xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ผมเขียนถึงการเมืองไทยในสิ้นปีหน้า ซึ่งที่จริงก็คือการเมืองไทยเมื่อสิ้นปีก่อน เพราะข้อเขียนนี้นำมาจากปาฐกถาที่แสดงไว้เมื่อสิ้นปีที่แล้ว เหตุที่ย้อนกลับไปก็เพราะต้องการปูพื้นฐานเพื่อจะฉายภาพการเมืองไทยในอนาคต คือสิ้นปีต่อจากนี้ไป

ณ จุดนี้ การเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปในจุดที่เสื่อมลง และมีลักษณะเด่นดังนี้

1.การเมืองเป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่มีการแสวงหากำไรจากการใช้อำนาจกำหนดนโยบาย จัดทำโครงการ และใช้งบประมาณเพื่อเอื้อประโยชน์ของตนเอง และพรรคพวก
2.ตลาดการเมืองเป็นการซื้อขายตัวนักการเมือง และผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
3.การคอร์รัปชันมีอยู่อย่างกว้างขวาง และขยายวงไปถึงการซื้อขายตำแหน่งทางราชการ
4.ประชาชนมีความตื่นตัว และได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น
5.สื่อมวลชนมีบทบาทในการตรวจสอบนักการเมือง
6.ศาลมีบทบาทมากขึ้นในการตรวจสอบ ควบคุมนักการเมือง
7.มีการแบ่งฝ่ายในหมู่ประชาชนอย่างชัดเจน
8.มีการใช้การเคลื่อนไหวภายนอกสภา และมีการใช้ความรุนแรง
9.มีข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำรัฐประหาร และคณะทหารมีบทบาทน้อยลง และลังเลที่จะเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง
10.มีมิติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ

ลักษณะการเมืองเช่นนี้ก่อให้เกิดภาวะวิกฤตและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง แต่การที่สังคมยังไม่แตกแยกมากไปกว่านี้ก็เพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นแหล่งรวมความจงรักภักดี ดังนั้น แม้สถาบันทางการเมืองจะอ่อนแอ แต่ระบอบประชาธิปไตยก็ยังคงดำรงอยู่ได้ ความแข็งแกร่ง และเป็นที่ศรัทธายอมรับกันทั่วไปของสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ ทำให้ไม่มีการท้าทายความชอบธรรมของสถาบันนี้โดยตรง แต่ก็มีข้อสังเกตว่า มีการท้าทายความชอบธรรมของสถาบันองคมนตรี ซึ่งมีความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ตัวแปรทางการเมืองไทยในอีกสิ้นปีข้างหน้ายังคงเป็นปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต่อสู้ในระยะยาวทั้งภายใน และภายนอกระบบ แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงมีทรัพยากรทางการเงิน และพรรคการเมืองที่สนับสนุนตนเองอยู่ แต่ก็มีข้อจำกัดทางด้านคดีความในศาลซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เว้นแต่จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยอาศัยเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา แต่ก็จะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านจากประชาชน โดยเฉพาะจากกลุ่มพันธมิตรฯ ดังนั้น ภาพในอนาคตจึงเป็นภาพของความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์อย่างไม่อาจลงรอยกันได้ และมีแนวโน้มของความรุนแรงมากกว่าการประนีประนอม และความสมานฉันท์

ภาพอนาคตทางการเมืองไทยจึงมีแนวโน้มหรือความเป็นไปได้หลายทางด้วยกัน คือ

1.พรรคการเมืองที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อ้างความไม่ชอบธรรมของการรัฐประหาร 2549 และออกกฎหมายนิรโทษกรรม แนวโน้มนี้จะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวประท้วงอย่างรุนแรงในระหว่างที่จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

2.การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้พรรคหนึ่งพรรคใดมีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด รัฐบาลยังคงเป็นรัฐบาลผสม หากฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณได้เป็นรัฐบาล ก็จะมีการดำเนินการทางคดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อไป ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณก็จะอาศัยการเคลื่อนไหวนอกสภา แนวโน้มนี้ก็คือสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

3.ในกรณีที่สอง หากการเคลื่อนไหวนอกสภามีความรุนแรงเกิดขึ้น และรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ คณะทหารก็จะเข้าแทรกแซงด้วยการยึดอำนาจ

4.ในกรณีที่มีการยึดอำนาจ คณะทหารจะมีทางเลือก 2 ทาง คือ การอยู่ในอำนาจสั้นๆ แล้วให้มีการเลือกตั้งภายในหนึ่งปี หรืออยู่ยาว 3-5 ปี โดยทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำกัดบทบาทของพรรคการเมือง และนำระบอบกึ่งประชาธิปไตยมาใช้ โดยให้มีการร่วมกันใช้อำนาจระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำ

จะเห็นได้ว่าแนวโน้มทั้งสี่นี้ล้วนแล้วแต่มีปัญหาและอาจจนำไปสู่ความรุนแรงได้ทั้งสิ้น เพราะหากการทำรัฐประหารทำโดยคณะทหารฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะมีการต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรฯ หากทำโดยฝ่ายเป็นกลาง กลุ่มเสื้อแดงก็จะเคลื่อนไหวต่อต้าน

ดังนั้น ภาพอนาคตของการเมืองไทยจึงเป็นภาพที่ไม่ดีเลย แต่ตราบใดที่สังคมไทยยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ ความขัดแย้ง ความรุนแรงก็จะมีอยู่ในระยะสั้น

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกออกมาวิจารณ์ พล.อ.เปรม และมีผลกระทบต่อสถาบันองคมนตรีนั้น แสดงว่าฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณมีความเชื่อว่า “ระบบอำมาตย์” คือระบบที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีบารมีสูงทั้งทางสังคมและการเมืองนั้นเป็นอุปสรรคในการต่อสู้ของพวกเขา ดังนั้น การวิจารณ์และการบ่อนทำลายความเชื่อถือและความชอบธรรมของ “ระบบอำมาตย์” ก็จะมีต่อไป และมีการขยายขอบเขตมากขึ้น

การวิจารณ์โจมตี พล.อ.เปรมนั้นหวังผลในอนาคต คือต้องการทำลายความชอบธรรม เพื่อป้องกันมิให้ พล.อ.เปรมมีบทบาทในการเป็นที่อ้างอิง หรือการที่ทหารและตำรวจจะไปปรึกษาหารืออีกหากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม คณะทหารในปัจจุบันขาดภาวะการนำ และต้องการรักษาเฉพาะผลประโยชน์ของกองทัพ ดังจะเห็นได้จากการวางเฉยในกรณีที่มีการวิจารณ์ พล.อ.เปรม แต่มีการแสดงออกทันทีเมื่อมีการท้วงติงเรื่องการตรวจสอบการทำงานของเครื่อง GT200

ดังนั้น คณะทหารในปัจจุบันจึงจะไม่เป็นฝ่ายดำเนินการแทรกแซงก่อนที่จะเกิดเหตุ แต่จะรอคอยจนเกิดเหตุลุกลามไปอย่างมากเสียก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดความรุนแรงและความเสียหายมากขึ้น

ปัญหาต่อไปมีอยู่ว่า แล้วจะหลีกเลี่ยงแนวโน้มดังกล่าวได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าจะตัดสินใจยุติบทบาท หรือเกิดตายไปเอง จึงจะหมดปัญหา แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็มักจะพูดเสมอว่า “เวลาอยู่ข้างผม” แสดงว่าการต่อสู้ของเขาจะยืดเยื้อยาวนาน การกล่าวเช่นนี้ ในใจเขามีอะไรเป็นสิ่งที่เทียบเคียง จะมีความหมายว่าอายุของเขายังน้อยกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็น “ผู้มีบารมี” ใช่หรือไม่ และหาก “ผู้มีบารมี” หมดไปเพราะอายุขัยแล้วเขาก็จะไม่มีอุปสรรคในการกลับเข้ามามีอำนาจ และปกครองด้วยระบอบที่ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาด ใช่หรือไม่

เมื่อเราหวังพึ่งคณะทหารไม่ได้ ประชาชนทั่วไปก็จะต้องหาความรู้และข้อมูลทางการเมืองมาศึกษา พิจารณามากขึ้นว่าอะไรเป็นความถูกต้อง จะร่วมกันลดและแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมการเมืองได้อย่างไร ซึ่งปัญหาหลักก็คือ ปัญหาทักษิณกับรัฐ บทพิสูจน์ของคนไทย ก็คือ อำนาจเงินจะเอาชนะความถูกต้องได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น