโมฆะไปแล้วใช่หรือไม่?

และที่ยังต้องตั้งข้อสังเกตไปมากกว่านั้นก็คือ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะกรรมการต่างได้เคยมีมติให้ออกหนังสือแจ้งการกระทำผิดสัญญาของ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ถึง 2 ครั้ง และ ศ.ดร.สุรพล ได้ลงลายมือด้วยตัวเองว่าให้ฝ่ายกฎหมายร่างยกเลิกสัญญากับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ อันเนื่องมาจากมีการกระทำผิดสัญญาเพราะให้ผู้อื่นประกอบการแทน เมื่อเดือนกันยายน 2552

แต่ในรายการคนในข่าว นอกจาก ศ.ดร.สุรพลจะไม่ยืนยันการทำผิดสัญญาตามหนังสือซึ่งเขียนด้วยลายมือของ ศ.ดร.สุรพล ว่ามีการทำผิดสัญญาจริงแล้ว ยังนำเหตุผลแก้ต่างทั้งหลายตามหนังสือของ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่งทาง อสมท เคยทำหนังสือโต้แย้งไปทั้งหมดแล้ว กลับมาอธิบายแทน บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ อีกอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

ตัวอย่างกรณีการให้ผู้อื่นประกอบการแทนนั้นถือว่าเป็นการกระทำผิดตามสัญญาข้อ 8.5 ความว่า:

---------------------------------------------------------
ข้อ 8.5 ในการดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์สีตามสัญญานี้ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” จะต้องดำเนินการเองในนาม อสมท และ จะให้บุคคลอื่นใดเช่าหรือรับไปดำเนินการแทนมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก อสมท ก่อน
---------------------------------------------------------

ปัญหาประเด็นนี้จึงไม่ได้เกี่ยวว่ามีคนอื่นเช่ารายการบางส่วนนั้นจะผิดสัญญาหรือไม่ ตามที่ ศ.ดร.สุรพล พยามหยิบยกเหตุผลนี้มา “กลับลำ” เพื่อช่วย บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา การให้ผู้ประกอบการรายอื่นเช่าช่วงเวลาทางสถานีไทยทีวีช่อง 3 นั้น บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ นั้น เคยได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก อสมท ก่อนหรือไม่?

หากไม่มีการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนย่อมถือว่า “ผิดสัญญา” และไม่สามารถต่อสัญญาต่อไปอีก 10 ปี ตามสัญญาในข้อ 7
ยังไม่ต้องพูดถึงการโอนถ่ายทรัพย์สินให้กับบริษัทแม่ และบริษัทลูก ที่ ศ.ดร.สุรพล เถียงว่า อสมท ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ และไม่ได้โอนทรัพย์สินให้ อสมท “ในวันที่มีการจัดหา” ทรัพย์สินเหล่านั้น ซึ่งก็ต้องถือว่าผิดสัญญาอีกเช่นกัน

สุดท้ายคงต้องพูดถึง ผลตอบแทนที่ อสมท ไปเจรจากับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ให้จ่ายเงินเป็นจำนวน 405 ล้านบาท ซึ่ง ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ เรียกว่าเป็น “เงินกินเปล่า”

“405 ล้านบาท” ที่เรียกว่าเป็นเงินกินเปล่านั้น ฐานคำนวณผลตอบแทนที่จะให้กับ อสมท จากการคิดมูลค่าจาก 6.5% ของรายได้ในอนาคตของ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่งเป็นการประเมินรายได้ในอนาคต “ต่ำผิดปกติ” กว่าสถิติผลประกอบการในอดีตชนิดที่ไม่มีที่ปรึกษาทางการเงินที่ไหนจะคำนวณอัปลักษณ์แบบนี้ได้ โดยเฉพาะข้อมูลในการคำนวณตามงบที่ปี 2552 ที่ต่ำลงกว่าปี 2551 ถึง 24%

อสมท คิดคำนวณรายได้ของ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ในอนาคตตลอดอีก 10 ปีข้างหน้ารวมกันอยู่เพียงแค่ 41,000 ล้านบาท

ในขณะที่กรรมาธิการการสื่อการและกิจการโทรคมนาคมของสภาผู้แทนราษฎรได้ประเมินรายได้แบบอนุรักษนิยมพบว่า บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์จะมีรายได้รวมกัน 10 ปี เป็นจำนวน 96,583 ล้านบาท ห่างกันถึง 2.36 เท่าตัว

รายได้ 10 ปีรวมกันของ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่ง อสมท คาดการณ์ได้แค่ 41,000 ล้านบาท เมื่อนำสูตรคำนวณ 6.5% ที่จะเป็นผลตอบแทนให้กับ อสมท ก็จะคิดเป็นจำนวนรวมกัน 2,665 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 10 ปี

แต่ อสมท ก็ยังหาวิธีในการได้เงินสดตลอด 10 ปีในครั้งเดียว จึงได้คำนวณเหมือนขายผลตอบแทนให้กับ อสมท ล่วงหน้าในคราวเดียวกัน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับการขายผลตอบแทนในอัตรา 6.5% ต่อปี จึงเหลือเงินเพียง 405 ล้านบาท

เงิน 405 ล้านบาท ทำให้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ได้ต่อสัญญาออกไปอีก 10 ปี โดยที่ อสมท เลิกพูดเรื่องสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สนใจว่าสัญญาฉบับนี้ขัดกับมติคณะรัฐมนตรี และเลิกพูดเรื่องการเปิดประมูลใหม่ ใช่หรือไม่?

และเงิน 405 ล้านบาท ทำให้ อสมท เลิกพูดการกระทำผิดสัญญาทั้งปวงของ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ใช่หรือไม่?

เงิน 405 ล้านบาทที่จ่ายครั้งเดียวในปีนี้ จึงไม่น่าจะเรียกว่าเป็นเงินกินเปล่า แต่น่าจะเรียกว่าเป็น “เงินปิดปาก” มากกว่า

เงินจำนวน 405 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งจ่ายครั้งเดียวในปีนี้ บังเอิญมีกระแสข่าวลือหนาหูมาว่าคณะกรรมการ อสมท กำลังพิจารณาเพิ่มผลตอบแทนหรือโบนัสให้กับ กรรมการ อสมท กันเอง จาก 1% ของกำไรสุทธิของ อสมท มาเป็น 8% กำไรสุทธิของ อสมท จริงหรือไม่?


ถ้าเป็นความจริง ก็แปลว่าผลตอบแทนกรรมการ อสมท ปีนี้ หากยึดจากฐานกำไรสุทธิปีที่แล้วที่มีอยู่ถึง 1,393 ล้านบาท แล้วมารวมกับ “เงินปิดปาก” ที่จ่ายคราวเดียวในปีนี้อีก 405 ล้านบาท ก็จะทำให้ อสมท มีตัวเลขกำไรสุทธิในปีนี้รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 1,798 ล้านบาท

และถ้ามีการแบ่งผลตอบแทนหรือโบนัสให้ กรรมการ อสมท 8% ของกำไรสุทธิแล้ว เมื่อมีกรรมการ อสมท มีอยู่ 14 คน ก็แปลว่าจะได้ผลตอบแทนหรือโบนัสกันเฉลี่ยคนละ 10.27 ล้านบาทต่อคน ในคราวเดียวปีนี้จริงหรือไม่?

อยากได้ยินจากปากของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ออกมายืนยัน นั่งยัน นอนยันว่ากระแสข่าว “เงินบนโต๊ะ” ดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องจริง!!!

กำลังโหลดความคิดเห็น