xs
xsm
sm
md
lg

ภาพหลุดออกมาที่ช่อง 3...กับเรื่อง “ไม่ให้เช่า” เช้านี้ของสรยุทธ !

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ปรากฏเป็นข่าวบันเทิงว่า นายประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารของไทยทีวีสีช่อง 3 ได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ มีการจับฉลากรางวัลใหญ่ เป็นกระเป๋าแอร์เมส เบอร์กิ้นใบละ 4 แสนบาท และนาฬิกาโรเล็กซ์เรือนละ 2 แสนบาท ซื้อรถเบนซ์ป้ายแดงให้นายกิตติ สิงหาปัด 10 ล้านบาทเป็นของขวัญ และซื้อรถบีเอ็มดับบลิว ซีรีย์ 7 ป้ายแดงรับขวัญปีใหม่ให้นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ตามมาด้วยงานแต่งงานของบุตรชายของนายประวิทย์ มาลีนนท์ ที่มีสินสอดนับ 100 ล้านบาท ยังไม่นับงานแต่งที่สุดหรูอลังการที่ยากจะหาใครเทียบได้ในประเทศ

ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธกันไม่ได้ความมั่งคั่งและความสำเร็จในทางธุรกิจของไทยทีวีสีช่อง 3 ส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งก็คือความสำเร็จในการ “แก้ไขสัญญา” ร่วมดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 ระหว่างองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ครั้งที่ 3 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ซึ่งลงนามโดย นายราชันย์ ฮูเซ็น โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

ผลจากการแก้ไขสัญญาครั้งนั้น ทำให้ผลตอบแทนจากเดิมที่ต้องจ่ายให้ อสมท ร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายถูกตัดออกไปจากสัญญา
คงเหลือแต่เพียงการจ่ายแบบตายตัวตลอด 20 ปีที่ผ่านมา รวมกันเพียงแค่ 1,205 ล้านบาท (หรือเฉลี่ยปีละ 60.25 ล้านบาทเท่านั้น )

คณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันได้ประเมินมูลค่าออกมาพบว่า ผลจากการตัดผลตอบแทน 6.5% ของรายได้หักค่าใช้จ่ายของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เป็นผลทำให้ อสมท มีรายได้หายไปมูลค่าใน 20 ปีที่ผ่านมามากกว่า 5,200 ล้านบาท

ลองคิดเอาเองว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ รถเบนซ์ รถบีเอ็มดับบลิว กระเป๋าแอร์เมส เบอร์กิ้น และนาฬิกาโรเล็กซ์ ที่แจกกันช่วงปีใหม่อย่างเอิกเกริกนั้น แท้ที่จริงแล้วมันเป็นเงินของใคร?

ทุกวันนี้ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นทีวีที่ไม่ธรรมดาเพราะสนใจแต่ทำมาหากินอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่สนใจว่าอะไรถูกและอะไรผิด!!!

ไทยทีวีสีช่อง 3 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นวันพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ยึดทรัพย์นักโทษชายทักษิณ ที่จะช่วยนำความจริงให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริง ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นเพียงไม่กี่สถานีที่ไม่ถ่ายทอดเสียง และเดินหน้าฉายละคร เกมโชว์ ต่อไปอย่างไม่สนใจใคร

ไทยทีวีสีช่อง 3 วันนี้มี ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล (ปลื้ม) เป็นพิธีกรข่าว ซึ่งนอกจากจะมีผลงานเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์คนหนึ่งยืนข้างนักโทษชายทักษิณในสถานีโทรทัศน์คนเสื้อแดงแล้ว ยังเป็นผู้ดำเนินรายการวอยซ์ทีวีของครอบครัวชินวัตรอีกด้วย

ไทยทีวีสีช่อง 3 วันนี้ยังมี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้จัดรายการเล่าข่าว ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ในนามบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีกำไรปีละประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งที่มีประวัติ เคยถูก อสมท แจ้งความแพ่งและอาญากับ สน.ห้วยขวาง ในข้อหาฉ้อโกง อสมท จำนวน 138 ล้านบาท เมื่อเดือนธันวาคม 2550

กรณีหลังสุดดูแล้วก็แปลกดี เมื่อคนที่ อสมท แจ้งความว่าฉ้อโกง อสมท กลับได้มาทำธุรกิจในสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาร่วมดำเนินการกับ อสมท เสียเอง

สัญญาร่วมดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ระหว่าง อสมท กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด กำลังจะหมดลงในวันที่ 25 มีนาคม 2553 นี้ โดยในสัญญาซึ่งได้มีการแก้ไขกันมามีเงื่อนไขว่า:

“หาก บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ปฏิบัติตามเงื่อนไขและ ไม่มีการกระทำผิดสัญญา อสมท ตกลงให้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ร่วมดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปอีก 10 ปี (พ.ศ. 2553 – 2563) และกำหนดเงื่อนไขให้จ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท ไม่น้อยกว่า 2,002.61 ล้านบาท” (เฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท)

สัญญาข้อนี้แปลได้ชัดเจนว่าถ้ามีการกระทำผิดสัญญาเกิดขึ้นแล้ว ต่อให้ดำเนินการแก้ไขในภายหลังก็ไม่สามารถให้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ต่อสัญญาสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ออกไปอีก 10 ปีได้

แต่ถ้าต่อสัญญาภายใต้เงื่อนไขนี้ จะเอื้อประโยชน์ให้กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ อย่างมหาศาล เพราะขนาดทรูวิชั่นซึ่งเป็นคู่สัญญากับ อสมท ในการทำสถานีโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกมีผู้ชมน้อยกว่า มีรายได้โฆษณาน้อยกว่า ยังต้องจ่ายให้ กับ อสมท ปีละ 650 ล้านบาท สูงกว่าที่จะต่อสัญญาให้กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เกือบ 3 เท่าตัว!!!

ส่วน อสมท ได้เคยแสดงออกอย่างชัดเจนว่า บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ทำผิดสัญญาข้อ 8.5 ซึ่งมีข้อความว่า:

“บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จะต้องดำเนินการเองในนาม อสมท และจะให้บุคคลอื่นใดเช่าหรือรับไปดำเนินการแทนมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก อสมท ก่อน”

สัญญาข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงทำให้ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ อสมท ได้เกษียรหนังสือด้วยลายมือตัวเองในหนังสือที่ส่งมาจาก บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 ข้อความตอนหนึ่งว่า:

“ให้ฝ่ายกฎหมายยกร่างหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง เนื่องจาก บ.เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ฝ่าฝืนข้อสัญญาโดยให้ผู้อื่นเป็นผู้ประกอบการแทน เสนอให้คณะ กก.อสมท พิจารณาให้ความเห็นชอบ”

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ อสมท ในเวลานั้นเชื่อว่า บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการเอง เพราะมีอีกบริษัทหนึ่งชื่อ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) เป็นของคนในครอบครัว “มาลีนนท์” ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญากับ อสมท แต่มาเป็นผู้ถือหุ้นของ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ถึงร้อยละ 99.99

บมจ. บีอีซีเวิลด์ เมื่อไม่ใช่คู่สัญญากับ อสมท แต่กลับไปอวดอ้างและชี้แจงต่อสาธารณะและผู้ถือหุ้นว่าตัวเองนั้นเป็นผู้ดำเนินการกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารหลายชิ้นด้วยกัน ตัวอย่างเช่น

หนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ให้กับประชาชนและผู้ลงทุนทั่วไป เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2539 ระบุอย่างชัดเจนความตอนหนึ่งว่า

“บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักในการจัดหาภาพยนตร์ ผลิตรายการและขายเวลาโฆษณาทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3”

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ยังได้ตั้งบริษัทลูกอีกมากเพื่อซื้อทรัพย์สินและให้บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เป็นผู้เช่าทรัพย์สินเหล่านั้น เพื่อเป็นการเลี่ยงจะไม่โอนทรัพย์สินที่ได้มาเหล่านั้นให้ อสมท ตามสัญญา เพื่อให้ทรัพย์สินที่ลงทุนยังคงอยู่ในมือตระกูล “มาลีนนท์” ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดสัญญาเพราะไม่ได้ดำเนินการเอง โดยมีข้อสงสัยว่า มีการให้เช่าเวลากับบริษัทอื่นด้วยแต่ใช้การจ้างผลิตบังหน้าหลายรายการ ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ในการผ่องถ่ายเงินจ่ายออกจาก บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ให้กับบริษัทลูกอื่นๆ ของ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) อีกชั้นหนึ่งหรือไม่?

ถ้าหากมีเทคนิคการผันเงินจ่ายออกจาก บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ นอกจากจะได้ประโยชน์ทางภาษีแล้ว ถ้าหากคณะกรรมการ อสมท แกล้งตามืดบอดก็อาจจะนำการคำนวณบนพื้นฐานที่ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่งมีกำไรน้อยกว่าปกติมาใช้อ้างอิงในการต่อสัญญาด้วยการจ่ายผลตอบแทนที่ต่ำกว่าปกติให้กับ อสมท ในอนาคตก็ย่อมได้

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” และ “เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งดำเนินรายการโดย นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้ระบุข้อความในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ว่าผลิตโดย บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งทั้งคู่ก็ไม่ใช่คู่สัญญากับ อสมท อยู่ดี

นอกจากนี้ยังปรากฏเป็นเอกสารทำให้เชื่อได้ว่า บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ได้ออกใบแจ้งหนี้ให้กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ แล้วระบุในรายการแจ้งหนี้เลขที่ 17420480 และระบุรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ประจำเดือนมกราคม 2553 ว่าเป็น “ค่าใช้สิทธิ์” ซึ่งเสมือนเป็นการที่จะบ่งบอกว่า บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จ้าง บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ผลิตรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้”

แต่ภาพที่หลุดออกมาดังตัวอย่างรายการ “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” ว่าให้ติดต่อโฆษณาที่หมายเลขโทรศัพท์ 081-713-4334 ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ แต่เป็นการติดต่อโฆษณากับ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งได้ตรวจสอบยืนยันอีกครั้งเมื่อโทรศัพท์ติดต่อรายการ “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” นั้นต้องให้ไปติดต่อที่ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด
ภาพแสดงการขึ้นหมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อโฆษณาของ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด
ซึ่งอาจทำให้เชื่อได้ว่ากรณีนี้อาจไม่ใช่การจ้างผลิต แต่ลักษณะที่มีบริษัทอื่น ซึ่งไม่ใช่ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เป็นผู้ผลิตและรับค่าโฆษณาเองใช่หรือไม่ เมื่อรับค่าโฆษณาแล้วจึงมาจัดสรรผลประโยชน์แบ่งปันผลประโยชน์แลกกันระหว่าง ไร่ส้ม กับ บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ระหว่างรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” กับ “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” ใช่หรือไม่?

คำถามมีอยู่ว่า กรณีดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นนิติกรรมอำพรางในการให้เช่าเวลากับบริษัทอื่น โดยที่ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเองตามสัญญา ใช่หรือไม่?

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติคำว่า “เช่าทรัพย์สิน” หมายถึง ชื่อสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

อาจด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
ประธานกรรมการ อสมท ซึ่งมีคุณวุฒิเป็นถึงอธิการบดี และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านขาดจึงยกเหตุผลนี้ในการเขียนหนังสือด้วยลายมือยกเลิกสัญญากับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เมื่อเดือนกันยายน 2552 ใช่หรือไม่?

ถ้าเช่นนั้น ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ควรต้องตอบคำถามให้เกิดความสง่างาม ว่าการ “กลับลำ” ที่จะพยายามต่อสัญญาช่อง 3 ไปอีก 10 ปีนั้น มันมีแรงจูงใจด้วยสิ่งใด...วานบอก!?





กำลังโหลดความคิดเห็น